กาฬสินธุ์ - แม่ค้าปลาร้าเขื่อนลำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เห็นด้วยประกาศกำหนดมาตรฐานปลาร้า พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2551 แต่ห่วงกระทบผู้ผลิตรายย่อย เสียเปรียบโรงงาน ทั้งกำหนดมาตรฐานอาจกระทบสูตรทำปลาร้าแต่ละราย
นางฝาย นันทช่วง ประธานกลุ่มปลาร้าไฮเทค บ้านโนนปลาขาว ต.ภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า หลังทราบข่าวและรายละเอียดการประกาศกำหนดเรื่องมาตรฐานสินค้า ประเภทปลาร้า ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2551 นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว เพราะน่าจะยกระดับมาตรฐานปลาร้าท้องถิ่นดีขึ้น แต่การกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยนั้น เกรงว่าอาจส่งผลกระทบกลุ่มผู้ประกอบการปลาร้ารายย่อย เสียเปรียบเรื่องการตลาด ด้านการขายจะสู้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีระบบโรงงานไม่ได้ ทั้งเกรงว่าจะกระทบกับสูตรปลาร้าซึ่งเป็นสูตรเส้นทางสายปลาแดกที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เนื่องจากวิธีการหมักแต่ละสูตรแต่ละเจ้าจะไม่เหมือนกัน รวมถึงชนิดของปลาที่ใช้ด้วย ซึ่งการกำหนดคุณภาพมาตรฐานให้เหมือนกันทั้งประเทศตามประกาศนั้นแทบเป็นไปไม่ได้
นางฝายกล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดที่กำหนดในประกาศ ระบุว่าหนังและเนื้อปลาจะต้องไม่ให้ฉีกขาดนั้น เจ้าหน้าที่ควรจะต้องศึกษาวิถีชีวิตคนท้องถิ่น และความเป็นมาของปลาร้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าปลาแดกนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการหมักปลาร้าจะต้องหมักอย่างน้อย 8 เดือนขึ้นไปถึงจะเป็นปลาร้า และหนังอาจมีหลุดลอก หรือเนื้อยุ่ย แต่ถ้าหมักไม่ถึง 3 เดือนจะไม่ใช่ปลาร้า และเสี่ยงมีพยาธิ อย่างไรก็ตาม การออกประกาศฉบับนี้ ถ้าบังคับใช้ทั่วประเทศ คาดว่าจะกระทบแน่นอนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตปลาร้ารายย่อย
ด้านนายวรวุฒิ เอี่ยมกำแพง เกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ ระบุว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบรายละเอียด หรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานมากนัก เพราะเพิ่งประกาศ แต่โดยข้อเท็จจริงนั้นเป็นการประกาศมาตรฐานทั่วไป ไม่ได้เป็นประกาศบังคับ ซึ่งผู้ผลิตก็สามารถผลิตปลาได้เหมือนเดิม แต่หากกระบวนการหมักและผลิตปลาร้าให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดก็จะเป็นการช่วยยกระดับ และช่วยเหลือผู้ประกอบการมากขึ้น