เชียงราย – รองปลัดมหาดไทย นำทีมคณะกรรมการฯ เปิดห้องท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงฯ เรียกสอบกราวรูด ผู้เกี่ยวข้องโครงการสร้างอนุสาวรีย์ช้างฯ บนเกาะกลางน้ำกก หลังส่อติดบ่วงถมที่รุกล้ำลำน้ำ ด้านนายกเทศมนตรีนครเชียงราย ยันเป็นที่ธนารักษ์ออกเอกสารมา 20 กว่าปี หลังเกิดที่งอกจากการเปลี่ยนทางของลำน้ำ
วันนี้ (31 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงาน ช่วงสุดสัปดาห์นี้นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้นำคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเทศบาลนครเชียงราย ผลักดันโครงการสร้างอนุสาวรีย์ช้างคู่บารมีพญามังราย บนเกาะกลางแม่น้ำกก ใกล้สะพานแม่ฟ้าหลวง อ.เมืองเชียงราย แต่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ เชียงราย ไม่อนุมัติโครงการเพราะเห็นว่ามีปัญหาเรื่องที่ดิน
คณะกรรมการฯ ได้เรียกสอบปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนารักษ์จังหวัดฯ , ที่ดินจังหวัดฯ , เจ้าท่าภูมิภาค , ยุทธศาสตร์จังหวัด , สำนักงานจังหวัด , ประชาสัมพันธ์จังหวัด เทศบาลนครเชียงราย ฯลฯ ที่ห้องประชุมท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดการสอบต่อสาธารณะ
ด้านนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า โครงการนี้ เกิดขึ้นเพราะชาวเชียงราย ทราบถึงจุดกำเนิดของเมืองเชียงราย ว่าเกิดจากพญามังรายหรือพ่อขุนเม็งรายมหาราช ได้ทรงตามช้างมาจนพบภูมิประเทศเมืองเชียงรายแล้วสร้างเมืองขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้นเทศบาลนครเชียงราย จึงร่วมกับศิลปินจำนวนหนึ่ง และปรึกษาพระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 6 ที่ให้ข้อคิดและอาจารย์กนก วิศวกุล ศิลปินชาวเชียงราย ที่ให้ลักษณะช้างมงคล กระทั่งมีความตั้งใจที่จะสร้างอนุสาวรีย์ช้างดังกล่าวขึ้นมา
กระทั่งปี 2560 เทศบาลฯ จึงได้นำเสนอโครงการเข้าสู่ที่ประชุมจังหวัดที่มีผู้ว่าฯ เชียงราย เป็นประธาน รวมทั้งมีรองผู้ว่าฯ หัวหน้าส่วนราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิรวมแล้วนับ 100 คน โดยของบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ให้ดำเนินการบริเวณสวนของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน หรือสวน รด.หรือต่อเนื่องไปยังเกาะกลางแม่น้ำกกดังกล่าว โดยจะสร้างเป็นสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ร่มรื่น ไม้มงคล ไม้หายาก สวนจักรยาน เพื่อให้เชียงราย เป็นเมืองที่มีอัตลักษณ์และอีก 3-5 ปีข้างหน้า ก็จะเป็นเมืองชั้นนำเรื่องจักรยานด้วย
นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่ดินตรงเกาะกลางแม่น้ำกกนั้น เป็นที่งอกเงยขึ้นมา อันเกิดจากแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินมีเนื้อที่ประมาณ 24-25 ไร่ ทางกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้ออกเอกสารสิทธิ์มาได้กว่า 20 ปีแล้ว และได้ส่งมอบต่อเทศบาลเทศบาลเชียงราย เข้าไปพัฒนาในปี 2548
ซึ่งที่ผ่านมาเทศบาลฯ ก็ได้ใช้ทำประโยชน์ เช่น ร่วมกับฝ่ายทหารปลูกต้นไม้ ฯลฯ รวมทั้งเคยตั้งใจสร้างหอศิลป์ร่วมสมัย รวบรวมผลงานศิลปะของศิลปินที่มีอยู่ในเชียงรายมากที่สุดกว่า 300-400 คนด้วย การเสนอโครงการขึ้นมาจึงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและยุทธศาสตร์ จ.เชียงราย
ต่อมาทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็ได้ช่วยออกแบบพัฒนาเกาะด้วยงบประมาณ 65 ล้านบาท โดยมีการออกแบบเป็นสะพาน พัฒนาบนเกาะ และอื่นๆ มากมาย ส่วนอนุสาวรีย์ช้างฯ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ได้รับการอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และคณะกรรมการจังหวัดที่เสนอไปยังรัฐบาล จนกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างในที่สุด
"เทศบาลเป็นผู้นำเสนอโครงการเพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ ต่อเชียงราย โดยการประมูลจัดซื้อต่างๆ เป็นเรื่องของจังหวัดเชียงราย ที่จะมอบให้ส่วนภูมิภาคใดดำเนินการ โดยเทศบาลไม่ได้ดำเนินการ จึงถือเป็นโครงการที่ดีที่เกิดจากการบูรณาการทุกฝ่ายและประชาชนมีส่วนร่วม”
ส่วนกระแสทุจริตเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้ที่เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย เพราะโครงการยังไม่ได้เกิดขึ้นเลย เทศบาลฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง เพียงแต่เสนอให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและจังหวัด รวมทั้งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น
นายวันชัย ยืนยันว่าที่ดินบนเกาะเป็นของกรมธนารักษ์ ซึ่งหากจะมีการพิสูจน์สถานะกันอีกครั้ง ก็ขึ้นอยู่กับจังหวัดที่จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้หนึ่งผู้ใดจะมาชี้ขาดว่าถูกหรือผิดกฎหมาย ก็ถือว่าเร็วเกินไป และสิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อแนวความคิดการพัฒนาในอนาคต หากมีการตั้งเงื่อนไขเอาไว้ไม่สมบูรณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
“บางครั้งอาจเป็นจินตนาการ ซึ่งในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ หากมองในแง่ของข้อกฎหมาย ก็คงต้องรอการพิสูจน์และตนคิดว่าเรื่องนี้รัฐบาลมีแนวทางแก้ไขได้ สมมติมีการยกเลิกการเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์แล้วให้ไปเป็นที่สาธารณประโยชน์เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ประชาชนก็สามารถมอบให้เทศบาลฯ สร้างประโยชน์ได้อยู่ดี ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นที่ดินของหน่วยงานใดสามารถใช้ประโยชน์ได้”
นายวันชัย กล่าวถึงกรณีถูกกล่าวถึงเรื่องโครงการสร้างโรงคัดแยกขยะที่กำลังถูกตรวจสอบว่า เป็นโครงการต่อเนื่องมาจากผู้บริหารท้องถิ่นชุดก่อน ซึ่งตนไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่ปัจจุบันได้ให้มหาวิทยาลัยฯ ช่วยเข้าไปศึกษารูปแบบการคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพ ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีอาจจะล้าสมัย หรือทำให้ต้นทุนสูง การบริหารต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมมีมากจนเป็นภาระต่อท้องถิ่น ดังนั้นหากทำให้ดี และคุ้มค่า โดยหาจุดลงตัว ก็จะทำให้มีประสิทธิภาพ แต่หากดันทุรังทำก็จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้
อนึ่ง กรณีเกาะกลางแม่น้ำกก ที่เทศบาลฯจะใช้เป็นจุดก่อสร้างอนุสาวรีย์ช้างฯ แต่ผู้ว่าฯ เชียงราย ไม่อนุมัตินั้น ปัจจุบันเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย กำลังแจ้งความดำเนินคดีกับหน่วยงานที่รุกล้ำน้ำกก ในจุดดังกล่าวอยู่ด้วย