ศูนย์ข่าวศรีราชา - เทศบาลตำบลนาจอมเทียน สนธิกำลังร่วมกรมทรัพย์ สิ่งแวดล้อมจังหวัด และหน่วยงานเกี่ยวข้องลงตรวจสอบปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงทะเลอ่าวนาจอมเทียน ชี้น้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมาเป็นน้ำเสียขุ่นตะกอนค้างท่อที่ไหลปะปนลงทะเลช่วงมรสุม ปัจจุบัน ระบบบำบัดยังไม่สมบูรณ์ พร้อมเตรียมประสานเมืองพัทยาแก้ปัญหาชั่วคราว ก่อนเร่งทำ EIA สร้างโรงบำบัดถาวร
วันนี้ (7 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่นักท่องเที่ยวได้ถ่ายคลิปภาพการปล่อยน้ำเสียจำนวนมากลงสู่ทะเล บริเวณชายหาดนาจอมเทียน ม.1 อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เผยแพร่ในโลกสังคมออนไลน์จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น และยังส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยเป็นอย่างมากว่า
ล่าสุด นายปวิตรวีร์ วิจบ ปลัดอาวุโส อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พร้อมด้วย นายจิรศักดิ์ สุภารส รักษาการผู้อำนวยการกองช่างเทศบาลตำบลนาจอมเทียน และตัวแทนจากกรมทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและชายฝั่งชลบุรี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณสันเขื่อน ใกล้ร้านอาหารปูเป็น ม.1 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่มีการจัดทำเป็นท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ต่อเชื่อมลงสู่ชายหาด เพื่อตรวจสอบสภาพ และหาสาเหตุของปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้น
นายจิรศักดิ์ สุภารส รักษาการผู้อำนวยการกองช่างเทศบาลตำบลนาจอมเทียน กล่าวว่า จุดที่มีปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงทะเลเป็นจุดที่มีการจัดทำบ่อพักแบบ Box Converse ขนาด 1.20x1.50 เมตร ฝังลงใต้ผิวจราจรขนาดความลึก 1.5 เมตร ซึ่งมีการต่อท่อระบายน้ำมาจากที่พักอาศัย สถานประกอบการ โรงแรม ร้านอาหาร และชุมชนในพื้นที่หมู่ที่ 1 รวมประมาณ 2-3 ตารางกิโลเมตร
ส่วนสาเหตุที่เกิดปัญหาน้ำเสียลงทะเลมาจากปริมาณน้ำเสียค้างท่อ ด้วยระบบดังกล่าวเป็นการใช้ท่อรวมเพื่อรับน้ำเสีย และน้ำฝนจากชุมชนโดยตรง เมื่อมีปริมาณฝนตกลงมาเป็นจำนวนมากจึงทำให้ปริมาณน้ำจะซัดฝุ่นตะกอนค้างท่อไหลรวมกันก่อนระบายลงสู่ทะเลจนเป็นปัญหาขึ้น
“สำหรับกรณีน้ำเสียนี้ ในส่วนเทศบาลไม่ได้มีระบบบ่อบัดเหมือนกับเมืองพัทยา เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และการปรับแบบ รวมทั้งการทำประชาพิจารณ์จากประชาชน ก่อนเสนอของบประมาณจัดสรรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในช่วงการรอโครงการฯ เทศบาลฯ ก็ได้ประสานมายังเมืองพัทยา เพื่อขอต่อเชื่อมระบบท่อเข้าสู่การบำบัดที่โรงบำบัดน้ำเสียซอยวัดบุญกัญจนาราม ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี แต่ยังติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย และการตอบรับที่ชัดเจนจากเมืองพัทยา เพราะจะต้องมีการพิจารณาเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียม และความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยา จึงทำให้เป็นปัญหาคาราคาซัง”
นายจิรศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า หลังเกิดปัญหาขึ้นทางเทศบาลฯ ได้รับการประสานจากสำนักช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา ว่า จะอนุญาตให้ทำการต่อเชื่อมท่อระบายน้ำเข้าสู่ระบบบำบัดของเมืองพัทยาเป็นการชั่วคราว เพื่อลดผลกระทบ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่อ่าวนาจอมเทียน และจอมเทียน เนื่องจากทั้ง 2 พื้นที่มีอาณาเขตติดต่อกัน
และในวันพฤหัสบดีที่ 10 พ.ค.นี้ คณะผู้บริหารของเทศบาลนาจอมเทียน จะได้เดินทางเข้าหารือกับตัวแทนของเมืองพัทยา เพื่อขอความร่วมมือ และการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป
ขณะที่ นายปวิตรวีร์ วิจบ ปลัดอาวุโส อ.สัตหีบ กล่าวว่า จากการสอบถามไปยังเทศบาลฯ ทราบว่า มีกฎหมายข้อห้ามในเรื่องของการปล่อยน้ำเสียลงสู่ท่อระบาย หรือทะเลโดยตรง ซึ่งรับแจ้งว่ามีการบังคับใช้ และตรวจสอบอยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคงชี้ชัดไม่ได้ว่าระบบการระบายน้ำ และการป้องกันน้ำเสียจากชุมชนและสถานประกอบการต่างๆ มีการดำเนินการครบถ้วนหรือไม่ โดยจะได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าทำการตรวจสอบระบบอย่างจริงจัง และหากพบว่ามีการลักลอบปล่อยน้ำเสียเข้าสู่ระบบ หรือทะเลโดยตรง ก็จะเอาผิดทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 จ.ชลบุรี ยังได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำทะเลในบริเวณดังกล่าวไปตรวจสอบถึงมาตรฐานว่ามีอันตราย และมีผลต่อสิ่งแวด ล้อมทางทะเล รวมถึงระบบนิเวศหรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลาในการตรวจพิสูจน์ประมาณ 1 สัปดาห์