ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายก อบต.เขาไม้แก้ว ฟิวส์ขาด อัดเมืองพัทยาสร้างปัญหาเข้าข่าย “เหยียบย่ำ” ไม่ให้เกียรติกัน ทำชาวบ้านในพื้นที่บอบช้ำมานานจากปัญหาขยะ ยันให้เร่งขนถ่ายขยะติดเชื้อ 120 ตัน ออกจากพื้นที่ใน 20 วัน และจะไม่อนุญาตให้ทำจุดพักขยะอีกจนกว่าจะทำประชาพิจารณ์ หากยังดื้อดึงพร้อมแจ้งความดำเนินคดี
วันนี้ (24 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีชาวบ้านใน ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ร้องเรียนเรื่องปัญหาขยะติดเชื้อตกค้างจากโรงพยาบาล และสถานพยาบาลในเมืองพัทยาและใกล้เคียง จนสร้างความเดือดร้อนรำคาญ และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ว่า ล่าสุด นายจำเนียร กีทีปกูล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว ได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมีนายสุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา ว่าที่ พ.ต.ชาติชาย ศรีโพธิ์อ่อน ปลัดอาวุโสอำเภอบางละมุง ตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ภาคเอกชนผู้รับเหมาการจัดเก็บ และกำจัดขยะติดเชื้อเมืองพัทยา รวมทั้งผู้นำชุมชน และชาวบ้านเข้าร่วม
นายจำเนียร เผยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ปิดกั้นพื้นที่เพื่อไม่ให้เมืองพัทยาขนถ่ายขยะมาฝังกลบในที่ดิน 140 ไร่ ต.เขาไม้แก้ว มานานแล้ว เนื่องจากมีปัญหาขยะล้นนับแสนตัน และสร้างปัญหามลพิษรุนแรง แต่ก็ยังมีข้อตกลงให้นำขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล และสถานพยาบาลในเมืองพัทยา และใกล้เคียงขนมาพักที่เตาเผาขยะติดเชื้อเดิมซึ่งมีความเสื่อมโทรม และไม่สามารถใช้การได้ ซึ่งในแต่ละวันมีมากถึง 900 กิโลกรัม ถึง 1 ตัน เพื่อรอขนไปกำจัดอีกครั้งที่จังหวัดนนทบุรีตามขั้นตอน แต่ปรากฏว่า ช่วง 1 เดือนหลังมานี้กลับมีแต่การขนขยะติดเชื้อมากองพักไว้โดยไม่ขนไปกำจัด ทำให้เกิดปัญหาขยะติดเชื้อตกค้างกว่า 120 ตัน สร้างปัญหาความเดือดร้อน มลพิษที่รุนแรง และความหวาดวิตกให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก
“ขอให้เมืองพัทยาเร่งแก้ไขด่วน ไม่ใช่ส่งคนรับผิดชอบที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจมาพูดคุยกับชาวบ้าน ดีแต่รับปากว่าจะไปหารือผู้บริหาร แต่สุดท้ายปัญหาก็ยังเกิดขึ้นซ้ำซากอีก จนชาวบ้านทนแบกรับความเดือดร้อนไม่ไหวแล้ว การทำแบบนี้เรียกว่า “การเหยียบย่ำกัน” และถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติคนเขาไม้แก้วแต่อย่างใด แล้วยังมีหน้าจะเชิญไปดูงานโรงงานเตาเผาขยะที่ กทม. มองว่าสมควรจะให้ความร่วมมือหรือไม่ ขณะที่ปัจจุบันจากการสำรวจและร้องเรียนของชาวบ้านพบว่า มีผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยที่ระบุว่า เกิดจากมลพิษของขยะกว่า 11 ราย ป่วยเป็นโรคทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ และมะเร็ง แม้จะไม่สามารถระบุสาเหตุหลักได้ แต่เมืองพัทยาก็ต้องเข้ามาเยียวยาหรือดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพแหล่งน้ำด้วยว่ามีการปนเปื้อนของมลพิษจากขยะติดเชื้อหรือไม่ เพราะเขตตำบลเขาไม้แก้ว มีโครงการประปาหมู่บ้านที่แจกจ่ายไปกว่า 100 ครัวเรือน ที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากกรณีดังกล่าว”
นายจำเนียร ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เมืองพัทยาต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนใน 5 ข้อ คือ 1.เร่งฉีดพ่นสารเคมีที่กองขยะติดเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อและกำจัดกลิ่น 2.ทำการเก็บขนให้แล้วเสร็จทั้ง 120 ตัน ในระยะเวลา 20 วัน หรือประมาณวันละ 6-7 ตัน 3.ทุกขั้นตอนต้องดำเนินการตามกฎหมาย พ.ร.บ.สาธารณสุข และต้องได้รับอนุญาตจากท้องถิ่นเท่านั้น 4.ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณจุดพักขยะ และแหล่งน้ำใกล้เคียง และ 5.ต้องทำการตรวจรักษา และเยียวยาผู้ป่วยจากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่การขนถ่ายขยะติดเชื้อของใหม่ประมาณวันละ 1 ตันเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อพักก่อนนำไปกำจัดนั้น จากนี้ทางท้องถิ่นจะไม่มีการอนุญาต หากจะดำเนินการต้องผ่านการประชาพิจารณ์จากประชาชนก่อน หากยังดื้อดึงก็จะแจ้งดำเนินคดีตามกฎหมาย
ขณะที่ตัวแทนชาวบ้าน ระบุว่า ที่ผ่านมาเมืองพัทยาสร้างความบอบช้ำให้ชาวบ้านเขาไม้แก้วเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่เคยมาดูแล หรือเยียวยาอะไรจนปัญหาลุกลามใหญ่ โดยจะเห็นได้จากที่ผ่านมามีคนป่วย และเสียชีวิตจากโรคปอด และโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก ขณะที่แนวโน้มผู้ป่วยก็มีจำนวนสูงขึ้นต่อเนื่อง จนทุกคนอยากจะย้ายออกจากพื้นที่แต่ติดที่ปัญหาความยากจนจึงต้องทนกันต่อไป ขณะที่ปัญหาติดเชื้อก็ไม่แก้ไขปล่อยให้มีการตกค้าง กระทั่งชาวบ้านไปพบเห็น และได้รับผลกระทบเองจนเกิดการร้องเรียนขึ้น
นายสุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา กล่าวชี้แจงว่า ปัญหาขยะตกค้างที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบมาจากเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างตามโครงสร้างใหม่ หลังภาคเอกชนผู้เก็บขนและกำจัดหมดสัญญาลงไป จึงทำให้การว่าจ้างภาคเอกชนรายใหม่ล่าช้าส่งผลให้เกิดปัญหาขยะติดเชื้อตกค้าง ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นกับ อปท.เกือบทุกแห่ง แต่เมืองพัทยาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามหาแนวทางแก้ไขเต็มที่ กระทั่งมีการเซ็นว่าจ้างบริษัท ไทย เอนวายรอนเมนต์ มาเก็บขน และจ้าง บ.มิสไนติงเกล เฮลแคร์ ในสัญญา 1 ปี เพื่อกำจัด โดยกำหนดขอบเขตงานให้ขนไปกำจัดที่เตาเผาในพื้นที่ของ จ.นครสวรรค์ แทนที่เดิมที่ จ.นนทบุรี เนื่องจากได้รับแจ้งว่าปริมาณขยะติดเชื้อที่นนทบุรีนั้นเกินความสามารถในการกำจัดไปแล้ว
โดยจากการหารือกับทางภาคเอกชนก็จะได้เร่งรัดให้เข้ามาดำเนินภายในวันนี้ หลังจากที่ทางท้องถิ่นได้ลงนามอนุมัติให้ จากนั้นก็จะได้ดำเนินการในส่วนที่เรียกร้อง ได้แก่ การตรวจรักษา และการตรวจคุณภาพน้ำ ขณะที่การเยียวยาผู้ป่วย และการขอยกเลิกการนำขยะติดเชื้อมาพักนั้นคงจะมีการหารือกับผู้บริหารเมืองพัทยาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของการประชุม ได้มีผลสรุปที่จะให้เมืองพัทยาเชิญตัวแทนผู้มีอำนาจตัดสินใจในการเข้าพบปะเจรจากับเทศบาล และชาวบ้านอีกครั้งอย่างเร่งด่วน เพื่อรับฟังปัญหารวมทั้งลงนามความร่วมมืออย่างจริงจังเพื่อลดปัญหาในอนาคต