xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ : อย่างนี้ก็มีด้วย? “คุกคามด้วยกลิ่น”—ซุเมะ-ฮะระ

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

เรื่องกลิ่นเป็นเรื่องที่เข้าใครออกใคร โดยเฉพาะในช่วงที่อุณหภูมิกำลังสูงขึ้นอย่างตอนนี้ มันอาจจะออกจากใครแล้วมาเข้าจมูกเราโดยที่เขาไม่ตั้งใจ หรืออาจจะออกจากเราแล้วไปเข้าจมูกใครโดยที่ผู้ผลิตไม่รู้ ผู้บริโภคก็ไม่มีที่ให้ร้องทุกข์ จึงทำได้แค่อดทน และบ่นให้คนอื่นฟังว่า “เอิ่ม โดน ‘ซุเมะ-ฮะระ’ เข้าแล้ว”

“ซุเมะ-ฮะระ” ในภาษาญี่ปุ่นคืออะไร? ถ้าบอกว่าเป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ คนไทยคงนึกไม่ออกว่าคำต้นทางคืออะไร หรือถ้าอยากลองเดาอีกที ก็มีข้อมูลเพิ่มเติมให้อีกเล็กน้อย คือ คำเต็มๆ พูดว่า “ซุเมะรุ-ฮะระซุเม็นโต” และคำเฉลยคือ “smell harassment” โดยพูดตามสำเนียงญี่ปุ่นว่า su-me-ru ha-ra-su-men-to (スメルハラスメント) พูดย่อๆ เป็น “su-me ha-ra” (スメハラ) แปลว่า การคุกคามด้วยกลิ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในสารพัดการคุกคามที่คนญี่ปุ่นมองว่าบั่นทอนความสุขในชีวิตประจำอันพึงได้รับ

ร่างกายมนุษย์อยู่ได้ด้วยพลังงานที่สร้างและเผาผลาญอยู่ภายใน ซึ่งทำให้เกิดกลิ่น ประกอบกับสิ่งภายนอกที่มาติดตัวอีก กลิ่นอันไม่พึงประสงค์จึงเกิดตลอดเวลาโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง มากน้อยก็แล้วแต่คน ถ้ามากจนรบกวนบรรยากาศการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ก็เข้าข่ายการคุกคามด้วยกลิ่น ยิ่งช่วงนี้ญี่ปุ่นเริ่มร้อนวูบวาบเหมือนหน้าร้อน บางวันอุณหภูมิสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส ขณะที่องค์กรรัฐหรือบริษัทเอกชนหลายแห่งมีนโยบายไม่เปิดเครื่องปรับอากาศในเดือนพฤษภาคม ก็ยิ่งล่อแหลมต่อการเกิด “ซุเมะ-ฮะระ” และพื้นที่ที่เกิดได้ง่ายที่สุดคือ บนรถไฟช่วงชั่วโมงเร่งด่วน กับในที่ทำงาน

การโดยสารรถไฟญี่ปุ่นตอนแน่นๆ ไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีนัก ตอนเย็นยังอาจจะเลือกได้บ้าง แต่ตอนเช้า ทุกคนต่างก็รีบ เบียดเสียดขนาดไหนก็ต้องไป สิ่งที่มาพร้อมกับความแน่นคือกลิ่นของคนที่อยู่ใกล้กันรวมทั้งกลิ่นลมหายใจด้วย คนไทยอาบน้ำเช้าเย็นเพราะเป็นเมืองร้อน ผิดกับกรณีคนญี่ปุ่น ถึงแม้ขึ้นชื่อว่ามีนิสัยรักสะอาด แต่ผู้โดยสารรถไฟตอนเช้าที่อาบน้ำนั้นมีไม่ถึงครึ่ง

จากการสำรวจโดย news.mynavi.jp เมื่อปี 2559 เมื่อถามว่า “คุณเคยอาบน้ำตอนเช้าหรือไม่” (หมายถึงการอาบน้ำฝักบัวซึ่งทำได้ง่ายกว่าการแช่น้ำแบบญี่ปุ่น) ปรากฏว่า “เคย ประมาณ 38%” และ “ไม่เคย ประมาณ 62%” ซึ่งก็เป็นไปตามแนวโน้มที่ผมสังเกตได้จากคนใกล้ตัว ทั้งนี้ ที่ตอบว่าเคยอาบน้ำตอนเช้าก็ไม่ได้หมายความว่าอาบทุกวัน ส่วนคนที่ไม่อาบ คงไม่ต้องพูดถึง นั่นคือปัจจัยที่เชื่อได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด “ซุเมะ-ฮะระ” บนรถไฟ และผมก็เคยประสบมากับตัวเองตอนที่เป็นนักศึกษา ท่ามกลางสภาพที่มนุษย์เงินเดือนยกแขนขึ้นเหนือหัวเพื่อโหนราว

ในที่ทำงานดูเหมือนเป็นสถานที่ที่มีเสียงบ่นมากที่สุด ซึ่งก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย ส่วนมากฝ่ายผลิตไม่ค่อยรู้ตัว หรืออาจจะไม่เคยสำรวจและระวังตัวเอง ส่วนฝ่ายที่ถูกกระทำมักจะบ่นว่า “เวียนหัว”, “ไม่มีสมาธิ”, “พะอืดพะอม” เพราะต้องทนกลิ่น (อะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่กลิ่นหอม) อยู่ตลอดวัน ถ้าเป็นกลิ่นจากเจ้านายด้วยแล้ว ก็ไม่รู้จะทำยังไง บ่นก็ไม่ได้ บอกก็กลัวเจ้าของกลิ่นจะอาย ถ้าอยู่บนรถไฟ ทนไม่เท่าไรเดี๋ยวก็ลง แต่ถ้าอยู่ในที่ทำงาน ก็ต้องทน

และจากผลการสำรวจว่าด้วยกลิ่นในที่ทำงานโดย PR TIMES Inc. เมื่อปี 2557 พบกว่า ในบรรดาผู้ร่วมงาน ผู้ที่ไม่พอใจกลิ่นอันมีสาเหตุจากเพศตรงข้ามมีมากกว่า 80% กรณีหลักๆ คือ กลิ่นปาก (口臭; kōshū), กลิ่นตัว (体臭;taishū), รักแร้ (脇, waki), เหงื่อ (汗;ase) หรือบางอย่างที่น่าจะเป็นของหอมแต่ก็เปล่าเมื่อมาอยู่บนตัวคน คือ น้ำยาปรับผ้านุ่ม (柔軟剤;jūnanzai) และน้ำหอม (香水;kōsui) แต่สิ่งเหล่านี้ ในสังคมผู้ใหญ่เป็นเรื่องที่พูดยาก จึงไม่มีใครบอกใครตรงๆ และการคุกคามด้วยกลิ่นจึงยังคงเกิดขึ้นต่อไป

พอขึ้นชื่อว่าเป็น “การคุกคาม” ฝ่ายที่ได้รับความเดือดร้อนมักคิดไปถึงการเรียกร้องค่าเสียหาย และก็มีคนสงสัย (เช่นเดียวกับที่ผมสงสัย) ว่า เมื่อถูกคุกคามด้วยกลิ่น ถ้าฟ้องศาล ศาลจะรับฟังหรือไม่ ทว่าเท่าที่ค้นคว้าข้อมูลได้ คือ ไม่เคยมีกรณีดำเนินคดีกับบุคคลอันเป็นต้นเหตุแห่งกลิ่นนั้น ในทางกลับกัน เมื่อผู้ได้รับผลกระทบจากกลิ่นพยายามหาวิธีแก้ไข เช่น ด้วยการนำน้ำยาปรับอากาศมาตั้งไว้ใกล้ๆ หรือนำสเปรย์ดับกลิ่นมาฉีด จนทำให้เจ้าของกลิ่นรู้สึกว่าได้รับความอับอายในที่สาธารณะ คนที่กระทำเช่นนั้นอาจถูกเจ้าของกลิ่นฟ้องร้องได้

และมีกรณีที่เจ้าของกลิ่นคิดจะฟ้องร้องขึ้นมาจริงๆ ด้วย คือ พนักงานคนหนึ่งเป็นคนที่มีกลิ่นตัว เมื่ออากาศร้อน กลิ่นตัวก็รุนแรงขึ้น และถูกรุ่นพี่เตือนในที่ทำงาน รุ่นพี่คนนั้นนำสเปรย์ดับกลิ่นมาฉีดตอนที่เจ้าของกลิ่นไม่อยู่ เมื่อเจ้าตัวรู้เข้าจึงถามว่ามันแย่ขนาดนั้นเลยหรือ ทางรุ่นพี่ตอบว่า “นี่ถ้าขึ้นรถไฟตู้เดียวกันกับนายละก็ จะเปลี่ยนไปขึ้นตู้อื่นเลย”, “บนรถไฟน่ะ นายอยู่ตรงไหน ตรงนั้นคงมีวงกลมล้อม”, “ถูกคุกคามด้วยกลิ่นแบบนี้ ฟ้องได้นะ” อีกทั้งยังนำเรื่องนี้ไปพูดกับคนอื่นด้วย เจ้าของกลิ่นจึงปรึกษาทนายความว่าจะฟ้องร้องรุ่นพี่คนที่สร้างความอับอายให้แก่ตนได้หรือไม่ คำตอบคืออาจจะเข้าข่ายเป็นคดีแพ่งได้
ภาพจาก www.yomyomf.com
จะเห็นได้ว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่อ่อนไหวและไม่ค่อยมีใครกล้าเอ่ยปาก เพราะสร้างความอับอายแก่เจ้าของกลิ่น ผู้ที่ทนกลิ่นก็อาจจะเดือดร้อนตามกฎหมายหากดำเนินการอย่างไม่ระวัง ถ้าไม่ใช่ในที่ทำงานก็คงเลี่ยงได้ แต่ถ้าอยู่ในที่ทำงาน เมื่อเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ก็ควรดูแลตัวเองให้มั่นใจว่าจะไม่สร้างกลิ่นที่รบกวนคนอื่น ผู้ร่วมงานก็ควรบอกกันอย่างสุภาพ ผู้ถูกบอกควรเปิดใจยอมรับและปรับให้ดีขึ้นตามสาเหตุ

แต่การเลือกวิธีก็ต้องคิดกันเล็กน้อย เพราะผลอาจไม่เป็นที่พอใจของคนรอบตัวได้ การสำรวจของ PR TIMES Inc. อีกเช่นกัน ชี้ว่า วิธีการดับกลิ่นที่เพศตรงข้ามใช้และทำให้เพื่อนร่วมงานไม่พอใจคือ “ใช้น้ำหอม 62.6%, ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดเหงื่อ 16.2%, และใช้สเปรย์ดับกลิ่นกาย 16.0% ส่วนวิธีการพื้นฐานก็คืออาบน้ำเช้าเย็น หรือกลิ่นบางชนิดจากร่างกายเกิดจากอาหารที่ทาน ก็ต้องเปลี่ยนอาหารหรือเลิกทาน บางอย่างเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย ก็ต้องยอมรับเสียก่อนว่าเป็นสิ่งที่ต้องรักษา และไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น

ในเมืองไทย “การคุมคามด้วยกลิ่น” อาจไม่เป็นที่พูดถึงในขณะนี้ แต่เราเริ่มสร้างความตระหนักให้มากขึ้นก็น่าจะดีทั้งบนรถไฟและที่ทำงาน แต่จะว่าเมืองไทยไม่มีประเด็นก็ไม่เชิง อย่างในหน้านี้ ถ้าไม่นับทุเรียนถือไมค์ ไปห้องแอร์ที่ไหน ทุเรียนก็ถูกห้ามเข้าทั้งนั้นเพราะเป็นสุดยอดแห่งการคุมคามสำหรับบางคน

และจากนี้ไป อีกกลิ่นหนึ่งซึ่งจะเป็นที่พูดถึงมากขึ้นคือ “กลิ่นสูงวัย” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “คะเรชู” (加齢臭; kareishū) คนญี่ปุ่นพูดเรื่องนี้มานานแล้วเพราะมีคนแก่มากมาย กลิ่นอันเกิดจากวัยที่สูงขึ้นนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ มีงานวิจัยยืนยันว่าองค์ประกอบทางเคมีในร่างกายคนเปลี่ยนไปตามอายุ และกลิ่นของวัยชรา (75-95 ปี) ก็มีลักษณะเฉพาะที่ระบุได้ง่าย (http://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0038110)

ทุกวันนี้สภาพรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เริ่มแออัดจนใกล้เคียงกับของญี่ปุ่นเข้าไปทุกที ทั้งยังเป็นเมืองร้อนอีก ก็ควรต้องใส่ใจตลอดเวลา ไม่งั้นนอกจากเบียดเสียดแล้วยังเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกลิ่นอีก สำหรับผู้ที่ถูกคุกคาม ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ทนเอาหน่อย จะกลั้นหายใจหรืออะไรก็ทำไป เช้าๆ ไปทำงาน ยังไงก็ไม่ควรหงุดหงิดเพราะกลิ่นจากผู้ร่วมทาง หรือจะฟังเพลงให้ลืมๆ ไปเสียก็น่าจะดี อย่างมนต์รักลูกทุ่งก็น่าจะใช้ได้ คงช่วยให้บรรยากาศดีขึ้นบ้างระหว่างทาง “หอมเอย หอมดอกกระถิน...”

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น