xs
xsm
sm
md
lg

ม.บูรพา-หน่วยงานด้านการวิจัยยกระดับความก้าวหน้าด้านวิทยาการเพื่อสุขภาพ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ม.บูรพา จับมือร่วม สนง.ราชบัณฑิตยสภา สนง.คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ สนง.กองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดสัมมนาเพื่อยกระดับความก้าวหน้าด้านวิทยาการใหม่ที่เกี่ยวข้องต่อวิทยาศาสตร์สุขภาพ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง หวังสร้างเครือข่ายการดูแลสุขภาพที่ดีให้แก่คนไทย และมนุษยชาติ



วันนี้ (17 มิ.ย.) มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม BUU Conference :Health Science Forum and Sino-ASEAN Conference on Picision Medicine ร่วมกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท จ.ชลบุรี

โดยมี รศ.ดร.สุนันทา โอศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.บูรพา
เป็นประธานเปิดการประชุม และมี ศ.ดร.นายแพทย์ สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิต ,ศ.ดร.อานนท์ บุณยรัตเวช ราชบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมทั้ง ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ยงยุทธ วัชรดุลย์ ราชบัณฑิต ประธานเครือข่ายสหวิทยาการแห่งราชบัณฑิตยสภา ในพระราชูปถัมภ์ฯลฯ เข้าร่วม และมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์ ซึ่งจะได้รับการพิจารณาตีพิมพ์ใน Proceeding ของการประชุม

รศ.ดร.สุนันทา กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมว่า เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และติดตามความก้าวหน้าของวิทยาการใหม่ๆ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และแสวงหาความร่วมมือในการทำงานวิจัยของผู้เข้าร่วมการสัมมนา

รวมทั้งเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยของคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต นักศึกษาในกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งคำว่า Picision Medicine หมายถึงการใช้เวชศาสตร์ที่ตรงเหตุ ซึ่งไม่เน้นเฉพาะการรักษาโรค แต่ยังเป็นการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมป้องกัน และสร้างคุณภาพชีวิต

ขณะที่การศึกษาที่จะได้องค์ความรู้ใหม่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยบูรพา มีคณะต่างๆ ที่เข้าร่วม เช่น แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ วิทยาศาสตร์การกีฬา สหเวชศาสตร์ การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร์ ร่วมกันสร้างองค์ความรู้ และผลิตบัณฑิตที่ได้เรียนรู้วิทยาการที่มีความก้าวหน้า

ด้าน ศ.ดร.นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิต กล่าวว่า การจัดประชุมดังกล่าวได้จัดต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว และในปีนี้ได้เน้นการประชุมในระดับนานาชาติ ที่เน้นการให้องค์ความรู้ใหม่ทางการแพทย์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน และขยายไปยังประเทศจีน

เช่นเดียวกับ ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ยงยุทธ ที่กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเห็นการพัฒนาวิทยาศาสตร์ที่เริ่มตั้งแต่การสอนในมหาวิทยาลัย โดยพิจารณาว่าสามารถสร้างนักวิทยาศาสตร์ได้เพียงพอหรือไม่ ซึ่ง Picision Medicine ถือเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่สอดรับต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

โดยเริ่มจากการตั้งเครือข่ายที่ไม่มีเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่สังคมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งสาขาอื่นๆ จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะที่ผ่านมา การวิจัยของไทยเป็นแบบต่างคนต่างทำ โดยไม่มีการร่วมมือที่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการจัดตั้งเครือข่ายภายใต้การตัดสินใจของผู้เข้าร่วมประชุมประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน

ส่วน ศ.ดร.อานนท์ บุณยรัตเวช ราชบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่การจัดประชุมในครั้งนี้จะสามารถสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพให้แก่คนไทย ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาล และตรงกับสถานที่ในภาคตะวันออก ซึ่งในอนาคตจะเป็นฐานการลงทุน และสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศไทย และการสร้างเครือข่ายด้านการดูแลสุขภาพจึงถือเป็นข่าวดี ที่ต่อไปจะมีทั้งราชบัณฑิต และนักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกันทำงานเพื่อสร้างสุขภาพให้แก่คนไทย และมนุษยชาติทั้งโลก ภายใต้งบประมาณดำเนินการที่น้อยนิด



กำลังโหลดความคิดเห็น