xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ไขข้อสงสัยตั้งกรมรางฯ ยันไม่แทรกแซงบริษัทลูกรถไฟฯ และไม่โอนทรัพย์สินให้เอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข.แจง 4 ประเด็นข้อสงสัยตั้งกรมการขนส่งทางราง เผยสมาพันธ์คนงานรถไฟไทยคัดค้านอาจยังเข้าใจคลาดเคลื่อน ย้ำตั้งกรมรางเพื่อกำกับมาตรฐานบริการ ค่าโดยสาร ยกระดับขนส่งทางรางไทย ยืนยัน รับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามขั้นตอน ส่วนอำนาจอธิบดีสั่งการเฉพาะกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และกรมรางไม่มีสิทธิ์แทรกแซง 2 บริษัทลูกรถไฟ และไม่มีมาตราใดที่บัญญัติให้โอนย้ายทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท.ให้เอกชน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงการจัดตั้ง “กรมการขนส่งทางราง” กรณีที่สมาพันธ์คนงานรถไฟไทยได้มีการคัดค้าน ซึ่งอาจจะยังเข้าใจคลาดเคลื่อน ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ สนข.ดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... (การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัย โครงสร้างอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม การลงทุน การบำรุงรักษา และการบริหารจัดการ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบรางให้เป็นโครงข่ายการคมนาคมหลักของประเทศ ยกระดับมาตรฐานการขนส่งทางรางให้ทันสมัย มีความเป็นสากล สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของประชาชน และสามารถตอบสนองการดำเนินนโยบายการพัฒนาประเทศด้วยระบบการขนส่งทางรางได้อย่างมีประสิทธิผล

ซี่งประเด็นที่สมาพันธ์คนงานรถไฟไทยได้มีการยื่นหนังสือร้องทุกข์ไปยังทำเนียบรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม เพื่อคัดค้านการจัดตั้ง “กรมการขนส่งทางราง” นั้น มี 4 ข้อ คือ 1. ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ในการดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) และร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... นั้น สนข.ได้ดำเนินการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรอิสระ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สนใจ อย่างถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด จำนวนทั้งสิ้น 4 ครั้ง

โดยครั้งแรก หัวข้อ “กรมการขนส่งทางรางเพื่อการขนส่งในอนาคต” มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมประมาณ 200 คน ได้ข้อสรุปว่า การจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางจำเป็นต้องเร่งดำเนินการในรูปแบบของส่วนราชการเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการให้บริการระบบขนส่งทางราง รวมทั้งมีบทบาทในการคุ้มครองผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางราง

ครั้งที่ 2 หัวข้อ “การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง” มีผู้เข้าร่วมประมาณ 450 คน พบว่า มีผู้เห็นด้วยกับการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง 46.7% ไม่เห็นด้วย 40% และไม่ออกความเห็น 13.3%

ครั้งที่ 3 รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อ “ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....” มีผู้เข้าร่วมประมาณ 210 คน

ครั้งที่ 4 อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) และร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ซึ่งได้เห็นชอบแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2560 โดยประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงคมนาคม (www.mot.go.th) และเว็บไซต์ของ สนข. (www.otp.go.th) ระหว่างวันที่ 17-31 พฤษภาคม 2560

2. ให้อำนาจอธิบดีกรมการขนส่งทางรางเข้ามาบริหารงานแทนการกำกับดูแลนโยบาย นั้น กรมการขนส่งทางรางมีภารกิจหลักในการจัดทำข้อเสนอแนะด้านนโยบายการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง และการกำกับดูแลการขนส่งทางรางของประเทศ โดยอธิบดีฯ มีหน้าที่เสนอร่างนโยบายต่อคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง (Policy Maker) และกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง ผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการขนส่งทางราง (Regulator)

ทั้งนี้ ในร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... มีมาตรา 20 เกี่ยวกับการใช้อำนาจของอธิบดีฯ คือ กำหนดให้ “ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินและมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ อธิบดีอาจเข้าควบคุมดูแลกิจการขนส่งทางรางของผู้รับอนุญาตเป็นการชั่วคราวได้ และให้สิทธิหน้าที่และอำนาจสั่งการของผู้รับอนุญาตตกมาเป็นของกรมการขนส่งทางรางจนกว่าเหตุจำเป็นจะหมดไป

โดยให้อธิบดีรายงานต่อรัฐมนตรี” ซึ่งตามสารัตถะของมาตราดังกล่าวเป็นการกำหนดอำนาจให้อธิบดีมีหน้าที่และสามารถควบคุม สั่งการในกรณีมีเหตุฉุกเฉินเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

3. การเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาแข่งขันบนระบบราง คือการสอดแทรกให้กรมการขนส่งทางรางเข้ามาบริหารงาน ผ่านการตั้งบริษัทลูกขึ้นมา 2 บริษัท นั้น ขอชี้แจงว่า การจัดตั้งบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท.เป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพองค์กรของ ร.ฟ.ท.ในการให้บริการขนส่งทางราง โดยกรมการขนส่งทางรางมีหน้าที่เฉพาะในการกำกับดูแลให้บริษัทลูกของ ร.ฟ.ท.ที่ดำเนินกิจการให้บริการขนส่งทางราง ดำเนินการตามเกณฑ์และมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด กรมการขนส่งทางรางไม่มีอำนาจในการเข้าไปแทรกแซงการบริหารงานของบริษัทลูกทั้ง 2 บริษัท  (บริษัทเดินรถ และบริษัทซ่อมบำรุง) ของ ร.ฟ.ท.แต่อย่างใดทั้งสิ้น

4. มีการระบุให้โอนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดของ ร.ฟ.ท.ให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารแทน ถ้า พ.ร.บ.นี้ออกมา กิจการทั้งหมดจะอยู่ในมือเอกชน ขอยืนยันว่าร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....นั้น ไม่มีมาตราใดที่บัญญัติให้มีการโอนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดของ ร.ฟ.ท.ให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารแทนแต่ประการใด
กำลังโหลดความคิดเห็น