ฉะเชิงเทรา-ประชาชนแห่เฝ้าดูฝนดาวตก “เจมินิดส์” ที่แปดริ้วกันอย่างคึกคัก ขณะกลุ่มนักเรียนนอนนับดาวได้อัตราตกเฉลี่ยเพียง 40 ดวงต่อชั่วโมง นักดาราศาสตร์ระบุ เวลาปะทะสูงสุดเป็นช่วงเวลากลางวันที่ผ่านไปจึงทำให้อัตราตกเฉลี่ยไม่ถึง 120 ดวงต่อชั่วโมงตามที่คาดไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการแห่ชมปรากฏการณ์ฝนดาวตก “เจมินิดส์” ของประชาชนที่่สนใจด้านดาราศาสตร์ทั้งจากในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และหลายจังหวัดภาคตะวันออก ที่พากันเดินทางมาเฝ้ารอชม และเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งนักดาราศาสตร์ ร่วมกับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ประจำภูมิภาค ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทราว่า จัดขึ้นเมื่อเวลา 00.01 น.ที่ผ่านมา (15 ธ.ค.) ว่า เป็นไปอย่างคึกคัก โดยประชาชนเริ่มทยอยเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้
โดยหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ประจำภูมิภาค ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าชมท้องฟ้าจำลอง การสังเกตการณ์บนท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ดูดาว และกิจกรรมเฝ้านอนนับดาวดูฝนดาวตก “เจมินิดส์” บนลานดูดาว ที่มีประชาชนเข้ามานอนเรียงรายกระจายกันอยู่จนเต็มพื้นที่ พร้อมส่งเสียงดีใจเป็นระยะเมื่อได้เห็นปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่มีเฉดสีต่างๆ ตกลงมาจากท้องฟ้า แม้ความถี่ หรือระยะห่างของการพบเห็นจะไม่ถี่มากนักก็ตาม
นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ชาว จ.เชิงเทรา และที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ประจำภูมิภาค สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในวันนี้มีประชาชนเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายในบริเวณหอดูดาวแห่งนี้ไม่ต่ำกว่า 1 พันคน โดยเป็นการหมุนเวียนกันเข้ามา ซึ่งมีทั้งชาว จ.ฉะเชิงเทร และจากจังหวัดใกล้เคียง ทั้งที่ในช่วงหัวค่ำแม้จะมีกลุ่มเมฆมาก แต่หลังจากเวลา 21.00 น. ก็เริ่มมีดาวบนท้องฟ้า
“สำหรับในครั้งนี้อัตราการตกจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 120 ดวงต่อชั่วโมง เนื่องจากช่วงเวลาพีก หรืออัตราสูงสุดในการประทะเมื่อช่วงเวลาประมาณ 13.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งเป็นเวลากลางวันได้ผ่านพ้นไปก่อนหน้าแล้ว แต่ที่สหรัฐอเมริกา สามารถมองเห็นอัตราการตกของฝนดาวตกเจมินิดส์ ได้จำนวน 120 ดวงต่อชั่วโม เมื่อช่วงเวลา 03.00 น. ของคืนวันที่ 13 ธ.ค.60 หรือบ่ายโมงครึ่ง ของวันที่ 14 ธ.ค.60 ตามเวลาในบ้านเรา” นายวรวิทย์ กล่าว
ทั้งนี้ จากการนอนนับดาวตามหลักวิชาการอย่างถูกต้องของนักเรียน โรงเรียนหัวถนนวิทยาคม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี จำนวนกว่า 114 คน ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรม สามารถนับได้จำนวนกว่า 80 ดวง ในช่วงระหว่างเวลา 21.00-23.00 น. จึงเฉลี่ยอัตราการตกได้ประมาณ 40 ดวงต่อชั่วโมง และมีทั้งสีเขียว สีแดง สีฟ้า สีเหลือง หลากหลายสี โดยลูกไฟมีขนาดใหญ่พอสมควร