xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มอุทัยฯ ทำได้ ผุดฟาร์มถั่งเช่า 4.0-ใช้สมาร์ทโฟนคุมจากกลางทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุทัยธานี - น่าทึ่ง..หนุ่มอุทัยฯ พนักงานฝ่ายผลิตแท่นก๊าซ ทำฟาร์มเพาะเห็ดถั่งเช่าไฮเทค-ใช้สมาร์ทโฟนคุมกระบวนการผลิตได้จากกลางทะเล แถมแปรรูป-ขึ้นทะเบียน อย.เสร็จสรรพ บอกใช้พื้นที่น้อยแค่ 4 คูณ 4.5 เมตร ทำรายได้เสริมเดือนละ 4 หมื่นอัป

นายนุภาษ สันตยานนท์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี ได้นำผู้สื่อข่าวเดินทางไปดูสุดยอดฟาร์มเห็ดเกษตรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ที่เพาะเห็ดถั่งเช่าหารายได้เสริมจากงานประจำ และนำนวัตกรรมเทคโนโลยี 4.0 มาช่วยทำการเกษตรรูปแบบใหม่ ที่ช่วยประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้เป็นอย่างดี ที่บ้านเลขที่ 123/3 ถ.รักการดี ต.อุทัยใหม่ อ.เมืองอุทัยธานี

นายธิติ เอี่ยมฉวี หนุ่มวัย 31 ปี เจ้าของฟาร์ม เล่าให้ฟังว่า เป็นพนักงานฝ่ายผลิตแท่นก๊าซธรรมชาติอยู่ แต่อยากหารายได้เสริมจากงานประจำ จึงหาข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะเห็ดเนื่องจากใช้พื้นที่น้อย แรกเริ่มได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดนางฟ้า แต่พบว่าเห็ดนางฟ้าต้องดูแลอย่างจริงจัง ต้องมีเวลาทั้งเช้าและเย็น

ตนมีงานประจำอยู่แล้วจึงไม่มีเวลาดูแล ก็เลยเปลี่ยนเป็นเห็ดถั่งเช่า ที่เพาะครั้งเดียวและดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก เพียง 75 วันก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ราคาตามท้องตลาดค่อนข้างสูง เนื่องจากมีคนทำน้อยและกำลังเป็นที่นิยมของคนรักสุขภาพ

โดยเริ่มจากเพาะเชื้อเห็ดในตู้เย็นเล็กๆ ลองผิดลองถูก จนตอนนี้ขยายเป็นห้องขนาด 4 คูณ 4.5 เมตร และได้ประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต ส่วนใหญ่ได้ออกแบบและติดตั้งเอง ทั้งระบบระบายอากาศ ฟอกอากาศ แสงสว่าง ความชื้น ความเย็น และกล้องวงจรปิด

“ทั้งหมดควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว สามารถควบคุมและสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเห็ดถั่งเช่าได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แม้ทำงานอยู่กลางทะเลก็สามารถควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกอย่างได้”


นายธิติบอกว่า ตอนนี้เพาะเห็ดได้ประมาณเดือนละ 300 ขวด ซึ่งหลังจากอบแห้งแล้วจะได้ประมาณ 1 กิโลกรัม และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชื่อว่า TOP ที่ได้รับการรับรองผ่านมาตรฐาน อย. โดยหลังจากแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้วจะส่งขายตามท้องตลาด ทั้งขายหน้าร้านและขายออนไลน์ สามารถสร้างรายได้กว่า 40,000 บาทต่อรอบการผลิต หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือเฉลี่ยประมาณ 10,000-20,000 บาทต่อเดือน ถือว่าเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งได้เป็นอย่างดี


ด้านนายนุภาษ สันตยานนท์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยว่า ตอนนี้ได้ผลักดันให้ใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ข้าว หนอนไหม เป็นอาหารเสริมในกระบวนการเพาะเห็ด และจะเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบ Packing ตามมาตรฐาน GMP ที่มีอยู่ในจังหวัด ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านการแปรรูปได้ เนื่องจากปัจจุบันต้องส่งไปทำบรรจุภัณฑ์ที่โรงงานในกรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งยังส่งเสริมหาช่องทางการตลาดในกิจกรรมการออกบูทในงานต่างๆ ของจังหวัดให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น