xs
xsm
sm
md
lg

ส่องปมรีสอร์ตเขาค้อผิดเงื่อนไขกองทัพฯ เป็นพัน สุดท้ายหลุดคดีเป็นแผง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพชรบูรณ์ - ตามส่องแนวทางจัดระเบียบเขาค้อ วันนี้ยังติดหล่ม..ทั้งที่พบรีสอร์ต รอส.ผิดเงื่อนไขกองทัพฯ กว่าพันราย แต่ใช้กฎหมายป่าไม้ดำเนินคดี สุดท้ายหลุดเป็นแผง แถมผังเมืองที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ต้นปี 60 ยังบังคับใช้ไม่ได้ซ้ำ

กรณีศึกษาการจัดระเบียบรีสอร์ตเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีทั้งที่สร้างบนแปลงที่ดิน รอส. หรือที่ดินกองทัพภาคที่ 3 ขอใช้ประโยชน์จากกองทัพ และรีสอร์ตรุกป่า ดูเหมือนว่าจนถึงวันนี้ยังเป็นไปในลักษณะยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก..ผิดจากแนวทางจัดระเบียบรีสอร์ตภูทับเบิกที่มีการงัด ม.44 เดินหน้าทุบ-รื้อทิ้งรีสอร์ตรุกป่า

แต่สำหรับรีสอร์ตเขาค้อ ซึ่งตามข้อมูลของฝ่ายทหารระบุว่า รีสอร์ตที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวทั่ว อ.เขาค้อ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2 พันแห่ง เป็นรีสอร์ตบนที่ดิน รอส. (ที่ดินกองทัพภาคที่ 3 ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้) กระทำผิดเงื่อนไขจำนวน 1,052 ราย จากทั้งหมด 1,542 ราย ส่วน รอส.ตัวจริงที่สร้างรีสอร์ตถูกต้องมีเพียง 332 แห่ง เท่ากับว่ามี รอส.เพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ดำเนินการถูกต้องตามเงื่อนไข คุณสมบัติ 9 ข้อตามที่กองทัพภาคที่ 3 กำหนด

ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 54 มีการจับกุมดำเนินคดีรีสอร์ตเขาค้อทั้งสิ้น 61 คดี เกือบครึ่งหลุดคดีเพราะหลักฐานไม่พอ-ผู้ต้องหาขาดเจตนา

โดยแบ่งเป็นคดีที่ทราบผลแล้ว 9 คดี, พนักงานสอบสวนเห็นควรงดการสอบสวน 1 คดี, พนักงานอัยการแจ้งยุติการดำเนินคดี 2 คดี เพราะผู้ต้องหาเสียชีวิต, พนักงานอัยการสั่งไม่ดำเนินคดี 27 คดี เพราะหลักฐานไม่พอ 17 คดี/ผู้ต้องหาขาดเจตนา 10 คดี, ยังไม่ทราบผล (อยู่ในชั้นอัยการ 11 คดี, รอเอกสารยืนยันจากอัยการ 3 คดี, ส่งสำนวนให้ดีเอสไอ 8 คดี

เช่นเดียวกับการจับกุมอาคารยักษ์สูง 4 ชั้นบนแปลงที่ดิน รอส.บ้านส่งคุ้ม อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อปลายปี 59 และรีสอร์ตอีก 6 หลังบนที่ดินแปลงเดียวกัน รวมถึงรีสอร์ตในที่ดิน รอส.แปลงอื่นอีก 3 ราย ภายใต้ฐานความผิด พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 ข้อหา บุกรุกครอบครองป่าสงวนฯ และอยู่ในแปลงที่ดิน รอส.

ที่ต่อมาพนักงานสอบสวน สภ.เขาค้อรับดำเนินคดี ทำสำนวนส่งอัยการ แต่สุดท้ายอัยการจังหวัดหล่มสักสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา (เจ้าของตึก) เหตุพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง..เพราะขาดเจตนารุกป่า เนื่องจากมีการใช้ข้ออ้างการร่วมทุนกับ รอส.

ทำให้นายทุนเจ้าของตึกยักษ์ 3 หลังเดินหน้าสร้างต่อเพราะเห็นว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว ทั้งที่เมื่อขอดูใบอนุญาตก่อสร้างกลับไม่มี นี่คืออีกปัญหาของการจัดระเบียบรีสอร์ตเขาค้อบนที่ดิน รอส.ที่ทหารขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้

แน่นอนว่าหากหลุดคดีไปได้ นั่นหมายความว่าพฤติการณ์เลียนแบบของผู้ประกอบการรีสอร์ตบนเขาค้อจะใช้บรรทัดฐานเช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะขณะที่คดีรุกป่าถูกสั่งไม่ฟ้อง..ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบูรณ์ที่บังคับใช้ตั้งแต่ 18 ม.ค. 60 ซึ่งข้อ 11 ระบุถึงที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ให้ดำเนินการประกอบกิจการได้ในอาคารบ้านพักหรือรีสอร์ตที่มีขนาดพื้นที่อาคารไม่เกิน 200 ตารางเมตร ความสูงวัดจากพื้นดินถึงดาดฟ้าไม่เกิน 6 เมตร แต่ข้อห้ามนี้ก็ไม่สามารถบังคับใช้กับโรงแรมตามกฎหมายโรงแรมได้

นั่นทำให้อาคารขนาดใหญ่-รีสอร์ตตึกสูงผุดเต็มเขาค้อทุกวันนี้

พ.ท.เกียรติอุดม นาดี ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 28 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เพราะ อบต.เขาค้อยังไม่ออกพระราชบัญญัติควบคุมอาคารและผังเมืองควบคู่เหมือนจังหวัดเพชรบูรณ์เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ซึ่งผู้ว่าฯ จะต้องอาศัยใช้กฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มอบอำนาจให้นายก อบต.เขาค้อเป็นหนึ่งในคณะกรรมการดูแลป่าสงวนแห่งชาติ แล้วให้อำนาจนายก อบต.เขาค้อดำเนินการจัดผังเมืองเองได้ จากนั้นก็สามารถอ้าง กฎกระทรวงตามผังเมืองของจังหวัดควบคู่ไปด้วย

“แม้ดูแล้วแก้ไม่ยากนัก แต่ต้องอาศัยเวลาและอำนาจจากผู้ว่าฯ เพรชรบูรณ์เดินหน้าแก้ไขเท่านั้น”

ล่าสุด พล.ท.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน.ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ-เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสั่งรื้อคดีเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ เน้นเฉพาะสำนวนที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดว่าทั้งอัยการและตำรวจที่ร่วมทำคดีจนรีสอร์ตหลุด..ถูกเด้ง!!

เพราะประเมินดูแล้วพบว่ารูปแบบเส้นทางเดินคดีส่วนใหญ่จบเหมือนกัน คือ หลักฐานไม่พอฟ้อง

โดยจะเสนอตั้งคณะกรรมขึ้นมาใหม่ 1 ชุดเพื่อหยิบยกการแก้ไขปัญหา รอส.บูรณาการแนวทางแก้ไขปัญหาเขาค้อ ทั้งข้อกฎหมายที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง และการจัดระเบียบรวมทั้งการบังคับ พ.ร.บ.ผังเมืองและควบคุมอาคาร โดยจะต้องนำเรียนนายกรัฐมนตรีก่อนดำเนินการเร็วๆ นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น