xs
xsm
sm
md
lg

สกว.มอบรางวัล 13 ผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สกว. มอบรางวัล 13 ผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2559 ต่อยอดงานวิจัย...สู่นโยบายประเทศไทย 4.0 ด้วย “งานวิจัยและนวัตกรรม”

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานมอบโล่เกียรติยศ ผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2559 ณ ห้องบอลรูม 1-2 โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน โฮเท็ล แอนด์ ทาวเวอร์ส ถ.เจริญกรุง แก่นักวิจัยจำนวนทั้งสิ้น 13 ผลงาน

ประกอบด้วยผลงานวิจัยเด่นด้านนโยบาย ผลงานวิจัยเด่นด้านสาธารณะ ผลงานวิจัยเด่นด้านพาณิชย์ ผลงานวิจัยเด่นด้านชุมชนพื้นที่ และผลงานวิจัยเด่นด้านวิชาการ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้วิจัยผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ ที่สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ

โดยมี พล.อ.อ.ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีมอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่น สกว. พร้อมด้วย คณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการติดตามประเมินผล ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. และคณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัยที่เข้ารับโล่เกียรติยศ

ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ผลงานวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกประจำปี 2559 นี้ ถือเป็นแบบอย่างของการทำงานวิจัยที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ความมุ่งมั่น ตั้งใจ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างความรู้ให้เกิดในทุกระดับเพื่อเป็นฐานสู่การขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

โดยในแต่ละปี สกว. สนับสนุนทุนวิจัย กว่า 1,700 โครงการ ครอบคลุมศาสตร์ทุกด้าน และสนับสนุนนักวิจัยทุกระดับ ซึ่ง สกว. ให้ความสําคัญ และเห็นคุณค่าของผลงานวิจัยทุกประเภทที่เกิดขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้วิจัยและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ และสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม และประเทศ สกว. จึงได้จัดให้มีการคัดเลือกผลงานวิจัยที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานวิจัยเด่น สกว. เป็นประจําทุกปี

สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกผลงานวิจัยเด่นปีนี้ คือ ต้องเป็นผลงานวิจัยที่ประสบผลสําเร็จ มีผู้ใช้ประโยชน์ และปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์ในปงบประมาณ พ.ศ.2559 สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการที่เกี่ยวข้อง หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม หรือนําไปสู่การพัฒนาในวงกว้าง อีกทั้งต้องมีวิธีการวิจัยที่ยอมรับตามหลักวิชาการ

สกว. ได้แบ่งกลุ่มพิจารณาตามลักษณะการนําผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบาย ด้านสาธารณะ ด้านพาณิชย์ ด้านชุมชนและพื้นที่ และด้านวิชาการ สําหรับปี 2559 คณะกรรมการตัดสินผลงานเด่นได้คัดเลือกผลงานวิจัยเด่น จํานวนทั้งสิ้น 13 ผลงาน ประกอบด้วย ผลงานวิจัยเด่นด้านนโยบาย จํานวน 2 ผลงาน

ผลงานวิจัยเด่นด้านสาธารณะ จํานวน 1 ผลงาน ผลงานวิจัยเด่นด้านพาณิชย์ จํานวน 2 ผลงาน ผลงานวิจัยเด่นด้านชุมชนและพื้นที่ จํานวน 4 ผลงาน และผลงานวิจัยเด่นด้านวิชาการ จํานวน 4 ผลงาน

อย่างไรก็ดี ในโอกาส สกว.ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ ปี พ.ศ.2560-2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศจะมีการปฏิรูปหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เพื่อเป็นกรอ ในการพัฒนาประเทศในระยะยาว พร้อมกับการปฏิรูปและการพัฒนาระบบและกลไกในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ควบคู่กับแนวคิด “ประเทศไทย 4.0” เป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศแตกต่างจากแนวคิดการพัฒนาแบบเดิมที่อาศัยทุน และการลงทุนจากต่างชาติ โดยมีความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value - Based Economy) รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในลักษณะการแปลงยุทธศาสตร์ระยะยาวไปสู่การปฏิบัติ โดยในแต่ละยุทธศาสตร์ของแผนฯ 12 ได้กำหนด ประเด็นการพัฒนา

พร้อมทั้งแผนงานและโครงการสำคัญๆ ที่จะต้องดำเนินการเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ในช่วง 5 ปีแรกของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านกำลังคน สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถปรับตัวรองรับต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมต่อยุทธศาสตร์

การวิจัยแห่งชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูประบบวิจัยแบบบูรณาการของประเทศ ที่มีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูป ระบบวิจัยของประเทศที่ให้เกิดความชัดเจนในการเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศ ให้หลุดพ้นจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง และยกฐานะประเทศไทยให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วภายใน 20 ปีข้างหน้า

ด้าน พล.อ.อ.ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ประเทศก้าวไกล ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” ตอนหนึ่งว่า รู้สึกชื่นชมนักวิจัยทุกท่านที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ อันแสดงให้เห็นถึงผลิตผลงานที่มีคุณค่า สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ และเป็นต้นแบบที่ดีของการทำงานวิจัยที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ ระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ให้มีความก้าวหน้า ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างภูมิคุ้มกันจากผลด้านลบของโลกาภิวัตน์ การพัฒนางานวิจัยให้มี ความเท่าทันต่อโลกสมัยใหม่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลได้พยายามกำหนดกรอบเป้าหมาย เช่น Thailand 4.0 ยุทธศาสตร์ 20 ปี ดำเนินไปข้างหน้าอย่างพอเพียงตามปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ จำเป็นต้องบูรณาการ และขับเคลื่อนการปฏิรูปทั้งทางด้านยุทธศาสตร์ บุคลากร งบประมาณ กฎหมาย และปัจจัยเอื้อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

โดยหวังจะเห็นผลที่เกิดต่อเศรษฐกิจ และสังคมอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือ ให้สามารถใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้จริง ทั้งในด้านการสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยี นวัตกรรม การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การผลักดันให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาในมิติ ทางสังคม
การเรียนการสอนในห้องเรียนนั้นไม่เพียงพอ มนุษยชาติจะดีขึ้นได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการวิจัย เพราะการวิจัยทำให้เกิดปัญญา สร้างองค์ความรู้ต่อยอดให้แก่คนรุ่นต่อไป เราจำเป็นต้องมีกรอบ เป้าหมาย และกำหนดแนวทางที่จะสะสมองค์ความรู้เพื่อนำพาประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้า

คนไทยควรมีการประกอบอาชีพแบบทำน้อยได้มาก ใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมลงตัว เพื่อพัฒนางานของเรา ไม่ว่าจะเป็นด้าน start up หรืออุตสาหกรรมการเกษตร แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความพอดี ความรู้คู่คุณธรรม เมื่อรายได้สูงขึ้น ประเทศก็จะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหาคือ เราไม่สามารถควบคุมการใช้เทคโนโลยีด้วยตัวเอง เพราะไม่ใช่ผู้คิดค้น จึงเป็นเพียงตัวประกอบ ทำหน้าที่ได้เพียงสังเกตการณ์

ไทยจำเป็นต้องประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีขึ้นเอง เป็นผู้ปฏิบัติการมากกว่าผู้ใช้งาน ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน

ประเทศไทยต้องการผู้มีความรู้ นักวิจัย นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้นักวิจัยมีแรงบันดาลใจในการคิดค้น เทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างคุ้มค่า

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเฟ้นหาผู้ที่มีความพร้อมในการเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไปในชุมชน ควรคำนึงถึงนักวิจัย ระดับ ปวช. ปวส. และระดับชุมชนลงไป มากกว่าที่จะคำนึงถึงเฉพาะนักวิจัยระดับปริญญาเอก นี่คือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0

ตัวอย่างผลงานวิจัยดีเด่นที่จะเข้ารับมอบโล่เกียรติยศในปีนี้ ได้แก่ การวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการแปรรูปทางการเกษตร โดยนำเมล็ดมะขามมาทำเป็นเจลโลส ทดแทน เพคติน ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อผลิตไอศกรีมมะขามเจลาโต เยลลี่มะขาม การวางแผนจัดการ ทรัพยากรน้ำ ทั้งระดับชุมชนและจังหวัด ภายใต้แนวคิด “จากพื้นที่สู่นโยบาย”

โดยอาศัยองค์ความรู้ในพื้นที่ในการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ และเกิดกระบวนการวางแผนน้ำอย่างมีส่วนร่วม และการ เชื่อมโยงแผนชุมชน จังหวัด และหน่วยงานส่วนกลางเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง และอุทกภัย อันเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนสร้างเครือข่ายภาคประชาชน กับหน่วยงานภาครัฐในการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ และยั่งยืนตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากร ดิน น้ำ และป่า เป็นต้น

การใช้งานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น สกว.จึงตระหนักถึงการพัฒนายุทธศาสตร์การวิจัยในเชิงรุกใหม่ๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้บนฐานความรู้และนวัตกรรม อีกทั้งเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพ และประสิทธิผลขององค์กรในการดำเนินงานให้เป็นไปตามพันธกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์ “เปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการวิจัยและนวัตกรรม”

กำลังโหลดความคิดเห็น