ป่าต้นน้ำจังหวัดน่านเป็นจุดกำเนิดแม่น้ำสายหลักที่ไหลมารวมกับแม่น้ำสายอื่นๆ เกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่หล่อเลี้ยงประเทศไทยมายาวนาน โดย 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นน้ำจากแม่น้ำน่าน จึงอาจกล่าวได้ว่านี่คือป่าต้นน้ำที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย
หากเรารื้อทบทวนข้อมูลทางประชากรศาสตร์จะพบว่า จ.น่านประกอบด้วย เขตการปกครอง 15 อำเภอ 99 ตำบล มีพื้นที่ประมาณ 7.6 ล้านไร่ ซึ่งในปี พ.ศ. 2507 รัฐบาลไทยได้กำหนดและประกาศเขตพื้นที่ จ.น่านเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 6.5 ล้านไร่
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ที่เกิดขึ้นกับจังหวัดน่านกว่า 20 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น ทำให้จังหวัดน่านสูญเสียพื้นที่ป่าไม้
โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ที่ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าในพื้นที่ชั้นคุณภาพ ลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของประเทศ อันประกอบไปด้วยลุ่มน้ำย่อยขนาดเล็ก ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่รองรับน้ำฝนและปลดปล่อยน้ำท่าไหลรวมลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจ และสังคมทั้งต่อชุมชนเมืองและชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งผลกระทบต่อสภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม ทั้งในพื้นที่จังหวัดน่าน และในเขตพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย
จากสถานการณ์การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ทำให้น่านสูญเสียพื้นที่ทรัพยากรป่าไม้ถึง 1.5 ล้านไร่ในที่ราบสูง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงร่วมกับธนาคารกสิกรไทยสนับสนุนโครงการวิจัย ‘การพัฒนาฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการจัดทำแผนชุมชนสำหรับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้จังหวัดน่าน’ เพื่อสะท้อนข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นที่ป่าต้นน้ำน่าน
ตัวเลขที่ปรากฏในงานวิจัยเป็นข้อมูลที่ย้อนหลังได้ 30 ปี และเก็บสถิติถูกต้องชัดเจน เพื่อจะชี้ชัดไปที่ปัญหาอย่างถูกจุด โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม และลงลึกได้เป็นรายตำบลทั้ง 99 ตำบลของ จ.น่าน ข้อมูลที่ได้นี้ใช้ติดตามและวางแผนการแก้ปัญหาร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อาจารย์ ดร.สายบัว เข็มเพ็ชร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏ เชียงใหม่ หัวหน้าโครงการฯ อธิบายว่า ผลงานวิจัยโครงการ ‘การพัฒนาฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการจัดทำแผนชุมชนสำหรับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้จังหวัดน่าน’ ได้จำแนกและวิเคราะห์พื้นที่ป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินรายตำบลของจังหวัดน่าน
โดยใช้และวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพดาวเทียม Landsat ระบบ TM (Thematic Mapper) ขนาดรายละเอียด 25 เมตร ของปี 30-54 และข้อมูลภาพดาวเทียม Thaichote ขนาดรายละเอียด (Resolution) 2 เมตร ในปี พ.ศ. 2556
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลชี้ให้เห็นเชิงประจักษ์ว่าพื้นที่ป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในช่วงปี พ.ศ. 2530-2548 จ.น่านมีพื้นที่ป่าไม้ลดลงเฉลี่ยปีละประมาณ 20,500 ไร่ และในระหว่างปี พ.ศ. 2548-2554 พื้นที่ป่าไม้ลดลงเฉลี่ยปีละ 56,300 ไร่ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่การปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพดในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ด้าน นายสำรวย ผัดผล นายก อบต.เมืองจัง จ.น่าน หนึ่งในทีมวิจัยโครงการ ‘การพัฒนาฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการจัดทำแผนชุมชนสำหรับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้จังหวัดน่าน’ กล่าวว่า “จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีเขตการปกครอง 15 อำเภอ 99 ตำบล มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 7.6 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่ป่าไม้กว่า 6.5 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็น 84% ของพื้นที่ทั้งหมด จังหวัดน่านเริ่มสูญเสียพื้นที่ป่าไม้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ที่รัฐบาลเปิดให้สัมปทานป่าไม้แก่บริษัทเอกชน ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดน่านเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว”
ในช่วงปี พ.ศ. 2513-2514 ชาวเขาเผ่าม้ง และเมี่ยน (เย้า) นับหมื่นคนได้อพยพลี้ภัย สงครามจาก สปป.ลาว เข้ามาในเขต จ.น่าน ซึ่งรัฐบาลไทยได้ตั้งค่ายอพยพขนาดใหญ่ที่บ้านน้ำยาว เป็นรอยเขตติดต่อระหว่างอำเภอสันติสุขกับอำเภอปัว โดยที่รัฐบาลไทยได้เคลื่อนย้ายผู้อพยพไปตั้งรกรากตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อขัดขวางและปิดกั้นการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งหมู่บ้านผู้อพยพเหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ชาวม้งได้ถางป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียนและขยายวงออกไปเรื่อยๆ
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำของจังหวัดน่านลดลงอย่างรวดเร็ว คือการที่รัฐบาลส่งเสริมการปลูกข้าวโพด ซึ่งเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาข้าวโพดเป็นพืชไร่เศรษฐกิจของ จ.น่าน และปลูกอยู่ในบริเวณพื้นที่เนินเขาในเขตป่าต้นน้ำ โดยทั่วไปนั้นการทำการเกษตรบนพื้นที่สูงได้ใช้ทรัพยากรที่ไม่เหมาะสมและเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ จนทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชุมชน
นอกจากนั้น การบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าไม้บนพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงของจังหวัดน่านเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อจังหวัดน่านเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ ของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางที่รับน้ำจากลุ่มน้ำน่าน
ธนาคารกสิกรไทย โดย นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธาน บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ได้นำ ข้อมูลสถานการณ์การลดลงของพื้นที่ป่าน่านทั้งระดับภาพรวมและรายตำบลนำเสนอในงานประชุมสัมมนา ‘รักษ์ป่าน่าน’ ครั้งที่ 1 (10 มีนาคม 2557) ครั้งที่ 2 (16 กุมภาพันธ์ 2558) และครั้งที่ 3 (6 มีนาคม 2560) เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาป่าน่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
งานประชุมสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” นี้จัดโดยสำนักงาน โครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนาคารกสิกรไทย และทุกครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธาน
ผลงานวิจัยนี้ถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ป่าในระดับตำบล โดยมูลนิธิ กสิกรไทยได้จัดทำ “สมุดพกตำบล” สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบล และชุมชนในพื้นที่ของแต่ละตำบลสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าของตำบล (เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.rakpanan.org) รวมถึงการประสานกับหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
และเพื่อให้ประชาชนน่านได้ร่วมกันหาแนวทางอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ธนาคารกสิกรไทยยังได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในการขยายผลการทำงานจากโครงการวิจัยฯ ในการจัดหา ข้อมูลจากดาวเทียมรายละเอียดปานกลาง รวมทั้งวิเคราะห์ และจัดทำชั้นข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ จ.น่าน เช่น ข้อมูลขอบเขตการปกครอง พื้นที่แหล่งน้ำ ขอบเขตป่า จังหวัดน่าน พื้นที่เมืองและชุมชน จ.น่าน เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้จะนำไปวิเคราะห์และศึกษาการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดน่านต่อไป
ในส่วนของความร่วมมือภาคประชาชนนั้น ได้มีการคัดเลือก อบต.ทั้งสิ้น 15 ตำบล เพื่อให้ร่วมกันรับทราบว่าพื้นที่ป่าของตำบลใดสูญเสียไปบ้าง โดยได้กลายเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวของชาวบ้านไปแล้ว พอภาคประชาชนได้เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้วจึงรวมตัวกันเพื่อเขียนแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูอนุรักษ์พื้นที่ป่าขึ้นมาใหม่ แต่เนื่องจากพื้นที่ป่าไม้ที่สูญเสียนั้นเป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวน จึงดำเนินการได้ยากมาก
ทางกรมป่าไม้จึงพยายามผ่อนปรนกฎข้อนี้ให้มากขึ้น โดยให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่าได้โดยที่ไม่ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยว พร้อมกันนั้น ทีมวิจัยโครงการ ‘การพัฒนาฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการจัดทำแผนชุมชนสำหรับการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ จังหวัดน่าน’ เตรียมลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชน ในการจัดหาแหล่งน้ำที่เพียงพอในเขตพื้นที่รอบหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถปลูกข้าวโพดในที่ดินของตนเอง ในขณะเดียวกันก็สามารถปลูกต้นไม้แบบผสมผสานเพื่อเก็บลูกเก็บดอกในพื้นที่ป่า สงวนได้ โดยไม่ต้องถางป่าเพื่อทำการเกษตรอีกต่อไป
ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำถือเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนในจังหวัด และหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงาน NGO ในพื้นที่เห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญ และมีความพยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหา แต่ยังขาดการจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่รอบด้านเพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจร่วมต่อสถานการณ์ปัญหา และแก้ไขปัญหาร่วมกัน