ศูนย์ข่าวศรีราชา - สมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เชิญประปาร่วมชี้แจงสถานการณ์น้ำดิบ หวั่นส่งผลกระทบช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการเสริมทรายชายหาด หลังพบโครงการไม่คืบ
วันนี้ (9 พ.ย.) ที่โรงแรมแกรนด์โซเลย์ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร สมาชิก และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมติดตาม และพิจารณาแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และธุรกิจการท่องเที่ยว
โดยสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้เป็นการเชิญตัวแทนจากสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคเมืองพัทยา เข้าร่วมชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำดิบในพื้นที่ที่จะใช้ในการรองรับการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือไฮซีซัน ที่มีปริมาณประชาชน และนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาพักผ่อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำดังกล่าว
ด้าน นายสุทัศน์ นุชปาน ผู้จัดการสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค เมืองพัทยา ชี้แจงว่า สำหรับพื้นที่เมืองพัทยา จะมีค่าใช้น้ำเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือวันละประมาณ 1.5 แสนลูกบาศก์เมตร ขณะที่อ่างเก็บน้ำดิบ จำนวน 5 อ่าง ที่นำน้ำมาผลิตนั้นมีปริมาณความจุรวมอยู่แค่ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 50% โดยสถานการณ์น้ำปีนี้พบว่า มีปริมาณน้ำคงเหลืออยู่ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ามากกว่าปีที่ผ่านมา
สำหรับปริมาณน้ำส่วนที่ขาดนั้น ปัจจุบัน การประปาได้สูบน้ำผ่านระบบท่อส่งจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต จ.ฉะเชิงเทรา และลุ่มน้ำบางปะกง ในช่วงหน้าฝนมากักเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งปีนี้มีปริมาณน้ำดิบกว่า 117 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนสูบส่งมาที่พัทยาเพื่อทำการผลิต นอกจากนี้ ยังมีการดึงน้ำจากอ่างประแสร์ จ.จันทบุรี ที่ต่อเชื่อมระบบท่อมาลงไว้ที่อ่างหนองปลาไหล จ.ระยอง จากนั้นจึงสูบส่งเข้าระบบที่เมืองพัทยา เมื่อรวมกับน้ำที่จัดซื้อจากอีสท์วอเตอร์ และประปาสัตหีบ ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้น้ำแน่นอน 100% เนื่องจากปีนี้สถานการณ์น้ำดิบดีกว่าปีก่อนๆเป็นอย่างมาก
นายสุทัศน์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการประปาได้ขอกู้เงิน จำนวน 2,475 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบผลิตเพิ่มเติมเพื่อรองรับปริมาณผู้ใช้น้ำในอนาคต โดยมีแผนการจัดสร้างสถานีสูบเพิ่มเติมที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ที่จะแล้วเสร็จใน 2 ปี เพื่อสูบน้ำน้ำประปาที่ผ่านการบำบัดแล้ว มาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่เมืองพัทยา
นอกจากนั้น ได้มีการพัฒนาระบบท่อส่งในพื้นที่เพื่อลดปัญหาเรื่องของแรงดันท่อ และการรั่วซึม ซึ่งจะสามารถทำให้สถานการณ์น้ำดีขึ้น โดยแม้ว่าจะมีต้นทุนสูงกว่าอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากประ ชาชน แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการเพื่อความยั่งยืน และเป็นแผนในการรองรับ EEC อีกด้วย
พร้อมกันนี้ นายเอกสิทธิ์ งามพิชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ได้กล่าวถึงโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา หลังมีกระแสถึงความล่าช้าต่อโครงการดังกล่าว ขณะนี้ได้มีการประสานไปยังสำนักงานเจ้าท่าพัทยา ทราบว่า ปัจจุบันขั้นตอนของการสรรหาแหล่งทราย และผลสรุปนั้นได้นำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมไปแล้ว เพียงแต่ติดขัดใน 2 กรณี ได้แก่ 1.การรายงานด้านผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และ 2.อุปกรณ์และเครื่องมือที่จะใช้ในการดูดทรายจากแหล่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เกาะลางเกวียน ทั้งนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการชี้แจง และการจัดส่งเอกสาร ซึ่งคาดว่าจะได้ผลสรุปโดยเร็ว และสามารถดำเนินโครงการได้ภายในเดือนธันวาคม 60 นี้