ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เจ๊งเร็วเกินคาด “นิวเจน แอร์ไลน์” ประกาศปิดตายทุกเส้นทางบินโคราช 17 เม.ย.นี้ อ้างทนแบกรับภาระไม่ไหวขาดทุนยับเดือนละกว่า 1 ล้าน ด้านจังหวัดฯ ดิ้นสุดฤทธิ์ขอโอกาสสุดท้ายพร้อมหนุนเต็มที่ไม่ต้องการให้สนามบินร้างซ้ำซาก ขณะนักธุรกิจบ่นเสียดาย ไปเร็วเกินทำเสียโอกาส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 1 สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะทำงานเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมการเปิดเส้นทางการบินท่าอากาศยานนครราชสีมา โดยมีองค์กรภาครัฐ เอกชน บริษัทนำเที่ยว ตัวแทนบริษัท นิวเจน แอร์เวย์ส จำกัด เจ้าของสายการบินนิวเจน แอร์ไลน์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน
ทั้งนี้ นายพีระพงษ์ สุภาพแท้ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด สายการบินนิวเจน แอร์ไลน์ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า หลังจากนิวเจน แอร์ไลน์ ได้เปิดเส้นทางการบินพาณิชย์ท่าอากาศยานนครราชสีมา จำนวน 2 เส้นทาง คือ นครราชสีมา-เชียงใหม่ และนครราชสีมา-ภูเก็ต โดยทำการบินวันละ 1 เที่ยวบิน เริ่มทำการบิน 3 ธ.ค. 2560 ช่วงแรกได้รับการตอบรับดี แต่ต่อมาจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างต่อเนื่อง ในเดือน ม.ค. 2561 ที่ผ่านมาทางสายการบินได้ทำการปิดการบินเส้นทางภูเก็ต-นครราชสีมา จากนั้นวันที่ 2 ก.พ. 2561 เริ่มเปิดทำการบินเส้นทางดอนเมือง-นครราชสีมา และในวันที่ 17 เม.ย.นี้จะปิดทำการบินในเส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่และดอนเมือง-นครราชสีมา ด้วย เนื่องจากทนแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว
ที่ผ่านมาต้องประสบภาวะขาดทุนเดือนละกว่า 1 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวบินกว่า 1 แสนบาท รวมแล้ว 3-4 เดือน จนถึงวันที่ 17 เม.ย.นี้ขาดทุนไปกว่า 3-4 ล้านบาท เนื่องจากแต่ละเดือนมีภาระต้นทุนในการบินค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าโอเปอเรต (operate) ต่างๆ แม้ว่ากรมการท่าอากาศยานจะไม่เก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ตาม แต่ต้นทุนอย่างอื่นยังสูงอยู่ และที่สำคัญคือจำนวนผู้โดยสารกับเครื่องบินที่สายการบินนำมาใช้ไม่สัมพันธ์กัน ที่ผ่านมามีผู้โดยสารแต่ละเที่ยวเฉลี่ยแล้ว 40-50% เท่านั้น จึงจำเป็นที่ต้องปิดการบินลงดังกล่าว
ขณะที่ประชุมส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นว่าชาวโคราชยังต้องการให้สายการบินนิวเจน แอร์ไลน์ทำการบินในเส้นทางดังกล่าวต่อไปก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสนามบินร้างเหมือนที่เคยเป็นมา และถือว่าเร็วจนเกินไปที่ทางนิวเจนจะถอนตัว ซึ่งในที่ประชุมผู้ว่าฯ นครราชสีมาได้ให้ทางนิวเจนกลับไปหารือผู้บริหารว่าจะทำอย่างไรจึงจะให้สายการบินนิวเจนยังคงบินในเส้นทางดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันทางจังหวัดฯ จะหาแนวทางช่วยเหลืออีกทางหนึ่งโดยเฉพาะเรื่องการประกันที่นั่งผู้โดยสารให้ได้ร้อยละ 60 ก่อนนัดหารือกันอีกครั้ง
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ นครราชสีมา เปิดเผยว่า วันนี้ทางนิวเจน แอร์ไลน์ ได้มาแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าสายการบินของนิวเจนที่ทำการบินในเส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่ มีผู้โดยสารประมาณร้อยละ 40 ทำให้ผลประกอบการไม่ดี ไม่สามารถบินต่อไปได้ จึงขอแจ้งยกเลิกเที่ยวบินหรือเส้นทางการบินตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งทางเราเข้าใจสายการบินนิวเจน แม้ว่าที่ผ่านมามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นก็ตามแต่ยังไม่คุ้มทุน
อย่างไรก็ตาม วันนี้อยากให้ทางนิวเจนเสนอมาว่ากรณีจะบินต่อจะมีวิธีการอื่นหรือไม่ เช่น ให้ชาวนครราชสีมาร่วมรับผิดชอบในส่วนที่ขาดทุนหรือไม่อย่างไร หรือการประกันที่นั่งกี่ที่นั่งในแต่ละเที่ยวบิน เป็นต้น จึงอยากขอให้สายการบินพิจารณาข้อเสนอของทางจังหวัดอีกครั้งก่อน และส่งคำตอบมาก่อนวันประกาศหยุดบิน จากนั้นจังหวัดฯ จะมาหารือกับชาวโคราชอีกครั้งหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้ทางนิวเจนได้ปิดการบินในเส้นทางนครราชสีมา-ภูเก็ต เนื่องจากชาวโคราชใช้บริการน้อยมาก และไม่ค่อยเดินทางไปเที่ยวในแถบนั้น แต่หากเป็นช่วงไฮซีซันอาจกลับมาบินใหม่ จึงปิดตัวไปก่อนหน้านี้
สำหรับจุดคุ้มทุนที่บริษัทนิวเจนให้ข้อมูล คือ ต้องมีลูกค้าร้อยละ 80 ต่อเที่ยวบินจึงจะทำให้บริษัทอยู่ได้ แต่วันนี้ต่อรองว่าอาจไม่ได้ช่วยได้ทั้งหมด แต่ลดการขาดทุนได้บางส่วน เช่น ชาวนครราชสีมาอาจช่วยร้อยละ 60-70 ได้หรือไม่ ซึ่งทางตัวแทนบริษัทรับปากที่จะไปเสนอผู้บริหารและแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
ขณะนี้ตนคิดว่าชาวนครราชสีมาต้องการให้มีสายการบิน ถ้าบินไปได้อีกสักระยะ คนรู้จักมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นชาวโคราชเองหรือชาวเชียงใหม่คงไปมาหาสู่กันมากขึ้น แต่ช่วงนี้อาจจะเป็นช่วงการประชาสัมพันธ์ เพราะเราใช้เวลาในการบินแค่ 3 เดือนเอง เป็นเวลาที่รวดเร็วเกินไป ในส่วนของโคราชถือว่ามีผู้โดยสารมากพอสมควร
ด้าน นายพีระพงษ์ สุภาพแท้ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด สายการบินนิวเจน แอร์ไลน์ กล่าวว่า ในส่วนของสายการบินนิวเจนเองไม่ได้ต้องการยกเลิกการบินในเส้นทางดังกล่าว และอยากทำการบินต่อเนื่องเพื่อให้การเดินทางโคราชกับภูมิภาคต่างๆ ไปต่อได้ เพียงแต่ว่าในกรณีผลกระทบด้านทุนต่อเนื่องสายการบินต้องมองถึงบริษัทด้วยว่าทางเราจะรับภาระได้นานแค่ไหน ระยะเวลาจากที่เราเปิดทำการบินที่โคราชจนถึงวันปิดตัวประมาณ 5 เดือน เราคำนวณแล้วว่าเราขาดทุนถึงจุดที่เรากำหนดมาแล้ว ซึ่งเรามองอย่างรอบคอบแล้วในอนาคตเราอาจกลับมาบินก็ได้ เนื่องจากช่วงนี้อยู่ในช่วงโลว์ซีซันซึ่งผลกระทบจะหนักกว่าเดิม และอีกประการหนึ่งคือเรื่องการเดินทางของชาวโคราชที่ไม่ใช่กลุ่มทัวร์ไม่มีความพร้อม และการนำบุคคลภายนอกเข้ามาเที่ยวในโคราชก็มีน้อย
“เครื่องบินที่นิวเจนนำมาบินเป็นเครื่องบินลำใหญ่ ประเภทโบอิ้ง 737 ที่นั่งกว่า 200 ที่นั่ง ฉะนั้น การที่จะมีผู้โดยสารเกือบ 200 คนต่อเที่ยวบิน เส้นทางโคราชเองถือว่ายาก แต่หากเรามองเป็นเครื่องเล็กหรือเครื่อง ATR เครื่องคิว 400 หรือเครื่องซาบ ที่นั่ง 20, 30, 60-80 อันนี้เต็มแน่นอน เพราะคนโคราชเริ่มรู้จักการเดินทางด้วยการบิน เพียงแต่การเดินทางด้วยเครื่องบินเล็กหรือเครื่องบินใบพัดความปลอดภัยจะต่ำกว่า ถามว่าผู้โดยสารยอมรับความเสี่ยงได้หรือไม่ อันนั้นเป็นตัวที่เราต้องวางแผนในอนาคต อย่างไรก็ตาม การวางแผนที่จะเพิ่มเครื่องบินเล็ก หรือเพิ่มเครื่องบิน ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี เพราะต้องเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ซึ่งตอนนี้นิวเจนไม่มีเครื่องบินเล็กเลย มีแต่เครื่องบินขนาดใหญ่” นายพีระพงษ์กล่าว
สำหรับสายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส มีฝูงบินทั้งหมด 12 ลำ ให้บริการด้วยเครื่องโบอิ้ง 737-400 จำนวน 4 ลำ และ 737-800 จำนวน 8 ลำ และในปีนี้จะเพิ่มอีก 4 ลำ มีบุคลากรกว่า 1,600 คน ประกอบด้วยนักบินประมาณ 180 คน และลูกเรือประมาณ 350 คน โดยให้บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก เป้าหมายของนิวเจนคือ การก้าวสู่การเป็นสายการบินพาณิชย์ระดับเอเชียที่เชื่อมเครือข่ายเส้นทางบินหลักระหว่างไทย จีน และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น พม่า อินเดีย ไต้หวัน เกาหลี และตั้งเป้าพัฒนาบุคลากรทางการบินของไทยด้วยการสร้างศูนย์ฝึกการบินแบบครบวงจรทั้งในส่วนนักบิน ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน พนักงานต้อนรับทั้งบนเครื่องบินและภาคพื้นดินในอนาคต โดยเปิดให้บริการด้านการบินพาณิชย์แห่งแรกที่สนามบินโคราชวันที่ 3 ธ.ค. 2560 ในเส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่, นครราชสีมา-ภูเก็ต และนครราชสีมา-กรุงเทพฯ โดยมีกำหนดยกเลิกการบินในเส้นทางดังกล่าวทั้งหมดในวันที่ 17 เม.ย.นี้
ทางด้าน นายไพจิตร มานะศิลป์ รองประธานหอการค้าฝ่ายพาณิชยกรรม กล่าวว่า ทางหอการค้ารู้สึกเสียดายโอกาสของบริษัทนิวเจนที่ประกาศหยุดการบินในเส้นทางโคราช ซึ่งหอการค้าพยายามผลักดันให้เกิดสายการบินพาณิชย์ขึ้นมา แต่บริษัทฯ กลับถอนตัวเร็วจนเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาหอการค้าฯ ได้หารือกับสายการบินหลายรอบ แต่ทางสายการบินส่งเฉพาะตัวแทนที่ไม่มีอำนาจมาคุย จึงทำให้การทำงานประสานกันไม่รวดเร็ว แม้แต่การทำโปรโมชันกับห้างสรรพสินค้าต่างๆ ใน จ.นครราชสีมาที่พร้อมให้ความช่วยเหลือก็ไม่ได้รับการตอบกลับจากทางสายการบิน รวมถึงเรื่องการประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่จนถึงทุกวันนี้ป้ายประชาสัมพันธ์สักใบยังไม่มีเลย และมีหลายอย่างที่ไม่ได้ประสานให้การทำงานไปในแนวเดียวกัน ทำให้สายการบินเสียโอกาส ซึ่งทางเราเสียดายเพราะกว่าจะชวนมาได้ และที่คุยเบื้องต้นทางสายการบินก็พร้อมที่จะขาดทุนในช่วง 3-4 เดือนแรกเพื่อทำให้คนรู้จัก แต่บินไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ปิดเส้นทางแรกไปแล้ว และสุดท้ายประกาศปิดการบินโดยสิ้นเชิงในเดือน เม.ย.นี้ อย่าไรก็ตาม ทางหอการค้าฯ ก็ได้เตรียมแผนรองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสนามบินโคราชร้างอีก
ขณะที่ ดร.บุญมา อิ่มวิเศษ ประธานกรรมการบริหารบริษัท สตาร์เวลล์ จำกัด ในฐานะนักธุรกิจชาวโคราช กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดกับสายการบินนิวเจนมาจากความไม่เชื่อมั่นของผู้โดยสาร เพราะสายการบินเปลี่ยนแปลงตารางการบินบ่อย บางทีก็ยกเลิก หรือเครื่องดีเลย์บ้าง ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น เช่น บริษัทฯ ของตนวางแผนที่จะเดินทางไปเชียงใหม่หรือภูเก็ตไว้ แต่เราไม่สามารถล็อกวันเดินทางได้เลยเนื่องจากไม่เชื่อมั่นว่าจะมีเครื่องบินไปตามเวลาหรือไม่ คนจะมากหรือน้อยควรต้องบินไม่ใช่แจ้งยกเลิก ซึ่งหากทางสายการบินอ้างว่าต้นทุนสูงรับภาระไม่ไหวก็ควรลดเที่ยวบินได้ ผู้โดยสารยังมีความเชื่อมั่นและจะได้วางแผนถูกว่าควรเดินทางวันใดให้สอดคล้องกัน
อีกประเด็นสำคัญคือ การจัดตารางการบินที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวนครราชสีมา เช่น จัดเที่ยวบินศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ซึ่งหากไปแล้วต้องรอกลับสัปดาห์หน้าจึงจะมีเครื่องกลับ หากมีภารกิจระหว่างสัปดาห์ต้องไปเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ เป็นต้น ฉะนั้นจึงอยากสะท้อนไปว่า เมื่อผู้โดยสารไม่เกิดความเชื่อมั่นก็ส่งผลต่อจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง และการจัดตารางการบินที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้โดยสารจะเกิดปัญหาการไม่ไปใช้บริการของผู้โดยสาร และหากยังทำเช่นนี้เชื่อว่าจะสายการบินใดมาเปิดทำการบินก็ไปไม่รอดเหมือนกัน
อนึ่ง ท่าอากาศยานนครราชสีมาตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง-จักราช ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา อยู่บนพื้นที่ 4,625 ไร่ ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาไปทางทิศตะวันออกประมาณ 26 กม. เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2540 เคยเปิดเส้นทางการบินพาณิชย์โดยสายการบินภายในประเทศและยกเลิกการบินกลายเป็นสนามบินร้างซ้ำซากมาแล้วจำนวน 7 ครั้ง
ประกอบด้วย 1. สายการบินไทย เริ่มทำการบินเที่ยวแรกปี 2540-2544 นครราชสีมา-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) 2. สายการบินแอร์อันดามัน ทำการบินวันที่ 7 ก.พ. 2545-13 ธ.ค. 2546 นครราชสีมา-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) 3. สายการบินแอร์เอเชีย ทำการบินเดือน เม.ย.-ก.ค. 2547 เส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)
4. บริษัท แฮปปี้แอร์ ทราเวิลเลอรส์ จำกัด ทำการบิน ส.ค. 2553-ม.ค. 2554 เส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) 5. บริษัท ไทรีเจียนัลแอร์ไลน์ ทำการบิน 7 ต.ค. 2554-ธ.ค. 2554 เส้นทางนครราชสีมา-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ), 6. บริษัท กานต์แอร์ จำกัด ทำการบิน 2 ก.พ. 2558-15 มิ.ย. 2558 เส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่ และ 7. บริษัทสายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส ทำการบินเมื่อ 3 ธ.ค. 2560-17 เม.ย. 2561 เส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่/ภูเก็ต/กรุงเทพฯ