ศูนย์ข่าวศรีราชา - คำสั่ง คสช.จัดระเบียบย้ายจุดจอดเรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยวชายหาด ให้กลับไปใช้พื้นที่บริเวณท่าเรือพัทยาใต้ ตั้งแต่วันนี้(1 พ.ค.) แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังใช้พื้นที่ชายหาด อ้างปรับตัวไม่ทัน พร้อมยืนยันไม่ฝืนคำสั่งแต่ขอเวลาเนื่องจากหวั่นว่าจะกระทบการท่องเที่ยว
วันนี้ ( 1 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่คณะทำงานจัดระเบียบท่าเทียบเรือพัทยาใต้ คสช.และเมืองพัทยา มีนโยบายให้ผู้ประกอบการรถทัวร์รับ-ส่ง นักท่องเที่ยวทุกประเภท กลับมาใช้พื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือ (แหลมบาลีฮาย) พัทยาใต้ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวให้เล่นกิจกรรมทางน้ำและเดินทางสู่เกาะล้านได้ตามปกติ เฉลี่ยวันละ 1-2 หมื่นคน และเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบ ,ลดปัญหาผลกระทบด้านการจราจรบนถนนสายชายหาด และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยว
หลังได้มีการอนุญาตชั่วคราวให้ผู้ประกอบการกลับไปใช้พื้นที่ชายหาดในการรับส่งนักท่องเที่ยวในช่วงของการปรับปรุงภูมิทัศน์ อาคารสถานที่ สะพานเรือ และพื้นที่โดยรวมของท่าเทียบเรือ เพื่อให้เกิดความสวยงามรับการจัดกิจกรรมสำคัญอย่าง “มหกรรมสวนสนามทางเรือนานา ชาติ” ในช่วงเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังการกิจกรรมดังกล่าวแล้วเสร็จ จึงมีนโยบายให้ผู้ประกอบการเรือโดยสารและบริษัทนำเที่ยวทุกประเภท กลับมาใช้พื้นที่ท่าเทียบเรือตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป
จากการลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศในช่วงเช้าที่ผ่านมาพบว่า กำลังทหารจากกองกำลังรักษาความสงบ มทบ.14 ได้สนธิกำลังร่วมกับ เมืองพัทยา และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา รวมกว่า 50 นาย ลงพื้นที่อำนวยความสะดวกบริเวณท่าเทียบเรือพัทยาใต้ ซึ่งบรรยากาศทั่วไปพบว่ามีผู้ประกอบการนำรถบัสโดยสารขนาดใหญ่บรรทุกนักท่องเที่ยวที่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน เข้ามาใช้พื้นที่เป็นบางส่วน ขณะที่การจราจรเป็นไปด้วยความสะดวก
ส่วนบริเวณชายหาดเมืองพัทยา โดยเฉพาะด้านหน้าโรงแรมฮาร์ดร็อค ทวินปาล์ม ตลอดระยะทางกว่า 300 เมตร พบกลุ่มผู้ประกอบการทั้งรถบัสโดยสารขนาดใหญ่ และเรือท่องเที่ยวจอดลอยลำ ริมชายหาดประมาณ 40-50 ลำจนเต็มอ่าว โดยมีนักท่องเที่ยวชาวจีน พากันขึ้น-ลงเรือเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวจำนวนหลายร้อยคน และมีกำลังเทศกิจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนดูแลเท่านั้น
นายณัฐพงค์ มานะสม อายุ 55 ปี กรรมการบริษัททัวร์นำเที่ยว N.P.E. ทัวร์ เผยว่า นโยบายดังกล่าวผู้ประกอบการไม่ได้ขัดข้อง เพียงแต่เป็นการระบุในระยะสั้นและมีการประชุมชี้แจงจากสำนักงานเจ้าท่าพัทยาล่วงหน้าเพียง 1 วัน จึงทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน เนื่องจากโปรแกรมท่องเที่ยวได้ ขายล่วงหน้าไปก่อนแล้วหลายเดือน ทำให้ไม่มีโอกาสชี้แจงและปรับเวลาให้นักท่องเที่ยวใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่ชายหาดเช่นเดิมไปก่อน
“ส่วนกรณีที่มีการย้ายจุดรับ-ส่งนักท่องเที่ยวนั้น แต่เดิมก็เคยใช้พื้นที่ท่าเรือมาก่อน แต่ขณะนั้นมีการจัดตั้งเต็นท์ จุดพักสำหรับนักท่องเที่ยวพิการ สูงอายุ และผู้ป่วยที่ไม่สามารถโดยสารทางเรือได้ แต่หากจะกลับไปใช้บริการนอกจากจะมีปัญหาเรื่องของการจราจร จุดจอดรถแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องของจุดพักนักท่องเที่ยว และห้องน้ำสาธารณะ ซึ่งในอดีตปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวจนทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวหายไปกว่า 10-20 % จึงอยาก ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการปรับปรุง และขอผ่อนผันเวลาสักระยะจากนั้นผู้ประกอบการก็คงน้อมรับและคงย้ายไปอย่างไม่มีปัญหา ”นายณัฐพงค์ กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า การย้ายจุดรับส่งนักท่องเที่ยวจากพื้นที่ชายหาดพัทยาไปสู่ท่าเทียบเรือพัทยาใต้ พบว่าถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากกลุ่มบุคคลบางกลุ่มว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐในการบังคับผู้ประกอบการเพื่อจัดระเบียบโดยไม่ดูความพร้อมและผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งกรณีดังกล่าวผู้ประ กอบการท่องเที่ยวระบุว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มผู้ประกอบการเพราะเข้าใจนโยบายของรัฐเป็นอย่างดีว่าทำเพื่อส่วนร่วมและภาพลักษณ์ต่อการท่องเที่ยว และไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของคนที่สร้างกระแสว่าต้องการอะไร