ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.2 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นับเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกของประเทศไทย ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อพลิกฟื้นผืนแผ่นดิน ซึ่งมีสภาพเป็นดินทรายเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุอาหาร และวัตถุอินทรีย์จากซากพืช เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกร และชาวบ้านได้นำไปใช้ในการพัฒนา และปรับปรุงผืนดินในพื้นที่ทำกินของตน
นายอนุวัชร โพธินาม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ เล่าถึงการก่อเกิดขึ้นของศูนย์แห่งนี้ขึ้นมาว่า ในอดีตเมื่อ 60-70 ปีก่อน ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีฐานะยากจน แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์ และได้เสด็จออกเยี่ยมประชาชน จึงมีโครงการพระราชดำริเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนพื้นที่ที่เคยเสด็จไปได้รับการพัฒนา ดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับราษฎรใน อ.พนมสารคาม ที่ต้องการให้พระองค์เสด็จฯ มาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ จนเป็นที่มาของการน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินรวม 264 ไร่ จากประชาชน 7 ราย เพื่อสร้างพระตำหนักถวาย
หลังจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรพื้นที่ที่ราษฏรถวาย ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ถ้าเราไม่สร้างพระตำหนัก แต่เราจะสร้างเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตรจะเอาไหม” ทำให้ราษฎรต่างก็ยินดี และจากจุดนั้นจึงเป็นที่มาของการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งนี้ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ในวันที่ 8 ส.ค.พ.ศ.2522
แม้ในช่วงแรกบรรดาข้าราชการจะพากันไม่เห็นด้วยที่จะให้สร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพคล้ายทะเลทราย คือ ไม่มีน้ำ ไม่มีป่า ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ แม้กระทั่งมันสำปะหลังยังปลูกไม่ขึ้น
แต่พระองค์กลับมีพระราชดำรัสว่า “ถ้าบอกว่าดินไม่ดี ดินในประเทศไทยนั้นก็ยังมีดินที่ไม่ดีอีกมากมาย ถ้าเราไม่ทำอะไร สุดท้ายประเทศไทยก็จะกลายเป็นทะเลทราย” ในที่สุดทุกคนก็เข้าใจ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้สร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตด้านการเกษตรด้วย และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน โดยกำหนดให้เป็นทั้งสถานที่ศึกษาวิจัย ทดสอบ ทดลองในการพื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ให้ฟื้นกลับคืนมา รวมทั้งพัฒนาอาชีพประชาชนในพื้นที่ และให้พัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์แห่งนี้ให้มีความเจริญแก่ประชาชน
โดยมีบทบาทสำคัญ คือ 1.หลังจากได้ทำการศึกษาวิจัย ทดสอบ ทดลองเสร็จแล้ว ก็จะทำการส่งเสริมขยายผลให้เกษตรกรโดยรอบศูนย์ฯ ให้เข้ามาทำงาน เข้ามาเรียนรู้ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ 2.การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง คือ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ 3 การใช้ประโยชน์หญ้าแฝก และให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นสถานที่ขยายพันธุ์และส่งเสริมการใช้ประโยชน์หญ้าแฝก
4.ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งถือว่าที่นี่เป็นสวนสมุนไพรแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ 5.เป็นศูนย์ฝึกอาชีพด้านต่างๆ จาก 12 หน่วยงาน
ทำให้เกษตรกรที่เคยได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบอาชีพ ได้นำความรู้ไปปรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่ทำกินของตนเอง โดยเฉพาะด้านการปรับปรุงดิน จากเดิมที่เคยเพาะปลูกมันสำปะหลังไม่ได้ ก็กลับมาเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ภายใต้การใช้ปุ๋ยพืชสด การใช้อินทรียวัตถุที่ทำให้ดินดีขึ้น ตามการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่
“จากเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ก็เริ่มมีความรู้ในการวางแผนการใช้พื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีข้าวกิน ผลผลิตด้านพืชผักพืชผลได้รับการฟื้นฟู และเมื่อเกษตรกรมีผลผลิตที่ดีขึ้น ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นตาม และสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เมื่อก่อนพื้นที่แห่งนี้แทบจะไม่มีต้นไม้ขึ้นเลย แต่หลังจากมีโครงการแห่งนี้ก็มีต้นไม้เกิดขึ้นมากมาย และเกษตรกรยังได้ปลูกพืชไม้ผลเพิ่มขึ้น จากเดิมที่บุตรหลานไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ก็มีโอกาสได้เรียนจนจบการศึกษาในระดับสูง และกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ กล่าว
ปัจจุบัน พื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ทั้งหมด 1,895 ไร่ จากเดิมที่มีสภาพเกือบเป็นทะเลทราย ก็กลับมีต้นไม้น้อยใหญ่เกิดขึ้นมา จนมีสภาพใกล้เคียงกันกับป่าดงดิบ โดยบางต้นมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่คนจะโอบได้ และยังมีแหล่งน้ำที่เพียงพอสำหรับใช้ในการทำการเกษตร จึงทำให้ในพื้นที่แห่งนี้มีสภาพเป็นแหล่งต้นน้ำสมบูรณ์ และมีพื้นที่สำหรับทำแปลงเกษตรในการวิจัย ทดสอบ ทดลอง และยังมีสัตว์ป่า และนกกว่า 200 ชนิด
ขณะที่ นายนิรุจน์ ศรีเกษม อายุ 63 ปี เกษตรกรในพื้นที่ กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับหลักการเกิดขึ้นของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ว่า ทำให้ชาวบ้านได้มีรูปแบบในการจัดการพื้นที่การเกษตร รวมถึงการพัฒนาที่ดิน การประมง ตลอดจนการทำการเกษตรอื่นๆ รวมทั้งการทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักใช้เอง และการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นลักษณะของการทำแปลงเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ
“หลังได้เข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินด้วยการใช้หญ้าแฝก การใช้พืชคลุมดิน และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ก็ทำให้พื้นดินกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าเมล็ดพืชจะตกลงไปยังจุดใดก็สามารถงอกงาม เจริญเติบโตโดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี และยังทำให้ที่ดินบริเวณนี้ทั่วไปกลับมามีความชุ่มชื้น และอุดมสมบูรณ์ สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี และที่ดินของเรายังได้ทำการเกษตรปลูกผักสวนครัว ผักวอเตอร์เครส ผักสลัด ส่งเข้าห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และยังปลูกมะนาว จนสามารถเก็บผลผลิตมารับประทานในครอบครัว และแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้านได้ตลอดทั้งปี” นายนิรุจน์ กล่าว
เช่นเดียวกับ นางระเบียบ โคเต็ม เกษตรกร ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม ที่บอกว่า ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนโดยตลอด ซึ่งความรู้ที่ได้ก็นำมาใช้กับแปลงเกษตรของตนเองบนเนื้อที่ 3 ไร่
“เคยได้มีโอกาสรับเสด็จฯ พระองค์ เมื่อครั้งอายุ 14 ปี ซึ่งในขณะนั้นเครื่องบินพระที่นั่งไม่สามารถที่จะลงจอดได้ แต่พระองค์ก็ยังย้อนกลับมาอีก จึงอยากให้ประชาชนชาวไทยได้มาเดินตามแนวรอยทางของพ่อ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปัจจุบันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงก็มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มในการทำสวนผักและปุ๋ยใช้เอง โดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลงใดๆ” นางระเบียบ กล่าว