เพชรบูรณ์ - สางปมปัญหานายทุนแห่ฮุบ “เขาค้อ” เรื้อรังมานานกว่าทศวรรษวันนี้ยังแก้ไม่ได้ พบรีสอร์ตหรู-บ้านพักไฮโซผุดเกลื่อนยอดภูทั้งอำเภอ เจ้าหน้าที่เพียรจับดำเนินคดี สุดท้ายหลุดหมด ล่าสุดตึกยักษ์ค่านับร้อยล้านโผล่กลางที่ดิน รอส.มีหลักฐานร่วมทุนหราบน สภ.เขาค้อยังสั่งไม่ฟ้อง
สิ้นเสียงปืนแตกบน “สมรภูมิเขาค้อ” กลายเป็นพื้นที่รองรับ ผกค.ที่กลายเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย-ราษฎรอาสา (รอส.)” ตามนโยบาย 66/23 ที่ใช้ยุทธวิธีการเมืองนำการทหาร
กองทัพภาคที่ 3-กองทัพบกได้เสนอขอใช้ประโยชน์พื้นที่บนเขาค้อจากกรมป่าไม้ตั้งแต่ปี 2524 จัดสรรพื้นที่ให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย-ราษฎรอาสา (รอส.) เข้าทำกิน ทำเกษตรกรรมตลอดแนวสองฝั่งถนนตั้งแต่สามแยกแคมป์สน อ.แคมป์สน-อ.เขาค้อ ในลักษณะเป็น “รัฐกันชน”
โดยมอบที่ดินให้ รอส.ถือกรรมสิทธิ์ และครอบครองที่ดินจัดสรรใน 4 ตำบล 32 หมู่บ้าน คือ ต.สะเดาะพง, ต.ริมสีม่วง, ต.เขาค้อ และ ต.หนองแม่นา บนพื้นที่ที่กองทัพภาคที่ 3 ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้เป็นเวลา 30 ปี เช่น
1. พื้นที่ 57,500 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ทำกินถัดจากแนวถนนนางั่ว-หนองแม่นา 1 กม.จำนวน 40,000 ไร่ และตลอดแนวระยะ 1 กิโลเมตรของถนนเขาค้อ-สะเดาะพง จำนวน 17,500 ไร่
2. ที่ดินตลอดแถวระยะ 1 กิโลเมตร ของถนนป่าแดง-หนองแม่นา จำนวน 30,000 ไร่ และระยะตลอดแถวถนน 1 กิโลเมตรเขาช่องลม-บุ่งน้ำเต้า จำนวน 20,875 ไร่ ซึ่งหมดอายุครบสัญญาขอยืมพื้นที่ในปี 2552
3. พื้นที่ริมถนนบ้านเล่าลือ และเพชรดำ จำนวน 5,625 ไร่ ครบสัญญาขอยืมพื้นที่ในปี 2556
4. พื้นที่ดินที่เหลือแถบ ต.ริมสีม่วง คือ บ้านเล่าลี่ และบ้านเพชรช่วย ครบสัญญาขอยืมพื้นที่จากกรมป่าไม้ในปี 2559
ปัจจุบันกองทัพได้ส่งคืนที่ดินเขาค้อที่ขอใช้ประโยชน์ให้กรมป่าไม้ทั้งหมดแล้ว เพียงแต่ยังไม่สมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม กว่า 10 ปีที่ผ่านมา กองกิจการพลเรือน กองพลทหารม้าที่ 1 เพชรบูรณ์ ตรวจสอบพบว่ามีปัญหาการบุกรุกของนายทุน มีการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน รอส.เนื่องจากที่ดินที่มีเอกสารสิทธิแถบอำเภอเขาค้อถูกกว้านซื้อทำรีสอร์ตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ริมถนนพิษณุโลก-หล่มสัก ผ่านทางสามแยก ต.แคมป์สน และริมถนนนางั่ว-หนองแม่นา
แม้ว่าตลอดระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมากองพลทหารม้าที่ 1 เพชรบูรณ์-กองทัพภาคที่ 3 พยายามจัดการปัญหาการขายสิทธิถือครองที่ดิน รอส.ให้นายทุนทำรีสอร์ตมาอย่างต่อเนื่อง
เช่น ในยุค พล.อ.จิรเดช คชรัตน์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 เคยบอกว่า รอส.ทำผิดก็ต้องยึดคืน และจัดสรรให้บุคคลอื่นเพราะผิดเงื่อนไขที่กองทัพจัดสรรที่ดินให้ พร้อมจะเอาผิดผู้บุกรุก หรือกลุ่มทุนที่เข้าถือครองที่ดิน รอส. แต่สุดท้ายเรื่องเงียบ ทำให้มีการบุกรุกซื้อขายเปลี่ยนมือเพิ่ม
ต่อมายุค พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร สมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 เคยทำเรื่องถึงอธิบดีกรมป่าไม้ ขอต่อสัญญาใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อ แต่ไม่มีความคืบหน้าจากกรมป่าไม้ ยิ่งทำให้การกว้านซื้อที่ดิน รอส.เพิ่มมากขึ้น
สมัยนั้น ราษฎรอาสาถูกสอบสวนว่าทำผิดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดิน รอส.จำนวน 33 รายเท่านั้น เช่น “ไร่ภูชิดดาว” หมู่ 1 ต.หนองแม่นา, รีสอร์ต “สวนสนสวย” หมู่ 2 ต.หนองแม่นา, บ้านเนินน้ำ, ภูทะเลหมอก, พรสวรรค์ 2, รีสอร์ตภูแสงจันทร์, รีสอร์ตดอกจำปี, วิวเขาค้อ อ.เขาค้อ, รีสอร์ต “บ้านธติญา”, รีสอร์ต “ดอยข้าวกล้า”, รีสอร์ต “บ้านรัชดา”, รีสอร์ต “สุชาวดี รีสอร์ท” อ.เขาค้อ, บ้านปีกไม้, เขาค้อแฮปปีโฮม, ภูเมฆหมอก, บ้านโปร่งฟ้า, ไร่ภูชิดดาว, ภูเพชรลดา, กุหลาบดอย, บ้านไร่ดอกจำปี
ส่วนรีสอร์ตราษฎรอาสา (รอส.) ครอบครองจริง เพียงแต่ให้ทายาทดำเนินการ เช่น บ้านเบญจพล ไร่จันทน์แรม ไร่วันเย็น บ้านห้าทิศ จินตนาลอดจ์, บ้านกชมน บ้านสวนหมอก ชมฟ้ารีสอร์ต กลวัชรลอดจ์
ซึ่งนั่นเป็นข้อมูลสำรวจเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันรีสอร์ตผุดจนเกลื่อนทั้งเขาค้อจนนับไม่ถ้วนแล้ว!! นายทุนต่างถิ่นยังคงมุ่งหน้ายึด “เขาค้อ” สมรภูมิในอดีต ที่กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นสวยงามจากสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี
ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มนายทุนรายใหม่หันมากว้านซื้อที่ดินลึกเข้าไปแถบ ต.ทุ่งสมอ ต.เขาค้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินไม่มีโฉนด และเป็นที่ดิน รอส.จนถึงแถบ ต.หนองแม่นา ชนิดที่ว่าแทบสิ้นสภาพที่ รอส.แล้วก็ว่าได้
กระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ทหาร ป่าไม้ และฝ่ายปกครองลุยตรวจสอบตึกขนาดใหญ่บนที่ดิน รอส. บ้านส่งคุ้ม ต.เขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กองทัพภาคที่ 3 ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ ทำให้ปม “ฮุบที่ รอส.เขาค้อ” ร้อนขึ้นมาอีกรอบ
แต่ ณ วันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูเหมือนจะไม่ยอมรับการเป็น “แม่งาน-เจ้าของพื้นที่” แม้ว่ากองทัพภาคที่ 3 ยืนยันส่งมอบพื้นที่ไปหมดแล้ว แต่ทางกรมป่าไม้ระบุว่าให้ดูรายละเอียดแนบท้าย..พูดง่ายๆ คือ กองทัพคืนเฉพาะพื้นที่ แต่คน (รอส.) ยังอยู่ในพื้นที่ ทำให้กรมป่าไม้ไม่รับคืน กลายเป็นช่องโหว่ ยากต่อการแก้ปัญหา ปล่อยเกียร์ว่างกันมานานนับ 10 ปีจนถึงปัจจุบัน
ทำให้หลายคดีที่กรมป่าไม้, ทหาร และฝ่ายปกครองเข้าจับกุมดำเนินคดีนายทุนสวมสิทธิ รอส.เขาค้อ..แต่สุดท้ายก็หลุดคดีด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ผู้บุกรุกขาดเจตนา, หลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ฯลฯ
รวมถึงกรณีล่าสุด..คดีตึกยักษ์มูลค่านับร้อยล้านบนยอดเขาค้อบ้านส่งคุ้ม..อัยการสั่งไม่ฟ้อง ขณะที่ทหารทำได้เพียงสั่งให้หยุดก่อสร้างไปก่อนเท่านั้น ทั้งที่มีหลักฐานการร่วมทุนระหว่างนายทุนนอกพื้นที่กับ รอส.ผู้ครอบครองที่ดินเดิมชัดเจน คือ “บันทึกประจำวัน สภ.เขาค้อ เมื่อปี 58” ขณะที่ตัว รอส.ผู้ครอบครองสิทธิก็ย้ายไปอยู่บ้านวังน้ำคู้ อ.เมืองพิษณุโลกแล้ว
ทั้งนี้ แม้เงื่อนไขท้ายหนังสือการอนุญาตการเข้าทำประโยชน์ที่ดิน รอส.ระบุถึง 9 ข้อคำสั่งห้าม..แต่วันนี้ที่ดินบนเขาค้อส่วนใหญ่กลับถูกพัฒนาเป็นรีสอร์ตยกกันทั้งอำเภอเขาค้อ และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
จากการสำรวจปี 2560 พบที่ดิน รอส.ใน 5 ตำบล คือ หนองแม่นา ริมสีม่วง เขาค้อ สะเดาะพง ทุ่งสมอ รวมทั้งสิ้น 7,563 แปลง เนื้อที่ 61,929 ไร่ มีการบุกรุกเพิ่ม 7,563 แปลง จำนวน 61,929 ไร่ และจากยอด รอส.ทั้งหมด 1,542 ราย พบว่าทำถูกเงื่อนไขเพียง 490 ราย ที่เหลือ 1,052 ราย..ผิดเงื่อนไขทั้งหมด
เมื่อปี 60 สำรวจพบรีสอร์ตนอกแปลง รอส. (รุกป่าฯ) จำนวน 135 ราย ปี 61 พบรีสอร์ตรุกป่าเพิ่มอีก 191 ราย
นายทหารระดับเสนาธิการ กองทัพภาคที่ 3 เปรยถึงกรณีคำถามที่ว่า “ทำผิดเงื่อนไข ต้องมีคำสั่งปลด คำว่า “รอส.” หรือไม่ !? โดยยืนยันว่าไม่จำเป็นที่กองทัพภาคที่ 3 ต้องลงนามคำสั่ง “ปลด” เหตุ รอส.ทำผิด เมื่อผู้ใดทำผิดก็ถูกปลดไปโดยอัตโนมัติ กฎหมายสามารถบังคับใช้เหมือนประชาชนทั่วไป ไม่มียกเว้น
อย่างไรก็ตาม หลายคนยังคงตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่รีสอร์ตภูทับเบิกถูกทุบรื้อถอนด้วย ม.44 แต่..รีสอร์ตไฮโซเขาค้อ ทำไมไม่ถูกทุบ!?