xs
xsm
sm
md
lg

ขยาย 4 เลนให้ได้ก่อน ชาวบ้านติง สนข.ฝันยกพิษณุโลกเป็น “ลอจิสติกส์ฮับ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - สนข.เปิดเวทีผลการศึกษาและรับฟังความเห็นชาวบ้านอีกระลอก โปรยยาหอม พิษณุโลกเป็นลอจิสติกส์ฮับ ยกระดับคมนาคมขนส่งสู่อาเซียน แต่ปัจจุบัน ถนนจาก กทม.เข้าพิษณุโลกสู่ประตูภาคเหนือ (หมายเลข 11) ถือว่าระยะทางสั้นกว่า เมื่อผ่าน อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ไร้การพัฒนา ถนนยังเป็น 2 เลนอยู่

วันนี้ (22 ธ.ค.) ที่โรงแรมแกรนด์ริเวอร์ไซค์ อ.เมือง จังหวัดพิษณุโลก นายเกรียงวิชญ์ เตชวิทยไวทิน ปลัดจังหวัดพิษณุโลก และนางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ร่วมเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ ศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้าจังหวัดพิษณุโลก (Logistics Hub) เพื่อนำเสนอผลสรุปของโครงการ รูปแบบของ Logistics Hub ที่เหมาะสม ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ และแผนดำเนินการในระยะต่อไป โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในหลายอาชีพ

ทั้งนี้ พิษณุโลก เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนล่างเชื่อมโยงภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังอยู่ในแนวเส้นทาง North-South Economic Corridor (NSEC) East-West Economic Corridor (EWEC) สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศพม่า สปป.ลาว เวียดนาม และประเทศจีนตอนใต้ พิษณุโลก จึงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าการบริการในภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้พิษณุโลกต้องศึกษาถึงความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้า จังหวัดพิษณุโลก (Logistics Hub)

นโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ดังปรากฏในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) คือ การขับเคลื่อนการพัฒนาลอจิสติกส์และโซ่อุปทานให้สัมฤทธิผล และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบลอจิสติกส์ รวมถึงเป้าหมายด้านยุทธศาสตร์ ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาด้วยการสัมมนาวันนี้ เพียงนำเสนอผลการศึกษาซึ่งเป็นร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ และเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แสดงออกถึงการร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาประเทศระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน

ผลการศึกษาบอกว่า พิษณุโลก มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็น “เขตอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ หรือ Freight Village” ผสมผสานกับ “ศูนย์การขนส่งและโลจิสติกส์ หรือTransport Logistics Hub” เนื่องจากเป็นเมืองที่มีระบบการขนส่งหลากหลายรูปแบบ เชื่อมโยงเส้นทางระหว่างภูมิภาคได้ พบว่า ตำบลบึงพระ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก สามารถเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งที่มีในพื้นที่ไปยังศูนย์ลอจิสติกส์ได้อย่างสะดวก อีกทั้งยังใกล้แหล่งผลิตสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่

การพัฒนาแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2565 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้าทางถนน และการก่อสร้างพื้นที่สำหรับให้หน่วยงานเอกชนเช่า ระยะที่ 2 ปี 2570 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่สำหรับการขนส่งสินค้าทางราง ระยะที่ 3 ปี 2580 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่เขตปลอดภาษี (Free Zone) คาดว่าใช้งบประมาณรวม 2,500 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) คิดเป็นร้อยละ 15 โดยมีแนวคิดที่จะให้เอกชนร่วมพัฒนา และบริหารจัดการ เพื่อให้การพัฒนาเกิดความคล่องตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ยังไม่มีผลสรุปว่าจะเลือกรูปแบบ Logistics Hub ของการบริหารและกระจายสินค้าจังหวัดพิษณุโลก (Logistics Hub) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมได้ทวงติงหลายคน เช่น ไม่อยากให้นำข้อมูลในวันนี้ขึ้นหิ้ง หรือเก็บไว้ในแฟ้ม จะต้องร่วมกันผลักดันเพื่อเสนอของบประมาณต่อไป อีกทั้งที่ผ่านมา ได้มีบทวิเคราะห์วิจัยต่างๆ ที่พิษณุโลก ทั้งระบบขนส่งทางราง ระบบรถไฟรางคู่ ระบบรถไฟความเร็วสูง หรือแม้แต่ระบบขนส่งโมโนเรล ระบบล้อยาง แต่ทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นจริงในจังหวัดพิษณุโลก มีเพียงการศึกษา และประชาพิจารณ์เท่านั้น

ผู้เข้าร่วมประชุมระบุว่า ระบบลอจิสติกส์ คือ การขนส่งที่ระยะทางสั้นที่สุด และราคาขนส่งถูกที่สุด เช่น ถนนสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก (ทางหลวงหมายเลข 11 แยก อ.ตากฟ้า จ.นครวรรค์) ถือว่าระยะทางสั้นกว่าถนนสาย 117 กลับไม่มีการพัฒนามาร่วม 20 ปี ปัจจุบัน ยังเป็นถนน 2 เลนเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าผู้นำท้องถิ่น จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์ ได้เสนอขอขยายถนนเป็น 4 เลน ให้ครบตลอดทั้งเส้น แต่ปัจจุบันถนนยังไม่ได้รับการปรับปรุง

ซึ่งแขวงการทาง แจ้งเพียงว่า ถนนขึ้นเหนือ หมายเลข 11 จาก อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ผ่าน อ.เขาทราย ถึงพิษณุโลก นั้น ไม่ได้บรรจุเป็นถนนหลัก มุ่งหน้าไปเชียงราย-เชียงใหม่ โดยเลือกใช้เส้นทางขึ้นเหนือนครสวรรค์ หมายเลข 117 แทน ทำให้ถนนสาย 11 อยู่ในความดูแลเพียงแขวงการทาง หมวดการทางเท่านั้น ซึ่งมีแค่งบประมาณปรับปรุงเล็กน้อย หากจะพัฒนาสมบูรณ์จะต้องให้รัฐบาลสั่งกรมทางหลวง ยกฐานะเป็นถนนสายหลัก (หมายเลข 11) อีกเส้นหนึ่งเพื่อระบายการจราจรสู่ประตูภาคเหนือ หรือเลี่ยงรถติดตัวเมืองนครสวรรค์เท่านั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น