ช่วงหน้าหนาวนี้เรามักได้ยินข่าวปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และเราก็สามารถหาข้อมูลได้ล่วงหน้าทั้งวันและเวลาในการเกิดปรากฏการณ์ ดังนั้นคอลัมน์นี้จึงขอแนะนำปรากฏการณ์ที่นักถ่ายภาพดาราศาสตร์น่าจะติดตามถ่ายภาพในช่วงปีนี้กันครับ
สำหรับปรากฏการณ์ที่จะแนะนำนั้น ผมขอเลือกเอาเฉพาะปรากฏการณ์ที่นักถ่ายภาพน่าจะมีโอกาสถ่ายภาพได้ โดยจะคัดเอาเฉพาะปรากฏการณ์และวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจในการถ่ายภาพในแต่ละเดือน ที่สามารถถ่ายภาพได้โดยที่ไม่มีแสงดวงจันทร์ หรือปัจจัยอื่นมารบกวน งั้นมาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ
เดือนมีนาคม
ทางช้างเผือกในช่วงเช้า เริ่มตั้งแต่ต้นตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงประมาณวันที่ 10 มีนาคม ก็ถือเป็นช่วงที่น่าจะสามารถถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกกันได้อย่างดุดเดือด เนื่องจากในช่วงเดือนนี้ ยังถือเป็นช่วงที่ท้องฟ้ามักจะใสเคลียร์และยีงอยู่ในช่วงฤดูหนาว ปัญหาพวกฟ้าหลัวจะยังมาหนักมาก ทำให้เราสามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้แบบชัดเจน
เดือนเมษายน
ดาวพฤหัสบดี จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในคืนวันที่ 7 เมษายน ในช่วงเที่ยวคืนต่อเนื่องในวันที่ 8 เมษายน ซึ่งเป็นโอกาสดีที่เราจะสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้ชัดเจนมากที่สุดในรอบปี
นอกจากนี้ในช่วงเดือนเมษายนนี้ เรายังสามารถถ่ายภาพปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกันได้อีกด้วย เริ่มต้นที่
สงขลา วันที่ 8 เมษายน เวลา 12:19 น.
กรุงเทพฯ วันที่ 27 เมษายน เวลา 12:15 น.
โคราช วันที่ 30 เมษายน เวลา 12:08 น.
เชียงใหม่ วันที่ 14 พฤษภาคม เวลา 12:20 น.
เดือนพฤษภาคม
ฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำ (Eta Aquariids) ทางทิศตะวันออก ในช่วงวันที่ 6-7 พฤษภาคม สามารถเริ่มถ่ายภาพได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 03:00 น. จนถึงรุ่งเช้า โดยมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 10-30 ดวงต่อชั่วโมง
เดือนมิถุนายน
Micro Moon หรือดวงจันทร์เต็มดวงเล็กที่สุดในรอบปี คือช่วงที่ดวงจันทร์มีวงโคจรที่ห่างจากโลกมากที่สุด จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน ที่ระยะห่างตั้งแต่ 406,000 กิโลเมตร โดยประมาณ ทำให้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าปกติ
จากปรากฏการณ์ดังกล่าว หากเราถ่ายภาพปรากฏการณ์ Micro Moon ไว้ก็จะสามารถนำไปใช้ในการเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์ Super Moon ในช่วงที่ใกล้โลกมากที่สุดได้เป็นอย่างดี
เดือนกรกฎาคม
ฝนดาวตกเดลต้า-อควอริดส์ (Delta Aquariids) ทางทิศตะวันออก โดยสามารถเริ่มถ่ายภาพได้ตั้งแต่ช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ของวันที่ 28-29 กรกฎาคม โดยมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 16 ดวงต่อชั่วโมง
เดือนสิงหาคม
จันทรุปราคาบางส่วน ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 7 สิงหาคม ถึงเช้ามืดของวันที่ 8 สิงหาคม ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามืดของโลกตั้งแต่เวลา 00.22 น. ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกมากที่สุดในเวลา 01.20 น. และสิ้นสุดเมื่อเวลา 02.18 น. โดยจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เดือนตุลาคม
ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ (Orionids) ทางทิศตะวันออกในช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ของวันที่ วันที่ 21-22 ตุลาคม มีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 25 ดวงต่อชั่วโมง โดยสามารถเริ่มถ่ายภาพได้ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนจนถึงรุ่งเช้า โดยช่วงที่มีอัตราการตกสูงสุดตรงกับเวลา 01:20 น. ของเช้ามืดวันที่ 22 ตุลาคม
เดือนพฤศจิกายน
ดาวเคราะห์ชุมนุม ระหว่างดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี ในช่วงเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ของวันที่ 13 พฤศจิกายน ดาวศุกร์จะเคียงชิดใกล้ดาวพฤหัสบดีที่ระยะเชิงมุม เพียง 0.5 องศาเท่านั้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ดาวเคราะห์ที่สว่างทั้ง 2 ดวง เข้ามาใกล้กันที่หาชมได้ไม่บ่อยนัก
นอกจากปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุมแล้ว ในเดือนพฤศจิกายนยังมี ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ระหว่าง วันที่ 17-18 พฤศจิกายน โดยสามารถเริ่มถ่ายภาพได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 01:00 น. จนถึงรุ่งเช้า โดยมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 15 ดวงต่อชั่วโมง
เดือนธันวาคม
ซูเปอร์มูน (Super Moon) หรือปรากฏการณ์ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ตรงกับวันที่ 3 ธันวาคม โดยสามารถถ่ายภาพกฎการณ์ดังกล่าวเพื่อนำมาเปรียบเทียบขนาดกับช่วงดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในช่วงวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมาได้
นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์ฝนดาวตก ฝนดาวตกเจมินิดส์ ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม โดยสามารถเริ่มถ่ายภาพได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 20:00 – 03:00 น. โดยมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 120 ดวงต่อชั่วโมง
จากทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์และวัตถุท้องฟ้าที่เลือกมาเฉพาะที่น่าจะมีโอกาสถ่ายภาพได้และไม่มีอุปสรรคทั้งแสงของดวงจันทร์และช่วงเวลาที่น่าจะมีโอกาสถ่ายภาพได้ไม่ยากนัก ขอให้มีสนุกกับการถ่ายภาพกันนะครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน