ศูนย์ข่าวศรีราชา - เมืองพัทยาเตรียมต่อเชื่อมระบบบำบัดน้ำเสียจากเทศบาลตำบลนาจอมเทียน เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา หลังเกิดปัญหาน้ำเสียจากนาจอมเทียนไหลลงทะเล จนส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา ชี้หากอนาคตการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียนาจอมเทียนเสร็จ ก็จะให้กลับไปใช้ระบบของตนเอง
จากกรณีที่เกิดปัญหาน้ำเสียไหลลงทะเล บริเวณสันเขื่อนริมชายหาดนาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยว หลังมีนักท่องเที่ยวแชร์ภาพน้ำทะเลสีดำกระจายในวงกว้างลงในโลกสังคมออนไลน์ และกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบ กระทั่งพบว่าสาเหตุมาการปล่อยน้ำจากระบบระบายของเทศบาลตำบลนาจอมเทียน ที่ต่อเชื่อมจากสถานประกอบการ และชุมชนในพื้นที่
เนื่องจากเทศบาลตำบลนาจอมเทียน ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ทำให้เมื่อเกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก น้ำเสียซึ่งใช้ระบบท่อเดียวกับระบบระบายน้ำจะไหลลงสู่ทะเล ขณะที่เทศบาลตำบลนาจอมเทียน ยังออกมาระบุว่า กำลังเร่งดำเนินการจัดทำระบบบำบัด แต่ในช่วงของการรอผลการศึกษาและงบประมาณ จะต้องประสานเมืองพัทยา เพื่อต่อเชื่อมระบบระบายน้ำเข้าสู่โรงบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา ในซอยวัดบุญกาญจนาราม ในเบื้องต้นก่อนนั้น
วันนี้ (18 พ.ค.) นายสมภพ วันดี รักษาการผู้อำนวยการสำนักการช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา ได้ออกมาเปิดเผยถึงกรณีดังกล่าว ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร เทศบาลตำบลนาจอมเทียน ได้เข้าพบ พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสียร่วมกันอย่างเป็นทางการ โดยชี้แจงว่า เทศบาลตำบลนาจอมเทียน เตรียมวางระบบท่อระบายน้ำเสียในพื้นที่ของตนเอง และยังไม่ได้ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างพื้นที่ของชายหาดใกล้เคียงกัน จนทำให้เกิดผลกระทบมาถึงเมืองพัทยาด้วย
โดยขณะนี้เมืองพัทยาได้อนุมัติการต่อเชื่อมระบบน้ำเสียในพื้นที่นาจอมเทียน เข้าสู่ระบบรวบรวมน้ำเสียของเมืองพัทยา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการชั่วคราวแล้ว เนื่องจากยังจะต้องรอผลการทบทวนข้อกฎหมายว่า เมืองพัทยาจะมีแนวทางจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้ถูกต้อง และเป็นไปตามกฎหมายได้อย่างไร
นายสมภพ กล่าวต่อไปว่า ระบบบำบัดของเมืองพัทยา ซึ่งอยู่ที่ซอยวัดบุญกาญจนาราม สามารถรองรับน้ำเสียได้ถึง 43,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ปัจจุบัน น้ำเสียในพื้นที่นาจอมเทียนเข้าสู่ระบบปริมาณ 12,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จึงมีศักยภาพเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาร่วมกันเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาชั่วคราวเท่านั้น แต่หากในอนาคตเทศบาลตำบลนาจอมเทียน มีโรงบำบัดน้ำเสียก็จะต้องกลับไปใช้งานระบบของตัวเองต่อไป