xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์สอบเหตุพระธาตุสามหุนถล่ม ชี้ไม่ขออนุญาต ทั้งแบบสร้างไร้มาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบหาสาเหตุพระธาตุสามหุนถล่ม พบขออนุญาตก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีวิศวกรคุมงานรับรองความปลอดภัย ทำให้เสาหัก โครงสร้างพังถล่มลงมา พร้อมสั่งตรวจสอบก่อสร้างทุกวัดทั้ง 18 อำเภอ
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้อง รุดสอบหาสาเหตุพระธาตุสามหุนพังถล่ม
ความคืบหน้าเหตุการณ์พระธาตุสามหุนภายในวัดป่ากุดหว้า ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างต่อเติม เกิดทรุดตัวและถล่มลงมาทำให้คนงานก่อสร้างเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 4 ราย ชาวบ้านเชื่อว่าสาเหตุที่พังถล่มนั้นน่าจะทำผิดผี เนื่องจากก่อนเกิดเหตุมีควันพุ่งขึ้นมาบนพระธาตุ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าอาจสร้างผิดแบบและไม่มีวิศวกรรับรองความปลอดภัย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดวันนี้ (5 มิ.ย. 61) เมื่อเวลา 11.30 น. นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์, นายธนูสินธุ์ ไชยสิริ ปลัด จ.กาฬสินธุ์, นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ นายอำเภอกุฉินารายณ์, นายวิชาญ แท่นหิน หน.สนง.ปภ.กาฬสินธุ์, นายโสภณ เจริญพร หน.สนง.ปภ.สาขากุฉินารายณ์, นายวีระชัย แก้วหาวงษ์ โยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำท้องถิ่น ลงพื้นที่ตรวจสอบการต่อเติมอาคารและหลังคาครอบองค์พระธาตุสามหุน ภายในวัดป่ากุดหว้า ท่ามกลางชาวบ้านที่ทราบข่าวทยอยเดินทางมาดูซากปรักหักพัง โดยเฉพาะยอดพระธาตุที่ถูกผนังปูนหล่นทับจนหัก ซึ่งชาวบ้านรู้สึกเศร้าสลดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากพระธาตุสามหุนเป็นพระธาตุเก่าแก่อายุมากกว่า 100 ปี ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจที่ชาวบ้านเคารพกราบไหว้บูชามาช้านาน และหลายคนยังชื่อว่าการก่อสร้างเป็นการทำผิดผี มีผู้ทำสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นจึงทำให้พระธาตุพังถล่มลงมา

จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า การก่อสร้างครั้งนี้เป็นการต่อเติมปฏิสังขรณ์ โดยสร้างอาคารด้านข้างเป็นผนังปูนรูปทรงสามเหลี่ยมรอบพระธาตุ และก่อสร้างหลังคาครอบยอดองค์พระธาตุทรงระฆังคว่ำ ซึ่งเริ่มก่อสร้างปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่ปี 2557 จ้างผู้รับเหมาจาก จ.สุรินทร์ และคนงานจาก จ.นครราชสีมา แต่เป็นการก่อสร้างเป็นช่วงๆ คือหากมีเงินก็จะจ้างผู้รับเหมามาดำเนินการสร้างต่อ

โดยลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบทำครอบขึ้นให้สูงถึง 39 เมตร แต่มาถึงระดับความสูงที่ 29 เมตร มีเสาค้ำยันกว่า 20 ต้น ก่ออิฐรอบจนเกิดการพังถล่มมา คาดว่าเสาที่ใช้ค้ำยันนั้นมีขนาดเล็กไม่สามารถรับน้ำหนักผนังปูน รวมทั้งตัวโครงสร้างอาคารได้

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะเสาใช้ค้ำยันรับน้ำหนักนั้นมีขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับโครงสร้าง ผนังปูนรอบข้างมีการเสริมเหล็กและเชื่อมต่อเหล็กบริเวณจุดต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม ทำให้เสาที่ใช้รับน้ำหนักไม่สามารถรับน้ำหนักส่วนบนที่เป็นหลังคาได้ อีกทั้งน้ำหนักอาคารทั้งหมดไปอยู่ที่เสาตรงกลางต้นเดียว ทำให้เสาเกิดการแตกหัก ผนังปูนและโครงสร้างอาคารพังถล่มลงมาทับพระธาตุและคนงาน

นอกจากนี้ การก่อสร้างยังพบว่าทางวัดไม่ได้ขออนุญาตการก่อสร้างตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แบบแปลนที่ใช้ก่อสร้างไม่มีวิศวกรโยธาเซ็นรับรองแบบ และไม่มีรายการการคำนวณรับน้ำหนักโครงสร้าง ไม่มีวิศวกรโยธาหรือนายช่างโยธาเป็นผู้ควบคุมงาน อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งถอนตัวอาคารที่พังถล่มให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนองค์พระธาตุสามหุนที่พังและชำรุดจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซ่อมแซมบูรณะต่อไป

ทั้งนี้ยังได้สั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.กาฬสินธุ์ และอำเภอต่างๆ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งสำรวจวัดทุกแห่งทั่วจังหวัดว่ามีการก่อสร้างที่ใดบ้างเพื่อที่จะนำเจ้าหน้าที่วิศวกรของสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้าไปดูแลและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

ด้าน ร.ต.อ.โสภณ บัวคำโคตร ร้อยเวร สภ.กุฉินารายณ์ เจ้าของคดีกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน และสอบปากคำพยานแวดล้อม รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง ยังไม่แจ้งข้อหาต่อใคร เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายหลายคน หากสอบปากคำและรวมรวมพยานหลักฐานเสร็จน่าจะสามารถแจ้งข้อหาร่วมกันประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต่อผู้รับเหมาเป็นการเบื้องต้นก่อน ส่วนคณะกรรมการวัดและเจ้าอาวาส หรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องสอบสวนอีกครั้งว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถแจ้งข้อหาได้หรือไม่

ขณะที่นายปิ่น เงางาม อายุ 54 ปี ผู้รับเหมากล่าวว่า ตนรับงานก่อสร้างต่อเติมมาตั้งแต่ปี 2557 ครั้งที่ 2 ทำในปี 2558 และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ทำมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 คืบหน้ากว่า 80% แล้ว วันเกิดเหตุมีคนงาน 12 คน และเด็กเล็กลูกคนงานวิ่งเล่นบริเวณก่อสร้างอีก 2 คน ช่วงเช้าตนได้สั่งให้คนงานเก็บข้าวของทำความสะอาด เพื่อเตรียมส่งงานและเบิกเงินค่าแรง จากนั้นได้เดินไปหาคณะกรรมการวัด ไม่นานกลับมาก็เห็นสภาพพระธาตุถล่มลงมาแล้ว ตนและคนงานที่เหลือจึงช่วยกันรีบนำร่างผู้บาดเจ็บออกมา แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ตนรู้สึกเสียใจมาก คนที่บาดเจ็บและเสียชีวิตก็เป็นคนงานที่ตนรัก

ด้านนางนิลนวล ปัตตานา 66 ปี ชาวบ้านกุดหว้า กล่าวว่า ตนและชาวบ้านรู้สึกเสียใจและเสียดายอย่างมาก เพราะพระธาตุแห่งนี้ชาวบ้านเคารพกราบไหว้มาช้านานแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าคนงานก่อสร้างน่าจะทำอะไรบางอย่างที่ผิดผี โดยเฉพาะไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และไม่ปฏิบัติตามประเพณีธรรมของชาวผู้ไทย ประกอบกับเชื่อว่าองค์พระธาตุคงไม่อยากให้มีอะไรมาครอบและอยู่บนหัวจึงเกิดการพังทลายลงมา


กำลังโหลดความคิดเห็น