ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ทัวร์จีนทะลักเที่ยวเหนือ ทั้งเชียงใหม่-เชียงราย-ปายยอดรวมเกินล้าน คาดปีนี้เพิ่มถึง 2 ล้าน เที่ยวบินตรงจีน/ฮ่องกง-เชียงใหม่เพิ่มด้วย แต่เหมือนเดินซ้ำรอยผลไม้ไทยที่ถูกทุนจีนรุกคุมกลไกทั้งระบบ สุดท้ายไทยได้เพียงสถิติ-เศษเงินหยวน
ห้วงกว่า 1 ทศวรรษก่อนหน้า หากยังจำกันได้หลัง “ลำไย” เป็นที่นิยมในตลาดจีน นับแต่นั้นเป็นต้นมากลุ่มทุนจีนก็รุกเข้ามากุมกลไกการค้าลำไยส่งออกผ่าน “ล้ง” ทั่วทั้งเชียงใหม่-ลำพูน ส่งออกผ่านชิปปิ้งจีน ใช้กองเรือสินค้าสัญชาติจีน ส่งผ่านแม่น้ำโขงเข้าตลาดจีนตอนใต้ ขณะเดียวกันพ่อค้าจีนยังกุมกลไกการส่งพืชผักผลไม้จีนทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางถึงตลาดไท
นอกจากนี้ ในช่วงที่เส้นทาง R3a สร้างเสร็จ และเปิดใช้ช่วงแรกๆ ทุนจีนยังรุกเงียบ กว้านซื้อที่ดินทำเลดีริมถนน R3a ทั้งฝั่งไทย ฝั่งลาว ตั้งแต่ห้วยทราย ของลาวข้ามโขงมายังเชียงของ เชียงราย ทะลุถึงเชียงใหม่ ลำปาง วางเป้าหมายทำโกดัง และศูนย์กระจายสินค้าต่อยอดธุรกิจด้วย
และขณะนี้การท่องเที่ยวของภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ก็กำลังเดินตามรอยเดียวกันนี้
ด้วยคลื่นนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในภาคเหนือ ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปีที่ผ่านมามีชาวจีนเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศมากถึง 137 คน ในจำนวนนี้เป็นการเดินทางไปฮ่องกง-ไต้หวัน 60 ล้านคน ไทย 9 ล้านคน
นายมานพ แซ่เจีย ประธานชมรมมัคคุเทศก์รักษ์ล้านนา จ.เชียงใหม่ บอกว่า สถิตินักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เติบโตต่อเนื่องแบบก้าวกระโดดมาก ซึ่งว่ากันว่าตามตัวเลขภายในของทางการจีน ปี 2558 ตัวเลขอยู่ประมาณ 8 แสนคน แต่ปี 2559 เพิ่มเป็น 1,400,000 คน หรือเกือบ 1 เท่าตัวทีเดียว
ขณะปี 60 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนตรงมาเที่ยวเชียงใหม่-เชียงราย-อ.ปาย รวมกันกว่า 1.4 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่บินไปเที่ยวภูเก็ต-กรุงเทพฯ-พัทยา แล้วบินต่อมาเที่ยวที่เชียงใหม่ เชียงราย และ อ.ปาย ด้วย ส่วนปี 61 นี้มีการประเมินกันว่าสถิตินักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวภาคเหนือคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนแน่นอน
ด้านนายพรชัย จิตรนวเสถียร อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า เที่ยวบินตรงจากจีน และฮ่องกงเข้าเชียงใหม่ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 60 มีเที่ยวบินตรงเพิ่มขึ้น 11.91% เมื่อเทียบกับปี 59 ขณะที่ในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ปี 61 มีเที่ยวบินตรงเข้าเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นประมาณ 7.4% และ 12.06% (ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 60
และด้วยคลื่นนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดดนี้เอง ห้วง 3-5 ปีก่อนหน้านี้กลุ่มชาวจีนที่เคยเดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่ใช้เป็นช่องทางทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเอง
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวภาคเหนือจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มที่เดินทางมากับทัวร์ ที่เปิดขายผ่านเว็บไซต์ใน สป.จีน ด้วยราคาที่แสนถูก เช่น ฉงชิ่ง/เฉินตู-เชียงใหม่ 4 คืน 5 วัน ก่อนหน้านี้ขายกันในราคาเพียง 899 หยวน/หัว หรือประมาณ 4,500-5,000 บาท แม้แต่ปัจจุบันจะปรับขึ้นเป็น 1,500 หยวน/หัว หรือ 7-8 พันบาท แล้วก็ตาม..ราคานี้แค่ค่าตั๋วเครื่องบินก็หมดแล้ว
ซึ่งกลุ่มนี้บางส่วนจะมีบริษัทนอมินีในเชียงใหม่ บางส่วนจะดีลกับบริษัททัวร์ไทย ที่รับทัวร์จีนกันอยู่ราว 30 กว่าบริษัท โดยบางครั้งบริษัททัวร์ไทยยังต้องลงทุนซื้อกรุ๊ปทัวร์จีนด้วยซ้ำ และนั่นเป็นที่มาของ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ และทัวร์ KB” จากนั้นเชียร์ขายแพกเกจทัวร์เพิ่มเติมผ่านไกด์ที่ดูเหมือนว่าขณะนี้จะถูกบีบให้ต้องลงทุน “สำรองจ่าย” ค่าใช้จ่ายในการให้บริการกรุ๊ปทัวร์เพิ่มเติมเองก่อนด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ดูเหมือนว่ากำลังจะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยล่าสุดบริษัททัวร์ไทยที่ต้องควักกระเป๋าซื้อกรุ๊ปทัวร์จีนเริ่มประสบปัญหาสภาพคล่อง ค้างจ่ายเงินที่ไกด์สำรองจ่ายกันเป็นหลักล้าน และต่อไปอาจจะเกิดผลกระทบต่อโรงแรม-ร้านอาหาร ที่เปิดเครดิตกับทัวร์ในลักษณะนี้ด้วย
ส่วนนักท่องเที่ยวจีนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีสัดส่วนราว 65% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวภาคเหนือ จะเป็นการเดินทางมาเอง หรือ Free Individual Traveler- F.I.T ดูเหมือนว่ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเข้าข่าย “จีนกินรวบตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” เลยทีเดียว
โดยชาวจีนจะลงทุนเช่า/ซื้อคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร โรงแรม รีสอร์ต ในเชียงใหม่ไว้ ซึ่งว่ากันว่าหมู่บ้านจัดสรรแถวอำเภอสันทราย คอนโดมิเนียมย่านถนนช้างคลาน และถนนห้วยแก้ว เกสต์เฮาส์ย่านถนนราชมรรคา รีสอร์ตย่านสี่แยกรวมโชค ฯลฯ มีชาวจีนมาเช่ายกหลังเป็นรายปีแบบไม่เกี่ยงราคากันเลยทีเดียว
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเงินของชาวจีนเหล่านี้ไม่ค่อยมีปัญหา ซึ่งอัตราที่มีการเช่านั้นหากเป็นคอนโดมิเนียม ถ้าเช่ารายปีจะตกประมาณ 7,500 บาทต่อเดือน, ราย 6 เดือน 8,000 บาทต่อเดือน พร้อมประกันทรัพย์สิน 15,000 บาท จ่ายล่วงหน้า 1 เดือน 22,500 หรือ 23,000 บาท ซึ่งบางรายขอซื้อห้องพักเลยก็มีโดยไม่มีการต่อรองราคาใดๆ
จากนั้นเปิดโปรแกรมทัวร์ให้จองผ่านเว็บไซต์ในจีน ขายในราคาต่อหัวแสนถูก เน้นปริมาณเป็นหลัก
ซึ่งกรณี้นี้เคยเกิดกรณีศึกษาที่แสนคลาสสิก แต่ทำเอาคนในวงการทัวร์น้ำตาตกมาแล้ว..เมื่อกลุ่มทัวร์จีนในลักษณะนี้จองซื้อ/จ่าย แพกเกจเที่ยวไนท์ซาฟารีผ่านเว็บไซต์จีนได้ในราคาเพียง 150 บาท/หัว (จากปกติจะขายทัวร์ในราคา 400 บาท/หัว) แม้แต่รถสี่ล้อแดง ที่เคยได้ค่าน้ำก็ไม่ได้แม้แต่บาทเดียว
หรืออย่างคาบาเรต์โชว์ หรือทัวร์ช้างครึ่งวัน ขายในเว็บไซต์จีนในราคา 105 หยวน คิดเป็นเงินไทย 525 บาท ทั้งที่ราคาขายตามออฟฟิศทัวร์ที่กำหนดมาตรฐานราคากลางไว้ที่ 800-1,200 บาท เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ปี 52 เป็นต้นมานักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่ และแวะซื้อสินค้าของที่ระลึกที่ “บ้านถวาย” หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งรวมความหลากหลายของงานหัตถศิลป์ที่โดดเด่น เช่น งานแกะสลักไม้, งานเดินเส้น แต่งงาน, งานลงรักปิดทอง, แอนทีก, เครื่องเงิน, เครื่องเขิน, ผ้าทอ, เครื่องจักสาน, เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ ซึ่งมีร้านค้าอยู่ 6 โซน รวมถึง 400-500 ร้าน หากไม่สามารถถือติดมือกลับไปเองได้ ก็มีบริษัทชิปปิ้งของนักธุรกิจจีนเข้ามาเปิดให้บริการถึงที่ เริ่มจากจินสุ่ยชิปปิ้ง ก่อนที่จะมีนักธุรกิจจีนมาเปิดเพิ่มรวมไม่น้อยกว่า 4-5 บริษัท
นอกจากชิปปิ้งแล้ว ยังมีนักธุรกิจจีนเข้ามาร่วมทุน-เทกโอเวอร์ร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมไม่น้อยกว่า 7-8 รายแล้ว โดยมุ่งเป้ากลุ่มลูกค้าจีนเป็นหลัก
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวนี้กล่าวได้ว่ากำลังสร้างความเสียหายในเชิงธุรกิจอย่างมากมายมหาศาล ผู้ประกอบการทัวร์ในเชียงใหม่ และภาคเหนือกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่จะจองผ่านเว็บไซต์จีนกว่า 80%
และนั่นหมายถึงทัวร์จีนที่ทะลักเข้ามาในภาคเหนือ ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ปาย ส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในมือของเครือข่ายทุนจีนทั้งสิ้น