อุบลราชธานี - อดีตนักศึกษา ม.ราชภัฏอุบลราชธานี โวยถูกหมายศาลทวงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษารายละกว่า 1 แสนบาท จากสถาบันการศึกษาเอกชนที่เคยไปเล่นกีฬาให้ คาดถูกแอบอ้างชื่อกู้เงิน รุดแจ้งความ สภ.เมืองอุบลฯ เป็นหลักฐาน ด้านรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอกชนขอตรวจสอบหลักฐานและพร้อมแก้ไขให้เป็นรายบุคคล
วันนี้ (2 ธ.ค. 59) พ.ต.ต.วิจักษณ์ สายเบาะ พนักงานสวนสถานีตำรวจภูธรเมือง จ.อุบลราชธานี ได้รับแจ้งจากนายทศพร ยุวบุตร อายุ 29 ปี พักอยู่เลขที่ 161 บ้านหนองลม หมู่ 12 ต.คำเขื่อนแก้ว อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี และกลุ่มเพื่อนรวม 7 คน ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากศาลแขวงจังหวัดอุบลราชธานีมีหมายเรียกให้นายทศพรกับเพื่อนไกล่เกลี่ยชดใช้เงินกู้ยืมกองทุนเพื่อการศึกษาที่ผูกพันรายได้ในอนาคต หรือ กรอ. เป็นจำนวนเงินคนละประมาณ 1 แสนบาทเศษ กับมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง
แต่นายทศพรและเพื่อนระบุว่าไม่ได้เข้าเรียนกับมหาวิทยาลัยดังกล่าว แต่เคยให้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือเพื่อนบางคนเคยไปเขียนในสมัครเรียนแต่ไม่ได้เรียน เพราะได้ที่เรียนใหม่ที่ต้องการ แต่จู่ๆ มีหมายศาลเรียกให้ไปไกล่เกลี่ยเงินกู้ยืมจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนดังกล่าวทำให้ได้รับความเสียหาย จึงมาแจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อผู้แอบอ้างชื่อพวกตนไปกู้ยืนเงินค่าเรียนดังกล่าว เบื้องต้น พ.ต.ท.ปราโมทย์ ชื่นตา หัวหน้าพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งและจะสืบสวนหาตัวผู้ปลอมแปลงเอกสารของผู้เสียหายมาดำเนินคดีต่อไป
นายทศพร ยุวบุตร ผู้เสียหายเล่าว่า เมื่อประมาณปี 2549 ขณะที่ศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล ได้รับการชักชวนจากอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังให้ไปช่วยเล่นกีฬาให้กับทางมหาวิทยาลัย และได้ขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อทำบันทึกให้นายทศพรเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเพื่อใช้ลงแข่งขันบาสเกตบอล ซึ่งนายทศพรและเพื่อนร่วมทีมบาสเกตบอลได้ให้เอกสารไป แต่ไม่เข้าเรียนจริง กระทั่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีและไปทำงานแล้วหลายปี ต่อมาเมื่อปี 2558 ได้รับหนังสือทวงถามจาก กรอ.ว่าให้คืนเงินกู้ยืม จึงไปติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยเอกชนที่เอาชื่อตนไปซึ่งก็แจ้งว่าจะดำเนินการให้ กระทั่งเมื่อกลางปีถูกศาลแขวงออกหมายเรียกให้ไปไกล่เกลี่ยจึงเข้ามาแจ้งความดังกล่าว
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้สอบถามข้อเท็จจริงจากนายศรัญ งามอัครไพบูลย์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าว ถึงกลุ่มอดีตนักศึกษาเข้าแจ้งความ โดยที่ผ่านมามีอดีตนักศึกษาประมาณ 10 รายมาติดต่อแจ้งว่าถูกกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันรายได้ในอนาคต กรอ.ฟ้องเรียกเงินกู้คืน พร้อมอ้างว่าไม่ได้มาเรียนหรือกู้ยืมเงินแต่อย่างใด ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับเรื่องไว้และอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง
“ถ้าไม่ได้กู้ยืม ทำไมถึงมีเอกสาร มีลายเซ็นของนักศึกษา ต้องใช้เวลาตรวจสอบสักระยะ เพราะเหตุเกิดตั้งแต่ปี 2549 และผมไม่ได้อยู่ช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนจะมีการทุจริตหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะเจ้าหน้าที่บางคนมหาวิทยาลัยให้ออกจากงานไปแล้ว แต่ยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีการคืนเงินบางส่วนให้กับ กรอ.ในส่วนของคนที่ไม่ได้มาเรียนจริงไปแล้ว” นายศรัญกล่าว และว่าต้องการให้นักศึกษามาพบ เพราะมหาวิทยาลัยยินดีแก้ปัญหาให้นักศึกษาตามข้อเท็จจริงเป็นรายไป เนื่องจากแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน โดยบางคนก็มาเรียนบางเทอมแล้วหยุดเรียนไปซึ่งต้องมีภาระผูกพันเรื่องค่าใช้จ่ายระหว่างเข้ามาเรียนด้วย