เชียงราย - ม.แม่ฟ้าหลวง เปิดเวทีเสวนาเขื่อนน้ำโขง พบสร้างแล้ว 7 กำลังสร้างเพิ่มอีก 11 ส่อทำพันธุ์ปลาสูญกว่า 2 ล้านตันต่อปี ชี้คนลุ่มน้ำได้ประโยชน์แค่กระผีกริ้น ระบุกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อตกลง กรอบความร่วมมือมีช่องโหว่
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ทางสำนักวิชานิติศาสตร์ มฟล.ได้จัดให้มีการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง:มิติด้านการลงทุน สิ่งแวดล้อม สังคมและกฎหมาย” ขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี ดร.รุ่ง ศรีสมวงษ์ รักษาการคณบดีสำนักวิชานิติศาสตร์ มฟล.เป็นประธาน
และมีนักวิชาการ องค์กรเอกชน เครือข่ายภาคประชาชนร่วมเสวนา เช่น อาจารย์อริศรา เหล็กคำ จากสำนักวิชานิติศาสตร์ มฟล. น.ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานโครงการเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ดร.อภิสม อินทรลาวัณย์ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มฟล. และ ดร.ฤทธิภัฏ กัลยาณภัทรดิษฎ์ จากสำนักวิชานิติศาสตร์ มฟล.ดำเนินรายการ
ดร.อภิสม ได้นำเสนอการวิจัยว่า แม่น้ำโขงเชื่อมโยงหลายประเทศ และผู้บริหารแต่ละประเทศจะดำเนินโครงการต่างๆ บนผลประโยชน์ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และการลงทุน แต่ให้ความสำคัญเชิงธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อมน้อย โดยเฉพาะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ แม้ว่าจะมีการวิจัยหลายครั้งที่่บ่งชี้ว่า เขื่อนมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ และพันธุ์ปลาอย่างรุนแรง รวมทั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขง หรือเอ็มอาร์ซี ก็เตือนว่า เขื่อนจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม แม้แต่พันธุ์ปลาก็จะกระทบเป็นมูลค่ามหาศาลก็ตาม
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า มีการสร้างเขื่อนในเขต สป.จีน แล้ว 7 แห่ง และกำลังสร้างเพิ่มอีก 11 แห่ง อยู่ใน สปป.ลาว 7 แห่ง กัมพูชา 2 แห่ง และจีนอีก 2 เขื่อน ที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างมาก และหากเขื่อนใน สปป.ลาว แล้วเสร็จก็จะยิ่งกระทบต่อไทยมากขึ้นอีกมาก ส่วนผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ กลุ่มทุน ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์กว่า 70% แต่คนโดยรวมในแต่ละประเทศจะได้รับประโยชน์แค่ 30% ทั้งยังมีการประเมินความสูญเสียต่ำกว่าความเป็นจริงมาก หรือจะสูญเสียมากกว่าได้ประโยชน์
การเสวนายังมีการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องการพยากรณ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง โดยระบุว่า หากเขื่อนแม่น้ำโขงสร้างแล้วเสร็จหมดอีก 11 เขื่อน จะทำให้พันธ์ปลาที่ศึกษาในแต่ละประเทศสูญเสีย โดยใน สปป.ลาว ปัจจุบัน มีปลาถูกจับ 240,000 ตันต่อปี แต่ถ้าสร้างเขื่อนเสร็จหมดจะทำให้พันธุ์ปลาสูญเสียไป 55,000 ตันต่อปี และหากสร้างเสร็จ 11 แห่งจะเสียหายกว่า 65,000 ตันต่อปี
ในไทย ปัจจุบันมีปลาถูกจับ 920,000 ตันต่อปี แต่หากเขื่อนสร้างเสร็จจะทำให้พันธุ์ปลาสูญเสียไป 60,000 ตันต่อปี และหากสร้างเสร็จ 11 แห่ง จะเสียหายกว่า 60,000 ตันต่อปี กัมพูชา ปัจจุบันมีปลาถูกจับ 770,000 ตันต่อปี พันธุ์ปลาจะสูญเสียไป 200,000 ตันต่อปี และหากสร้างเสร็จ 11 แห่ง จะเสียหายกว่า 430,000 ตันต่อปี
ส่วนเวียดนาม ปัจจุบันมีปลาถูกจับ 370,000 ตันต่อปี แต่เขื่อนในลาวสร้างเสร็จจะทำให้พันธุ์ปลาสูญเสียไป 85,000 ตันต่อปี และหากสร้างเสร็จทั้ง 11 แห่ง จะเสียหายกว่า 170,000 ตันต่อปี
โดยรวมแล้วมีปลาถูกจับรวมกัน จำนวน 230,000 ตันต่อปี แต่หากเขื่อนใน สปป.ลาว สร้างเสร็จ จะทำให้พันธุ์ปลาสูญเสียไปรวมกัน 400,000 ตันต่อปี และหากสร้างเสร็จทั้ง 11 แห่ง จะเสียหายกว่า 2,300,000 ตันต่อปี
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงคนหลายประเทศ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีกระทบมาก ช่วงก่อนปี 2539 ซึ่งยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อนก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการสร้างเขื่อนเสร็จแล้วหลายแห่งก็ทำให้เกิดปัญหามากมาย
“สิ่งที่สังเกตุได้คือ ระดับน้ำขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับการเปิด-ปิดเขื่อน กระทบต่อพันธุ์สัตว์ โดยเฉพาะปลา และพืช วิถีชีวิตของชาวริมโขงก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม ทำให้อนาคตคนกลุ่มนี้อาจล่มสลายหายไป”
ดังนั้น เราจึงต้องหาวิธีอนุรักษ์การดำรงชีวิตนี้ให้ถึงรุ่นลูกหลานให้ได้ และต้องอาศัยช่องทางทางกฎหมายในดำเนินการ ไม่ใช่ปล่อยให้คนท้องถิ่นขับเคลื่อนกันเอง
ด้าน อาจารย์อริศรา ได้นำเสนอว่า แม่น้ำโขงไหลผ่านหลายประเทศ และแต่ละประเทศก็ถือว่า เป็นอธิปไตยของตนเอง อย่างใน สปป.ลาว มีการสร้างเขื่อนเพื่อจะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย และกฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่สามารถทำอะไรได้ มีเพียงกรอบความร่วมมือระหว่างกัน แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง
เช่น ข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2548 มีข้อตกลงร่วม 4 ประเทศม ทคือ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เข้าร่วม แต่จีน และพม่า ไม่เข้าร่วม ผลที่ออกมาก็ทำได้แค่การปรึกษาหารือกันเท่านั้น ไม่สามารถยับยั้งโครงการได้ จึงเป็นช่องว่างของกฎหมายระหว่างประเทศที่คนในท้องถิ่นแทบไม่สามารถทำสิ่งใดได้เลย
ขณะที่ น.ส.รัตนมณี นำเสนอเรื่องการสร้างเขื่อนไชยบุรีที่แขวงไชยบุรี สปป.ลาว ว่า เกี่ยวข้องต่อประเทศไทยมาก ทั้งเอกชนที่เข้าไปก่อสร้าง ผู้รับซื้อกระแสไฟฟ้า ปัจจุบันเขื่อนยังไม่แล้วเสร็จ แต่สิ่งที่พบ คือ ไม่มีกระบวนการแจ้งล่วงหน้า และไม่มีการปรึกษากับประชาชนลุ่มน้ำโขง จึงเป็นที่มาของการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 82 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องการทำข้อผูกพันระหว่างประเทศ
แต่ท้ายที่สุดศาลก็ไม่รับฟ้อง โดยระบุว่า เป็นเรื่องนอกประเทศ และชาวบ้านไม่ใช่คู่กรณีในการก่อสร้าง แม้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด จึงมีการรับฟ้องในเวลาต่อมา แต่ก็ยกฟ้องไปอีก ซึ่งก็ถือเป็นกรณีแรกที่มีความพยายามทำกันเพื่อปกป้องแม่น้ำโขงเอาไว้ แม้จะไม่สำเร็จก็ตาม รวมทั้งเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างภาครัฐกับประชาชน แม้ว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไรก็ตาม
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการเสวนา มีการเปิดให้แสดงความคิดเห็นซึ่งมีหลายคนร่วมแสดง เช่น นายบุญนาค จอมธรรม แกนนำเครือข่ายพิทักษ์ทรัพยกรและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (คสม.) ได้เสนอให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ใน จ.เชียงราย ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการหารือเรื่องปัญหาแม่น้ำโขงให้มากขึ้น