นครสวรรค์ - น่าทึ่ง..เกษตรกรปากน้ำโพเห็นคลิปเลี้ยงหนูนาจากโลกออนไลน์ ตัดสินใจลงทุนสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงหนูนาส่งขายทั้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์-ลูกหนู แค่ 7 เดือนทำเงินได้เป็นแสนต่อเดือน แถมพอเปิดฟาร์มให้คนมาศึกษายอดขายพุ่งจนไม่พอขาย ต้องประกาศรับซื้อหนูจากชาวบ้านแบบไม่อั้น
นายสมศักดิ์ ชื่นจิตร อายุ 61 ปี เกษตรกรในพื้นที่หมู่ 3 ต.มหาโพธิ์ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ ได้นำผู้สื่อข่าวเข้าดูฟาร์มเลี้ยงหนูนาของตนเองบนพื้นที่ 1.5 ไร่ ที่เพิ่งเปิดมาได้เพียง 7 เดือน และเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงหนูนาขายแห่งเดียวในจังหวัดที่สามารถสร้างรายได้ต่อเดือนมากกว่า 1 แสนบาท
โดยนายสมศักดิ์ได้สร้างโรงเรือนเพาะเลี้ยงแยกเป็น 2 ส่วน คือ โรงเพาะเลี้ยงหนูนาวัย 10 วัน และอีกส่วนหนึ่งเป็นหนูนาโตเต็มวัย มีการขึงตะแกรงเหล็กรอบโรงเลี้ยงเอาไว้อย่างแน่นหนา จากนั้นใช้บ่อปูนซีเมนต์แบบมีฝาปิดจำนวนหลายบ่อมาวางเรียงราย พร้อมกับนำฟางมาปิดปกคลุม ก่อนเจาะรูที่ฝาและด้านข้างบ่อให้เชื่อมต่อระหว่างกัน เพื่อให้หนูสามารถวิ่งออกมากินอาหาร และไปมาระหว่างบ่อได้อย่างอิสระ
นายสมศักดิ์เล่าว่า ตนเห็นคลิปการเลี้ยงหนูนาด้วยบ่อปูนซีเมนต์ในพื้นที่ทางภาคอีสานจากยูทูป จึงเกิดความสนใจอยากจะเพาะเลี้ยงบ้าง เพราะมองว่าขณะนี้หนูนาหายากขึ้น แต่ยังเป็นที่นิยมนำมาทำอาหารของผู้คน และดูจากวิธีการเลี้ยงแล้วไม่ยาก เพราะหนูนาเลี้ยงง่าย โตไว ขยายพันธุ์กันได้รวดเร็ว อีกทั้งอาหารที่ใช้เลี้ยง เช่น อ้อย ข้าวเปลือก และมันสำปะหลัง ยังมีราคาถูกอีกด้วย
ส่วนตลาดการค้าหนูนาจะมี 2 รูปแบบ คือ ขายพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ และขายลูกหนูนาวัย 10 วันให้แก่ผู้ที่สนใจนำไปเพาะเลี้ยงในบ่อตามที่ตนสาธิตให้ดู จนกระทั่งโตมีอายุ 2 เดือนตนจะไปรับซื้อคืนในราคาตัวละ 100 บาท เพื่อนำไปขายต่อยังตลาดรับซื้อแถบชายแดนเขมร ซึ่งให้ราคารับซื้อสูงถึงตัวละ 200 บาทเลยทีเดียว
“ก่อนหน้านี้ผมมีรายได้จากการเพาะเลี้ยงหนูนาส่งขายตกเดือนละแสนกว่าบาท แต่หลังปีใหม่เป็นต้นมาได้เปิดฟาร์มให้คนเข้ามาศึกษา และขายหนูนาให้ผู้ที่สนใจนำไปเพาะเลี้ยงด้วย ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้ามาศึกษาและติดต่อขอซื้อกันอย่างล้นหลาม เพียง 4 วัน ผมมีรายได้แสนกว่าบาทแล้ว และก็ยังมีชาวบ้านให้ความสนใจเข้ามาติดต่อขอซื้อหนูนานำไปเพาะเลี้ยงอย่างต่อเนื่องด้วย มองว่าอาชีพนี้สามารถจะทำเป็นงานอดิเรก หรือทำควบคู่ไปกับการทำเกษตรอื่นได้ หรือจะยึดไว้เป็นงานหลัก ก็ถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ได้ดีทีเดียว”
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ประชากรหนูนาลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากเกษตรกรใช้ยาเบื่อหนู และใช้กระแสไฟฟ้าซ็อตบ้าง ในขณะที่กระแสความนิยมในการบริโภคหนูนายังสูง ตลาดขาดแคลนหนูนา เท่าที่ทราบขณะนี้ต้องนำเข้าหนูนาจากประเทศเพื่อนบ้านวันละนับสิบตันทีเดียว
ขณะนี้ก็ได้ขยายเครือข่ายไปยังฟาร์มอื่นๆ ในพื้นที่นครสวรรค์ และข้างเคียง โดยทุกวันจะต้องนำลูกหนูนาไปส่งให้ฟาร์มในจังหวัดอุทัยธานี พิจิตร สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี และจังหวัดทางภาคเหนือ อีสาน อีก 10 กว่าจังหวัด เพื่อให้ลูกฟาร์มเหล่านั้นได้มีหนูนาเลี้ยง
นายสมศักดิ์บอกอีกว่า พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์หนูนาตัวละ 200 บาท ขายได้ทุกวัน วันละพันกว่าตัว ยังมีโควตาสั่งจองอีกกว่าหมื่นตัว แต่หาหนูนาส่งขยายพันธุ์ไม่ได้ จึงต้องประกาศรับซื้อหนูนาจากชาวบ้านไม่อั้นตัวละร้อยบาท เวลานี้ชาวบ้านในอำเภอเก้าเลี้ยว บรรพตพิสัย ท่าตะโก ทราบข่าวก็ไปดักจับหนูนามาขายให้ตนกันเป็นจำนวนมาก ทุกคืนชาวบ้านจะไปดักจับหนูนาตามป่าอ้อย ทุ่งนา ได้กันครอบครัวละ 5-10 ตัว สร้างรายได้นับพันบาทเลยทีเดียว ตนตั้งใจว่าใน 3 ปีนี้จะเลี้ยงหนูขยายพันธุ์เรื่อยๆ จากนั้นจะจับขายเนื้อด้วย
“ตอนนี้เกษตรกรที่เลี้ยงหมูแล้วเจ๊ง ปรับตัวหันมาเลี้ยงหนูนากันเกือบหมดแล้ว”