xs
xsm
sm
md
lg

ด้วยแรงมือ ชุมชนน่านสร้าง “ฝายมีชีวิต” น้ำทุกหยดถูกกักเก็บตามศาสตร์พระราชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - ประชาคมน่านระดมทุกภาคส่วนจับมือทหาร และซีพี เดินหน้าแผนประชารัฐ หนุนชาวบ้านสร้าง “ฝายมีชีวิต” เห็นผลสำเร็จตามศาสตร์พระราชาแล้ว 38 ฝาย

หน้าฝนในปีนี้น้ำจากฟ้าทุกหยดจะไม่เหือดหายไปจากดินต้นแม่น้ำน่าน เพราะจะถูกดูดซับและเก็บกักไว้ตามฝายเล็กฝายน้อยที่เกิดจากความพยายามร่วมแรงร่วมใจของคนต้นน้ำน่านลุกขึ้นมาทำฝายให้กับชุมชนและหมู่บ้านของตัวเอง เป็นตัวชี้วัดแนวทางประชารัฐและการเดินตามศาสตร์พระราชา เพื่อความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้นของป่าต้นน้ำน่านให้กลับคืนมาอีกครั้ง

โดยศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 32 กองกำลังผาเมือง โดย พ.อ.อัศม์พงษ์ นิลพันธุ์ ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 32 ได้เริ่มต้นเดินหน้าสร้าง “ฝายมีชีวิต” ตามศาสตร์พระราชามาตั้งแต่ช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ได้มีการระดมทำฝายมีชีวิตกระจายไปทั่วทุกลุ่มลำน้ำ ลำห้วยสาขา ซึ่งฝายทุกตัว ล้วนเกิดจากความร่วมมือร่วมใจและเป็นความต้องการของคนในชุมชนหมู่บ้าน โดยการนำทัพพลพรรครักฝายของ นางสุภาพ สิริบรรสพ หัวหน้าสำนักกิจการพิเศษ โรงพยาบาลน่าน หรือคุณนายหลังบ้านของ พลโท วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาค 3 ที่เห็นความสำคัญของน้ำ โดยยึดหลักตามศาสตร์พระราชา และดึงความร่วมมือทุกภาคส่วน ตามแนวทางประชารัฐ

นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน กล่าวว่า ความพยายามในการฟื้นความชุ่มชื้นให้กับป่าต้นน้ำน่าน สิ่งสำคัญคือลำห้วย ลำน้ำสาขา และลุ่มน้ำเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ตามพื้นที่ป่าของชุมชน ซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดฝอยของแม่น้ำน่าน และคือชีวิตของคนทั้งหมู่บ้านที่ต้องใช้ดื่ม ใช้อาบ ใช้ในการเพาะปลูก ถ้าแหล่งน้ำเหล่านี้แห้งแล้งชาวบ้านก็ลำบาก

การสร้างฝายมีชีวิตเป็นการขยายผลโครงการปิดทองหลังพระฯ ภาคประชาสังคมจังหวัดน่าน โดยความร่วมมือของหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งสำนักกิจการพิเศษ ศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน และกรมทหารพรานที่ 32 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน 32 กองกำลังผาเมือง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดน่าน หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับอำเภอลงถึงระดับ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมไปถึงการทำ csr ของบริษัทเอกชนที่มาร่วมกันช่วยพี่น้องชาวน่านในการฟื้นฟูแหล่งน้ำ เพื่อสร้างโอกาสและความเข้มแข็งของชุมชนโดยเฉพาะบนพื้นที่สูง ในพื้นที่อำเภอสองแคว อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.บ่อเกลือ อ.เชียงกลาง อ.ทุ่งช้าง อ.นาน้อย อ.นาหมื่น และ อ.เมืองน่าน เพราะน้ำคือชีวิต

โดยจะเน้นชุมชนเป็นหลักสำคัญ เพราะคือผู้ที่ใกล้ชิดแหล่งน้ำ ต้องเป็นผู้รักษาและรับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งชุมชนเป็นผู้สำรวจและร่วมคิดร่วมทำ หมู่บ้านไหนพร้อมก็เริ่มลงมือทำ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมาก เพราะทุกคนหอบข้าว หอบน้ำ หอบแรงมาช่วยกัน ส่วนวัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย เชือก หน่วยงานพี่เลี้ยงก็จะช่วยกันระดมทรัพยากรหามาร่วมกับพี่น้องชาวบ้านชุมชนในพื้นที่ ดังนั้นทุกครั้งที่ไปทำฝายจึงได้เห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และการช่วยเหลือเอื้ออาทรกันทั้งหมู่บ้าน ทั้งคนนอกที่ไปช่วย จึงเรียกได้เต็มปากว่า ฝายมีชีวิตและคือการปรองดองที่แท้จริง

นางสุภาพ สิริบรรสพ ภริยาแม่ทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ร่วมกันสร้างฝายที่มีชีวิตไปแล้วในพื้นที่จังหวัดน่านซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายหลัก จำนวน 20 ฝาย และในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งสร้างไปแล้ว 18 ฝาย รวมเป็น 38 ฝาย โดยมีครูฝาย ซึ่งเป็นทหารพราน ช่วยสอนชาวบ้านชุมชนให้เป็นครูฝายอีก ซึ่งฝายมีชีวิตมีความทนทานถึง 5 ปี แต่หากฝายชำรุดทรุดพังชาวบ้านก็สามารถซ่อมแซมแก้ไขได้เองโดยไม่ต้องรองบประมาณใดๆ เพราะรู้วิธีสร้างและวัสดุอุปกรณ์หลักๆ อย่างเช่น ไม้ไผ่ ก็มีในพื้นที่ สามารถซ่อมแซมฝายได้เอง และก็จะเป็นความยั่งยืนด้วย

โดยขณะนี้ฝายมีชีวิตที่ทำไปแล้ว 38 ฝายได้เห็นผลสำเร็จตามความตั้งใจทุกฝาย จากที่เคยแห้งขอดก็มีน้ำเอ่อล้นและกลายเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำ กลายเป็นศูนย์รวมใจของคนในชุมชนที่มักจะพากันหมุนเวียนไปตรวจตราฝาย และนึกถึงความเหนื่อยยากที่ช่วยกันทำจนสำเร็จกลายเป็นเรื่องเล่าของคนในชุมชน

อย่างเช่นฝายมีชีวิตบ่อเกลือใต้รวมใจ บ้านผักเฮือก ม.4 ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน มีความเปลี่ยนแปลงในทางระบบนิเวศน์ได้อย่างชัดเจน การทำฝายมีชีวิตสามารถสร้างวังน้ำตามธรรมชาติทำให้สัตว์น้ำและพืชในน้ำ รวมถึงต้นไม้ทั้งสองฝั่งกลับมามีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น ทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากน้ำเพื่อนำไปใช้ในการเกษตรกรรมและการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน และยังช่วยเติมน้ำใต้ดิน น้ำบาดาล บ่อน้ำตื้นที่เคยแห้งเหือดให้กลับมามีน้ำมากขึ้น

นายธีรวุฒิ สุยะ ผู้ใหญ่บ้านผักเฮือก เล่าว่า ลำน้ำเคาะ เป็นลำน้ำสายหลักของตำบลบ่อเกลือใต้ ในหน้าแล้งน้ำก็แห้งขอด ชาวบ้านก็ขาดน้ำ แต่หลังจากที่ได้ร่วมใจร่วมมือกันทำฝายมีชีวิต ลำน้ำเคาะกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ มีปริมาณน้ำที่มากขึ้น และการออกแบบโครงสร้างตัวฝายให้มีลักษณะเป็นขั้นบันไดที่ช่วยชะลอแรงน้ำป่าที่จะมาปะทะในช่วงฤดูน้ำหลาก ก็ยังเป็นแหล่งให้ปลาได้มาอาศัยวางไข่ฟักตัวได้อีกด้วย เป็นแหล่งรักษาและขยายพันธุ์สัตว์น้ำในลำห้วยได้เป็นอย่างดี และเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้ลำน้ำเคาะจะไม่แห้งอีกต่อไป

นอกจากนี้ องค์กรภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมการทำฝายมีชีวิต โดย นายจอมกิตติ ศิริกุล ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้นำอาสาสมัครซีพีขอร่วมแรงทำฝายและร่วมเรียนรู้การทำฝายมีชีวิต รวมทั้งสนับสนุนกระสอบทราย และขอร่วมเป็นภาคีเครือข่ายฝายมีชีวิตที่พร้อมจะสนับสนุนในทุกกิจกรรมสร้างฝายที่จะเดินหน้าต่อไปอีกจำนวนมาก







กำลังโหลดความคิดเห็น