xs
xsm
sm
md
lg

ยุบเลย..ฝาชี-พิงคนครฯ ป่าไม้เก่า-ชุมชนค้านโอนไนท์ซาฟารีให้สวนสัตว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - ป่าไม้เก่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ตั้งวงหารือ ขอ ครม.ทบทวนมติโอน “เชียงใหม่ ไนท์ซาฟารี ให้สวนสัตว์ฯ-ศูนย์ประชุมฯ ให้คลัง” ก่อนนำไปสู่การยุบทิ้ง “สนง.พิงคนคร” เชื่อต้นเหตุที่แท้จริงอยู่ที่ “องค์การฝาชี” บริหารผิดพลาด



นายวิริยะ ช่วยบำรุง ข้าราชการบำนาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายดี จันทคลักษณ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ 4 ตำบล พร้อมสมาชิก ได้รวมตัวหารือกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลัง ครม.มีมติเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา รับทราบรายงานการประเมินองค์การมหาชนทั้ง 38 แห่ง ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนสถานะ “สำนักงานพัฒนาพิงคนคร องค์การมหาชน” ให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ไปเป็นขององค์การสวนสัตว์ และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ให้โอนไปเป็นหน่วยงานของกระทรวงการคลัง

นายวิริยะเปิดเผยว่า สมัยตนเป็นป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งไนท์ซาฟารี ซึ่งมีการนำพื้นที่สวนพฤษาศาสตร์ภาคเหนือมาปรับให้เป็นสวนสัตว์ ให้นักท่องเที่ยวมีกิจกรรมในช่วงกลางคืน และให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้มีงานทำในพื้นที่

ซึ่งมติดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นเพราะมีการนำข้อมูลปัญหาภายในรายงานขึ้นไปจนนำไปสู่การยุบองค์กรดังกล่าว โดยเฉพาะกรณี “สำนักงานพิงคนคร องค์การมหาชน” ที่องค์กรต่างๆ ในเชียงใหม่ ทั้งสภาอุตสาหกรรมฯ, หอการค้าฯ, องค์กรท้องถิ่น ล้วนไม่ทราบว่าองค์กรนี้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกา การจัดตั้งสำนักงานพิงคนครฯ เกิดขึ้นหลัง เป็นเพียงองค์กรหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาครอบ “เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี” ซึ่งที่จริงถ้าบอร์ดบริหารพิงคนคร ทำงานอย่างจริงจัง ทุกอย่างน่าจะไปได้ดีกว่านี้ แต่ดูเหมือนว่ามีการเล่นแต่พวกเล่นแต่พ้อง เป็นทายาทของนักการเมืองในอดีต จะเห็นได้ว่ามีแต่การทำตามใบสั่ง ไม่ได้สร้างเพิ่มอะไรเลย

“รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เปรียบพิงคนครเป็นเหมือนฝาชีที่ครอบจานอาหารคือ ไนท์ซาฟารี และศูนย์ประชุมฯ ซึ่งที่จริงต้องไปหาอาหารเพิ่ม คือการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของภาคเหนือ นั่นคือหน้าที่ของบอร์ดบริหาร แต่คนเหล่านั้นไม่ทำ ทั้งยังอาจจะมีการโกงกิน ขัดแย้ง แย่งผลประโยชน์กัน ทำให้กลายเป็นองค์กรเลอะเทอะ ทำให้เกิดการผิดพลาดในการบริการ ถูกตรวจสอบกันหมด”

ส่วนการนำศูนย์ประชุมฯ ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินก่อสร้างไปกว่า 4 พันล้านบาท แม้ว่าในทางธุรกิจจะขาดทุนดอกเบี้ย เพราะจะมีรายได้เดือนละ 5-6 ล้าน แต่ก็ไม่ขาดทุน แต่ถ้าโอนให้กระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีกรมธนารักษ์เข้ามาดูแล แน่นอนที่สุดต้องถูกนำไปประมูล ให้ภาคเอกชนประมูลเข้ามาดำเนินการจัดการ ก็ถือว่าไม่เหมาะสม

“ศูนย์ประชุมฯ ที่สร้างขึ้นมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน หากให้เอกชนประมูลเข้ามากลายเป็นชุบมือเปิบเพราะไม่ต้องลงทุนอะไร และต้องถามด้วยว่า ถ้าให้เช่าจะต้องเช่าในราคาเท่าไหร่ถึงจะคุ้มกับทรัพย์สินแผ่นดิน”

ดังนั้น การที่นำจานอาหาร คือ ไนท์ซาฟารี และศูนย์ประชุมฯ ออกจาก “ฝาชี คือ สำนักงานพิงคนครฯ” ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่การยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฯ-ยุบ “สำนักงานพิงคนครฯ” เป็นนโยบายที่ไม่ถูก ตนอยากให้องค์กรต่างๆ ทั้ง กรอ., สภาอุตฯ, หอการค้าฯ, สมาคมท่องเที่ยว, อปท. จัดเวทีเสวนาขึ้นมาพิจารณาผลดี ผลเสีย เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อ ครม.ให้ทบทวนมติเรื่องนี้

“เราไม่ได้ไปขัดใจรัฐบาล แต่อาจจะได้ข้อมูลที่ผิดพลาด เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้อยู่ที่องค์กร แต่อยู่ที่การบริหาร”

ด้านนายดีกล่าวว่า ชาวบ้านโดยรอบไนท์ซาฟารีที่ตั้งวิสาหกิจขึ้นมาผลิตอาหารสัตว์ป้อนไนท์ซาฟารีมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งเป็นกังวลใจมาก เพราะถ้าโอนไนท์ซาฟารีเข้าไปอยู่ในองค์การสวนสัตว์จะได้รับผลกระทบต่างๆ ทันที เพราะหากไปอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรสวนสัตว์แล้ว กลุ่มของตนจะต้องไปต่อสู้กับนายทุน ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดแรกที่กังวลใจ ทำให้ต้องออกมาขอให้ ครม.ทบทวนมติดังกล่าว หรือออกมาบอกให้ชัดเจนว่าจะให้คงแนวทางเดิมที่เคยมีร่วมกันมา

“ทุกวันนี้ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบมาหลังจากผู้บริหารไนท์ซาฟารีปรับลดงบประมาณในการจัดซื้ออาหารสัตว์วิสาหกิจชุมชนจาก 18 ล้าน เหลือปีละ 8 ล้าน แต่พวกเรายังมีความเข้มแข็งต่อสู้เพื่อความถูกต้องของชาวบ้านในพื้นที่”

กำลังโหลดความคิดเห็น