xs
xsm
sm
md
lg

มาตรฐานปลาร้าชัยนาท พร้อมนำสู่ตลาดตามคำสั่ง ก.เกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชัยนาท - ผู้ประกอบการปลาร้าที่ชัยนาท แหล่งผลิตรายใหญ่ของประเทศ หลายรายยังไม่ทราบเรื่องประกาศ แต่ยืนยันพร้อมผลิตปลาร้าตามมาตรฐาน ก.เกษตร หลังกำหนดให้เป็นสินค้ามาตรฐานเกษตร แต่หนักใจเรื่องค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสถานที่ผลิต

วันนี้ (19 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสอบถามความคิดเห็นของผู้ประกอบการผลิตปลาร้าในพื้นที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปลาร้าที่มีชื่อเสียงแหล่งหนึ่งของประเทศ หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2561 เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551

โดยระบุว่า ด้วยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นสมควรกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งในประกาศดังกล่าวได้มีการให้รายละเอียดของผลิตภัณฑ์ปลาร้าไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่วัตถุดิบ ส่วนประกอบ กระบวนการผลิต คุณลักษณะทางกายภาพ การบรรจุ การแสดงฉลาก เพื่อให้สินค้าปลาร้าเป็นสินค้ามาตรฐาน สะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งจากการสอบถามผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่ามีการประกาศดังกล่าว และยังไม่เข้าใจว่าจะต้องทำเช่นใดบ้าง แต่ก็พร้อมที่จะดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนดไว้

นายศุภชัย พละสุข ผู้ประกอบการบ้านปลาร้าแม่ผาลำ กล่าวว่า เห็นด้วยต่อกำหนดให้การผลิตปลาร้าต้องได้มาตรฐาน เพื่อผู้บริโภคจะได้รับประทานของดีของสะอาด ปลอดภัย เพราะการผลิตปลาร้าบางแห่งก็ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ทั้งนี้ ตนเองไม่หนักใจต่อประกาศดังกล่าวที่ออกมา เนื่องจากปัจจุบันโรงผลิตปลาร้าของตนได้มีกระบวนการผลิต และแปรรูปที่มีมาตรฐาน และความปลอดภัยในกระบวนการผลิตอาหาร หรือ Primary GMP อยู่แล้ว และยังได้รับเครื่องหมาย อย. รับประกันคุณภาพสินค้า ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในผลิตภัณฑ์ปลาร้าของตนว่าสะอาด และปลอดภัย จึงมียอดสั่งซื้อปีละไม่ต่ำกว่า 100 ตัน

ขณะที่ผู้ประกอบการผลิตปลาร้าใน อ.สรรพยา หลายรายบอกว่า ยังไม่ทราบว่ากำหนดให้ปลาร้าเป็นสินค้ามาตรฐานเกษตร และยังไม่เข้าใจว่าต้องทำเช่นใดบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามที่ประกาศกำหนดไว้ บางคนยอมรับว่าค่อนข้างหนักใจ โดยเฉพาะเรื่องการปรับปรุงสถานที่ผลิต จากที่เคยทำกันอยู่ภายในบ้าน ต้องเปลี่ยนให้เป็นสถานที่ผลิตที่ได้เกณฑ์มาตรฐาน Primary GMP ซึ่งจะต้องใช้เงินจำนวนมาก หากจะให้ปรับเปลี่ยนไปในทันทีคงไม่สามารถทำได้ แต่หากให้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปทีละน้อยก็มั่นใจว่าจะดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานตามที่กระทรวงเกษตรฯกำหนดไว้ได้





กำลังโหลดความคิดเห็น