xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ J-Alert : ถ้า “คิม จองอึน” กดปุ่มขีปนาวุธยิงใส่ญี่ปุ่นจะเกิดอะไรขึ้น?

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

ยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ข้อมูลมีความสำคัญสูง ยิ่งเข้าใจไวเท่าไร ก็หมายถึงการเอาตัวรอดได้ดีขึ้นเท่านั้น ใครที่จำเป็นต้องอยู่ในญี่ปุ่นระยะนี้ก็น่าจะทำความคุ้นเคยกับคำว่า “เจ-อะเลิร์ต (J-Alert)” ไว้หน่อย เผื่อดูโทรทัศน์ หรือได้ยินเสียงสัญญาณ หรือไปอยู่ในวงสนทนาใดๆ จะได้มีแนวทางทำความเข้าใจเพื่อการเอาตัวรอดในกรณีที่มีภัย

วงสนทนาในญี่ปุ่นตอนนี้มีเรื่องเกาหลีเหนือผุดขึ้นมาถี่ๆ เพราะความเคลื่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นแถวนี้ด้วยท่าทีของอเมริกากับเกาหลีเหนือนั้นไม่น่าไว้ใจ บางคนวิเคราะห์ว่าต่างฝ่ายต่างขู่กันไปขู่กันมา ไม่กล้าลงมือร้อก! แต่จะมีใครกล้ายืนยันบ้างเล่า?

ขณะที่คุยกันในวง บ้างก็วิจารณ์โดนัลด์ ทรัมป์ว่าป่วนโลก บ้างก็ค่อนขอดความอ้วนของคิม จอง อึนว่าปล่อยให้ประชาชนอดอยาก แต่ขุนตัวเองจนน้ำหนักพุ่งไปถึง 130 กิโล บางเสียงจึงให้ข้อมูลเสริมว่าแท้จริงแล้วนั่นคือความอ้วนเชิงยุทธศาสตร์ เป็นการอ้วนเบ่งพลังเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่ามีราศี มีอันจะกิน น่าเกรงขามตามค่านิยมของเกาหลีเหนือ

แต่ไม่ว่าจะยกเรื่องอะไรขึ้นมาพูดก็ตาม คำถามหนึ่งที่มักปรากฏก็คือ “เอ...ว่าแต่ ถ้าเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธใส่ญี่ปุ่นจริงๆ ล่ะ จะทำยังไง” ของแบบนี้ใครจะตอบได้แน่ชัด? บ้างก็พูดเหมือนปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไรหรอก เพราะกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นเอาอยู่แน่ๆ...ก็แค่ยิงจรวดสกัดขีปนาวุธ บ้างก็ตอบแบบทำใจ เอ้า...ยิงก็ยิงสิ ตายแบบนี้ไม่ทันรู้สึกว่าเจ็บด้วยซ้ำ
แผนผังระบบเตือนภัย J-Alert ของญี่ปุ่น
ทว่าเรื่องความรุนแรง ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นหรอกไม่ว่าผลจะลงเอยอย่างไร แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินน้อยที่สุด ทุกวันนี้คนญี่ปุ่นยังคงใช้ชีวิตกันตามปกติก็จริง แต่ในใจก็หวั่นๆ อยู่เหมือนกันว่าจะป้องกันตัวอย่างไร เมื่อวันศุกร์ที่ 21 เมษายน นายโยะชิฮิเดะ ซุงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีซึ่งทำหน้าที่เป็นโฆษกรัฐบาลด้วย จึงออกมาแถลงในเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งก็ดีเพราะอย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนอุ่นใจได้บ้างว่ารัฐบาลพร้อมจะหาวิธีปกป้องประชาชน

“ในกรณีที่ขีปนาวุธซึ่งถูกยิงจากเกาหลีเหนือส่อเค้าว่าอาจจะตกสู่ญี่ปุ่น รัฐบาลร่วมกับหน่วยงานสาธารณะในท้องถิ่น จะใช้ “ระบบเตือนภัยฉับพลันทั่วประเทศ” หรือที่เรียกว่า “เจ-อะเลิร์ต” ดำเนินการส่งข้อมูลฉุกเฉินแจ้งประชาชน

ในระยะนี้ จำนวนครั้งของการเข้าสู่ “เว็บท่าเพื่อการพิทักษ์ประชาชน” ซึ่งมีข่าวสารต่าง ๆ เช่น กระแสการส่งข้อมูลจากระบบ “เจ-อะเลิร์ต” นั้น เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และประชาชนทั้งหลายก็แสดงความสนใจมากขึ้น เช่น ด้วยการสอบถามเข้ามามากมายที่สำนักคณะรัฐมนตรีเป็นต้น จากสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนพิทักษ์ความปลอดภัยของตนเมื่อมีการส่งสัญญาณแจ้งข้อมูลฉุกเฉินจากระบบ “เจ-อะเลิร์ต” ทางรัฐบาลจึงประมวลสิ่งที่ควรปฏิบัติและนำออกเผยแพร่แล้วในวันนี้ที่ “เว็บท่าเพื่อการพิทักษ์ประชาชน” ซึ่งอยู่ในโฮมเพจของสำนักคณะรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ยังได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแก่หน่วยงานสาธารณะท้องถิ่น เรียกร้องขอความร่วมมือเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบ ตลอดจนได้จัดการประชุมอบรมผู้ที่รับผิดชอบด้านการพิทักษ์ประชาชนของจังหวัดต่าง ๆ ในวันนี้ด้วย ทางรัฐบาลจะดำเนินการต่อเนื่อง โดยประสานกับอเมริกาและเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็จะเตรียมพร้อมเต็มที่ในการเฝ้าระวังและรวบรวมข้อมูลด้วยความตระหนักตื่นตัว เพื่อให้สามารถรับมือเหตุการณ์ได้ทุกรูปแบบ” (http://www.kantei.go.jp/jp/tyoukanpress/201704/21_a.html)

โยะชิฮิเดะ ซุงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
จะเห็นได้ว่า เลขาธิการคณะรัฐมนตรีพูดถึงระบบเตือนภัยหลายครั้ง คำนี้ประชาชนได้ยินบ่อยขึ้นในช่วงนี้หลังจากที่ทางการได้ริเริ่มมาพักใหญ่แล้วตั้งแต่ปี 2547 โดยสำนักงานควบคุมอัคคีภัย ชื่อเต็มของระบบคือ “ระบบเตือนภัยฉับพลันทั่วประเทศ” (全国瞬時警報システム; Zenkoku Shunji Keihō System) เรียกสั้นๆ เป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “เจ-อะราโตะ” (ภาษาญี่ปุ่นไม่มีสระเออ คำว่า alert จึงออกเป็น “อะราโตะ”) หรือ J-Alert (ตัวอย่างเสียง)



ระบบนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนในแง่ของการใช้งาน พูดภาษาชาวบ้านคือ นี่คือเสียงหวอสัญญาณเตือนให้ประชาชนรีบหลบหนีไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นเมื่อเกิดภัยพิบัติ ซึ่งรวมทั้งภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด และภัยจากการสู้รบด้วย แต่ระบบในปัจจุบันย่อมมีประสิทธิภาพสูงกว่าที่เราอาจเคยเห็นในละครยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยนั้นกว่าหวอจะดัง อันตรายก็มาประชิดตัวแล้ว แต่ระบบเจ-อะเลิร์ตใช้ดาวเทียมจับสัญญาณเหตุการณ์ แจ้งต่อไปยังส่วนกลางได้อย่างรวดเร็ว แล้วกระจายต่อไปยังทางการท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่มีลำโพงกระจายเสียงประจำชุมชน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะได้รับแจ้งในเวลาประมาณ 1 วินาที และใช้เวลากระจายข่าวสู่ประชาชน 4–20 วินาทีแล้วแต่พื้นที่ หลังจากเสียงสัญญาณดังแล้ว ก็มักจะมีคำประกาศตามมาว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะมีข้อความกำกับว่า “ขอให้ดำเนินการอย่างมีสติ”

กรณีที่เกิดภัยจากขีปนาวุธเกาหลีเหนือซึ่งมีพิสัยยิงระยะกลางหรือไกลแตกต่างกันไปนั้น แม้ขีปนาวุธจะมาถึงฝั่งญี่ปุ่นได้ในเวลาสั้นๆ แต่การเตือนภัยของระบบเจ-อะเลิร์ตจะทำให้พอมีเวลาหลบภัยได้บ้าง อย่างเมื่อครั้งที่เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธตอนเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วจากฝั่งตะวันตกของประเทศ ขีปนาวุธใช้เวลาประมาณ 10 นาทีก็พุ่งผ่านน่านฟ้าใกล้เกาะโอะกินะวะของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ยิงประมาณ 1,600 กิโลเมตร หากเกิดเหตุการณ์แบบนั้นจริง ในช่วง 10 นาที ประชาชนยังพอจะเคลื่อนย้ายไปสู่ที่ปลอดภัยได้

รัฐบาลญี่ปุ่นจึงประกาศคำแนะนำทางเว็บไซต์ โดยมีหลักการสำคัญคือ 1) รีบหลบภัย และ 2) รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและรวดเร็ว (http://www.kokuminhogo.go.jp/) สำหรับการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ 1) กรณีที่อยู่นอกอาคาร ควรหลบหนีไปยังอาคารหรือสถานที่ใต้ดินที่แข็งแรงที่สุดเท่าที่มีในบริเวณใกล้เคียง หากไม่มีอาคารที่เหมาะสมในบริเวณนั้น ให้หาที่กำบัง หรือหมอบลงที่พื้นและป้องกันศีรษะไว้ และ 2) กรณีที่อยู่ภายในอาคาร ควรอยู่ห่างจากหน้าต่างให้มากที่สุด (เพราะกระจกหรือเศษวัสดุอันตรายอาจกระเด็นใส่) ถ้าเป็นไปได้ ย้ายไปอยู่ในห้องที่ไม่มีหน้าต่าง หากอยู่ในบ้านไม้ ขอให้รีบย้ายไปยังอาคารที่แข็งแรงกว่า เช่น อาคารที่ทำการเขต หรือโรงเรียน ทั้งนี้ควรศึกษาไว้แต่เนิ่น ๆ ว่าพื้นที่หลบภัยในชุมชนนั้นอยู่ที่ไหน

แม้ไม่มีหลักประกันความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การหลบไปยังที่กำบังที่แข็งแรงย่อมลดความเสี่ยงได้มากกว่า ด้วยความที่ญี่ปุ่นต้องผจญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมายาวนาน การเตรียมพร้อมจึงกลายเป็นนิสัยประจำชาติแล้ว และแน่นอนว่าเมื่อเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพและชีวิตของผู้คน ต่อให้มีคนโน้นคนนี้ออกมาคาดการณ์ต่าง ๆ นานาว่าอเมริกากับเกาหลีเหนือไม่กล้าปะทะกันหรอก แต่การเตรียมพร้อมของคนญี่ปุ่นย่อมไม่มีคำว่าทำเกินกว่าเหตุอย่างแน่นอน
โปสเตอร์คำแนะนำสำหรับการหลบภัยขีปนาวุธ
โปสเตอร์คำแนะนำสำหรับการหลบภัยขีปนาวุธ
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น