xs
xsm
sm
md
lg

พิลึก! อยู่มาเป็นร้อยปี ผังเมืองฯ ขีดเส้นเป็นที่ป่า ธ.ก.ส.งดปล่อยกู้คนพิจิตร 3 ตำบล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิจิตร - ชาวสากเหล็ก เมืองชาละวัน 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน ครวญหนัก..อยู่อาศัย-ทำกินบนที่ดินบรรพบุรุษที่ตกทอดรุ่นสู่รุ่นมาเป็นร้อยปี มีทั้ง น.ส.3 ก.-โฉนดอยู่ในมือแท้ๆ ผังเมืองฯ-ป่าไม้กลับประกาศให้เป็นที่ป่าวังทองฝั่งซ้าย จน ธ.ก.ส.งดปล่อยกู้



นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ และ นายเสริมยศ สมมั่น หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ได้ลงพื้นที่พบปะกลุ่มชาวบ้าน 11 หมู่บ้าน 3 ตำบลของ อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร ที่วัดหนองจั่ว ต.คลองทราย อ.สากเหล็ก วานนี้ (26 เม.ย.)

หลังนายเสน่ห์ กองแก้ว อายุ 65 ปี ชาว ต.คลองทราย อ.สากเหล็ก ได้เป็นแกนนำฟ้องศาลปกครอง-ร้องทุกข์ไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า ขณะนี้ชาวบ้าน 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรเขต ต.คลองทราย ต.ท่าเยี่ยม ต.หนองหญ้าไทร อ.สากเหล็ก ได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาหลายชั่วอายุคน

เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดพิจิตร ให้พื้นที่ 3 ตำบลใน 11 หมู่บ้านเนื้อที่กว่า 2 หมื่นไร่ ที่มีเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 ก. และโฉนดที่ออกให้ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 และ พ.ศ. 2540 เป็นพื้นที่ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย โดยจะเพิกถอนสิทธิในเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินของชาวบ้านทุกแปลง

นายเสน่ห์ กองแก้ว อายุ 65 ปี เล่าว่า ในอดีตพื้นที่แถบนี้เคยเป็นป่าสากเหล็ก, ป่าดงทับไทร ซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดต่อกับอำเภอเนินมะปราง, อำเภอวังทอง จ.พิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. 2509 เคยประกาศเป็นป่าไม้ถาวร จากนั้นได้มีมติ ครม.ยกเลิกป่าดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2515 ต่อมาปี พ.ศ. 2522 ก็เริ่มมีการออกสำรวจออกเอกสารสิทธิให้ชาวบ้านที่อาศัยในแถบนี้

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 ก็มีการออกเอกสารสิทธิเป็นหนังสือ น.ส.3 และ น.ส.3 ก. จากนั้นปี พ.ศ. 2540 ก็เริ่มมีการออกโฉนดให้ชาวบ้านที่ถือครองที่ดิน และในปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลก็ประกาศว่าใครมีเอกสารสิทธิในที่ดินให้เข้าสู่นโยบายการแปลงทรัพย์สินเป็นทุน ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงได้นำเอกสารสิทธิที่เป็นโฉนดและ น.ส.3 ก. ไปจำนองขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส.

แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ธ.ก.ส.เริ่มแจ้งแล้วว่าเอกสารสิทธิที่ดินดังกล่าว กำลังจะมีปัญหา ดังนั้นเอกสารที่ดินที่เป็น น.ส.3 ก.ไม่สามารถจะกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส.ได้ รวมถึงที่ดินทั้งหมดใน 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน ก็จะต้องถูกเพิกถอนโฉนดให้กลายเป็นพื้นที่ป่า ทั้งๆ ที่ชาวบ้านอาศัยพื้นที่ทำมาหากินทำไร่ ทำนา ทำสวน อยู่สืบทอดกันมาแล้วหลายรุ่น และมีเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่พอถึงวันนี้กลับจะต้องถูกเพิกถอนโฉนดที่ดินให้เป็นพื้นที่ป่าให้เป็นลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย

“ความเป็นจริงในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีสภาพป่า แต่เป็นเมืองและชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านมาเกือบ 100 ปีแล้วก็ว่าได้ จากปัญหาดังกล่าววันนี้ชาวบ้านจึงรวมตัวกันร้องทุกข์อีกครั้ง”

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ และคณะ ได้ร่วมกันชี้แจงว่า รัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน พร้อมยืนยันว่าเอกสารสิทธิทั้งโฉนด และ น.ส.3 ก. รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้ยังไม่มีการประกาศเพิกถอนแต่อย่างใด

ส่วนกรณีผังเมืองรวมที่กรมโยธาธิการและกรมป่าไม้ขีดเส้นให้พื้นที่ 3 ตำบล 11 หมู่บ้านเป็นพื้นที่ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้ายนั้นก็จะนำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะต้องให้เป็นมติของคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

ชาวบ้านได้ฟังเหตุและผลต่างก็เข้าใจ แต่ยังข้องใจพร้อมเรียกร้องให้ ธ.ก.ส.ช่วยอนุมัติสินเชื่อให้กู้ยืมเงินได้เหมือนเดิม เพราะระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา ธ.ก.ส.สาขาสากเหล็กได้ระงับการให้สินเชื่อ ทำให้เกษตรกรต้องวิ่งไปกู้เงินนอกระบบเสียดอกเบี้ยร้อยละ 20-30 ต่อปี

นายประทีป น้อยคงดี ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สากเหล็ก ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีลูกค้าของ ธ.ก.ส.สาขาสากเหล็กประมาณ 2 พันกว่าราย แต่เป็นเกษตรกรที่ใช้สินเชื่อเพื่อการเกษตร 1,909 ราย นำโฉนดที่ดินมาจำนองเป็นหลักค้ำประกัน คิดเป็นพื้นที่ 61,226 ไร่

ส่วนเรื่องที่ว่าผู้ใดจะขอสินเชื่อโดยใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักค้ำประกันนั้น ธ.ก.ส.สาขาสากเหล็กมีระเบียบอยู่ว่าจะต้องทำเรื่องไปสอบถามกรมป่าไม้ ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีภาระ หรือมีปัญหาเรื่องสิทธิการครอบครอง หรือออกเอกสารทับซ้อนพื้นที่ป่าหรือไม่ ซึ่งถ้ากรมป่าไม้ตอบมาว่าพื้นที่ใด หรือเอกสารโฉนด น.ส.3 ก.อยู่ในพื้นที่ป่า ก็ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อหรือให้เงินกู้ยืมได้ แต่ทุกวันนี้ก็ผ่อนปรนพิจารณาเป็นรายๆ ไป

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวจึงยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรในพื้นที่ 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน 1,117 รายที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกประกาศให้ที่ดินเป็นพื้นที่ป่าลุ่มน้ำวังทอง


กำลังโหลดความคิดเห็น