ศูนย์ข่าวศรีราชา - เทศบาลเมืองแสนสุขตั้งหอสังเกตการณ์ 8 จุดตลอดแนวชายหาดบางแสนดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว พร้อมนำระบบ Smart Technology เข้าใช้คู่กับอุปกรณ์ช่วยชีวิตในเบื้องต้น หลังพบตัวเลขเติบโตของนักท่องเที่ยวขยับจากหลักแสนเป็นเกือบ 2 ล้านคนในระยะเวลาเพียง 10 ปี ส่วนการจัดการปัญหาขยะจากทะเล เปลี่ยนจากการทำทุ่นดักขยะที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล สู่การใช้เครื่องมือหนักช่วยคนจัดเก็บแบบทันท่วงที
วันนี้ ( 29 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี เกี่ยวกับมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังชายหาดบางแสน ที่ขณะนี้พบว่าตัวเลข นักท่องเที่ยวขยับจากหลักแสนคน เป็นเกือบ 2 ล้านคนในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี ว่า เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ เทศบาลฯ มีนโยบายในการจัดตั้งหอสังเกตการณ์ตลอดแนวชายหาด จำนวน 8 จุด เพื่อให้เป็นหอเฝ้าระวังภัย ที่ในเบื้องต้นจะมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดเฉพาะช่วงวันหยุดและวันนักขัตฤกษ์ เนื่องจำนวนเจ้าหน้าที่ของเทศบาลฯ และบุคลากรด้านบรรเทาสาธารณภัยที่มีไม่เพียงพอ
โดยขณะนี้ศูนย์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น อาทิ อุปกรณ์สื่อสาร ,อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น, อุปกรณ์ปั๊มหัวใจ และอุปกรณ์ขยายเสียง และจะใช้เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย เทศบาลฯ อยู่ประจำทั้ง 8 จุดในช่วงวันหยุดต่างๆ ส่วนในอนาคตจะเร่งจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดตลอด 24 ชั่วโมง
“เนื่องจากว่า บางแสน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมากและยังมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ซึ่งแต่ละปีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากตัวนักท่องเที่ยวที่เมาสุราและลงเล่นน้ำ รวมทั้งเรื่องการประมาทเลิ่นเลอ แต่หากเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง รวมทั้งการจี้ ชิง ปล้น ไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว ตรงนี้ก็ถือว่าเราควบคุมได้ แต่เพื่อความไม่ประมาทก็จำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือสำหรับอุบัติเหตุทางน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับมูลนิธิ และหน่วยฉลามขาว ”
นายณรงค์ชัย เผยอีกว่าแม้ชายหาดบางแสน จะไม่ใช่ชายหาดแรกของประเทศไทยที่มีการจัดตั้งหอสังเกตการณ์ตลอดแนวชายหาด แต่ก็ถือเป็นที่แรกที่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือ Smart Technology เข้ามาใช้ และในขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพูดคุยร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เรื่องการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวที่จะบรรจุเข้าโครงการ Smart City ที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนมาก และในอนาคตจะผลักดันให้มีการปฏิบัติจริงเพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐานการท่องเที่ยวสากล
นอกจากนั้น เทศบาลเมืองแสนสุข ยังร่วมฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการในทะเลและแก้ไขอุบัติเหตุเฉพาะหน้าปีละ 2 ครั้ง ร่วมกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาและมูลนิธิต่างๆ รวมทั้งกรมเจ้าท่า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงมั่นใจว่าสามารถดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งทรัพยากรทางทะเลได้มากถึง 80%
จับมือร่วม ทช.แก้ไขปัญหาขยะจากกลางทะเลอย่างจริงจัง
ส่วนการจัดการปัญหาขยะที่พัดจากกลางทะเลเข้าชายหาดบางแสน แม้ที่ผ่านมาจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากลักษณะทางกายภาพของชายหาด ที่มีลักษณะเป็นอ่าว ซึ่งรับน้ำทะเลและขยะจากเกาะบริเวณอ่าวไทย ,ปากแม่น้ำบางปะกงและปากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งขยะจาก จ.สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ จนทำให้เทศบาลเมืองแสนสขุ เคยทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ในการจัดทำทุ่นดักขยะจากกลางทะเล แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะการจัดเก็บทำได้ยาก ที่สำคัญการจัดเก็บขยะจากกลางทะเล ต้องใช้เรือทุ่นที่ใช้งบประมาณสูง ประกอบกับทะเลบางแสน ในช่วงฤดูมรสุมตั้งแต่เดือน มี.ค.-ต.ค. จะมีคลื่นสูง ทำให้การเก็บขยะไม่คุ้มกับเงินลงทุนจนต้องยกเลิกไปนั้น
นายณรงค์ชัย เผยว่าการป้องกันขยะจากกลางทะเล ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลฯ วันนี้จึงเปลี่ยนแผนมาเป็นฝ่ายตั้งรับด้วยการใช้เครื่องจักรหนัก และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถช่วยจัดเก็บขยะบนชายฝั่งได้อย่างทันท่วงที แต่ปัญหาหลักคือหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งจัดการขยะจากต้นทาง ก็จะทำให้ปัญหาเช่นนี้ไม่หมดไป และล่าสุด อธิบดี ทช.ก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวแล้ว และเทศบาลเมืองแสนสุข ก็พร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน