xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เลี้ยงโคเนื้อล้านนาเปิดเวทีกรุยทางปฏิวัติแม่พันธุ์ หนุนส่งออกน้ำโขงเข้าจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เครือข่ายโคเนื้อล้านนาเปิดห้องประชุม อบจ.เชียงราย ประชุมใหญ่กรุยทางปฏิวัติการเลี้ยงโคเนื้อไทย หนุนส่งออกน้ำโขงเข้าจีนที่รับไม่อั้น


นายไพโรจน์ เฮงแสงชัย อดีตรองอธิบดีกรมปศุสัตว์-ที่ปรึกษาเครือข่ายโคเนื้อล้านนา และรองอธิบดีกรมหม่อนไหม เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่เครือข่ายโคเนื้อล้านนา สุดสัปดาห์นี้ ที่ห้องประชุมธรรมปัญญา องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย โดยมีนายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายฯ นำสมาชิกผู้เลี้ยงโคเนื้อเข้าร่วมกว่า 250 คน

นายสัตวแพทย์ ไพโรจน์เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเลี้ยงโคเนื้อไทยพบกับปัญหาที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ และเกิดขึ้นมานาน คือ ไม่สามารถระบุได้ว่าโคที่ตัวเองเลี้ยงเป็นสายพันธุ์ใดอย่างชัดเจน เพราะมีการผสมสายพันธุ์ไขว้กันไปมา เช่น อเมริกันบราห์มัน ชาโรเลส์ วากิว แองกัส กำแพงแสน ฯลฯ และในช่วงหลังมีพันธุ์ฮินดูบราซิลเข้ามาอีก

การพัฒนาแม่พันธุ์พื้นฐานอยู่ในภาวะไร้ทิศทาง เพราะสายพันธุ์ไม่นิ่ง ทำให้คุณภาพเนื้อไม่ได้มาตรฐานชัดเจน เพราะการวัดเกรดเนื้อต้องดูลักษณะไขมันแทรก (Marbling) เป็นสำคัญ เมื่อแม่พันธุ์พื้นฐานไม่มีความนิ่งทางพันธุกรรม จึงเกิดปัญหาในการผลิตโคขุนที่มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน

สภาพเช่นนี้ไม่เหมือนกับการเลี้ยงโคเนื้อในต่างประเทศที่มีสายพันธุ์นิ่ง จนสามารถคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์แท้ไว้ใช้ได้นับแสนๆ ตัวอย่างยาวนาน ขณะที่ไทยเราพบพ่อ-แม่พันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดคือ การผสมระหว่างอเมริกันบราห์มัน หรือสายพันธุ์ยุโรป เช่น ชาโรเลส์ แองกัส สายเลือด 50%-75%

แต่หากมีการผสมจนสายเลือดยุโรปเกินกว่า 75% ลูกที่เกิดมาจะไม่ทนต่อสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย อ่อนแอ และความต้านทานโรคต่ำ ต้องนำเอาวัวบราห์มันหรือพันธุ์ตากมาผสมเพื่อลดระดับหรือคงสายเลือดยุโรปไว้

ด้วยเหตุนี้ ทั้งกรมปศุสัตว์และเครือข่ายฯ จึงได้ค้นหาสายพันธุ์แท้ โดยพบว่ามีโคเนื้อพันธุ์บีฟมาสเตอร์ที่เลี้ยงกันมากในสหรัฐอเมริกา มีความเหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาเป็นสายพันธุ์ไทยเพื่อสร้างมาตรฐานได้อย่างแท้จริง

นายไพโรจน์กล่าวอีกว่า โคเนื้อพันธุ์บีฟมาสเตอร์มีสายเลือดของพันธุ์อเมริกันบราห์มันผสมอยู่ด้วย 50% เป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย กินหญ้าแบบปกติธรรมดาทั่วไป ไม่ต้องอยู่ในร่มเลี้ยงแบบประคบประหงมเหมือนพันธุ์แท้อื่นๆ จากยุโรป เมื่อเปรียบเทียบแล้วให้เปอร์เซ็นต์ซากมากกว่าพันธุ์อื่นๆ ที่สำคัญสามารถอยู่ได้ในสภาพภูมิประเทศ และอากาศของไทยได้เป็นอย่างดี สามารถผสมเพื่อยกระดับจนเป็นบีฟมาสเตอร์พันธุ์แท้ เมื่อได้พันธุ์แท้จากสายพันธุ์นี้แล้วในอนาคตสามารถใช้พ่อพันธุ์บีฟมาสเตอร์พันธุ์แท้คุมฝูงเพื่อผลิตโคขุนทดแทนการผสมเทียมในรูปแบบเดิม ลดปัญหาที่เกิดจากการผสมไม่ติด ซึ่งการผสมพันธุ์ลักษณะนี้ใช้กันอยู่ทั่วโลก

"ตั้งเป้าเอาไว้ว่าอีก 15 ปีหลังจากนี้เราจะมีวัวบีฟมาสเตอร์สายพันธุ์ไทยแท้ที่มีคุณภาพ และมีความชัดเจนด้านสายพันธุ์ซึ่งจะเป็นผลดีต่อวงการโคเนื้อของไทยแน่นอน ขณะนี้ทางกรมปศุสัตว์ให้ความสำคัญโดยการอนุมัติงบประมาณสั่งซื้อตัวอ่อน (Ebryo) 200 ตัวอ่อน และน้ำเชื้อ 5,000 โดส เพื่อนำมาพัฒนาสายพันธุ์ และมีพ่อพันธุ์ใช้ผสมเทียม ที่โชคชัยยืนยงฟาร์ม สนับสนุนอยู่ 4 ตัว เพื่อทำการรีดน้ำเชื้อและนำไปให้บริการแก่เกษตรกรทั่วประเทศ"

นายไพโรจน์กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดโคเนื้อถือว่าสดใส โดยเฉพาะ สป.จีน ที่รับซื้อจำนวนมาก มีการนำเข้าในระบบผ่านประเทศไทยทางท่าเรือแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ปีละกว่า 100,000 ตัว ส่วนหนึ่งเป็นโคจากประเทศพม่าที่นำเข้าทาง อ.แม่สอด จ.ตาก และจากภาคใต้ เช่น จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ แต่จะมีการเข้มงวดเรื่องโรคระบาดและสารเร่งเนื้อแดง

นายไพโรจน์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ไทยพยายามทำข้อตกลงกับทางการจีนอยู่ เพื่อให้ได้มาตรฐานโคเนื้อส่งออกจากประเทศไทย หากตกลงกันได้ก็มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการเลี้ยงโคเนื้อ โดยเฉพาะใน 8 จังหวัดภาคเหนือที่เป็นเมืองหน้าด่านเพื่อการส่งออกจะต้องพัฒนาฟาร์มของตัวเองอย่างเร่งด่วนเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งออก

การพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อบีฟมาสเตอร์ดังกล่าวก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญที่จะทำให้เราได้มาตรฐานโคเนื้อตรงกับความต้องการของตลาดได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะหากประเทศจีนยอมรับในการดำเนินการฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม Good Farming Management (GFM) ของไทย

ด้านนายนเรศกล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือมีสมาชิกประมาณ 200 ราย มีแม่พันธุ์โคเนื้อที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้ประมาณ 1,300 ตัว ตามปกติจะใช้เวลาขุนโคเนื้อเพื่อจำหน่ายประมาณ 6-8 เดือน ราคาจำหน่ายซื้อขายกิโลกรัมละประมาณ 100-105 บาท

ต่อจากนี้ไปเครือข่ายฯ ก็จะพยายามส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์บีฟมาสเตอร์เพื่อสร้างมาตรฐานของแม่โคพื้นฐาน ซึ่งการที่จะได้วัวบีฟมาสเตอร์สายพันธุ์ไทยแท้จะต้องนำมาผสมพันธุ์กันอีก 5 ชั่วอายุ หรือใช้ระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 15 ปี แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้วงการโคเนื้อไทยเข้าสู่มาตรฐาน และเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น