สุรินทร์ - มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ยังคงมีการเรียนการสอนตามปกติ หลัง คสช.ใช้ มาตรา 44 เชือดผู้บริหาร และสภามหาวิทยาลัย ชี้กรรมการสภาฯ และผู้บริหารชุดใหม่ไม่ควรเป็นคู่ขัดแย้งเดิม แต่ควรเป็นคนกลางอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นปัญหาไม่จบสิ้นแน่
วันนี้ (15 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุรินทร์ จ.สุรินทร์ บรรยากาศยังมีการเรียนการสอนตามปกติ หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 39/2559 มีผลบังคับใช้กับมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงอื่นๆ โดยให้อำนาจคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) สามารถเข้าไปตรวจสอบมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องธรรมาภิบาล การแต่งตั้งของสภามหาวิทยาลัย นายกสภาฯ คณะกรรมการสภาฯ และอธิการบดี ตลอดจนมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาเปิดหลักสูตรเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ หรือการจัดการเรียนการสอนที่ไม่มีคุณภาพได้ โดยไม่ติดขัดในข้อกฎหมาย
โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้โดยทันที กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (ม.รภ.สุรินทร์) และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ที่มีความขัดแย้งมายาวนาน จากกรณีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัย นายกสภามหาวิทยาลัย และผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี
อาจารย์รัชดา ธนูศิลป์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ และกรรมการสภามหาวิทยาลัย (ผู้แทนคณาจารย์) มรภ.สุรินทร์ กล่าวว่า ม.44 เรื่องนี้ไม่มีผลกระทบต่อคณาจารย์ จะกระทบเฉพาะฝ่ายผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น ส่วนการที่จะอยู่หรือจะไป หรือจะยุติบทบาทหน้าที่หรือจะยังคงอยู่ขึ้นอยู่กับคำสั่งของกรรมการที่จะมีคำสั่งออกมา
ด้าน ดร.อัครเดช สุพรรณฝ่าย รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภา กล่าวว่า มูลเหตุสำคัญที่ คสช.ใช้ ม.44 มาจากความเห็นต่างระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยสภามหาวิทยาลัยกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ใน 3 เรื่อง คือ การเสนอชื่ออธิการบดี เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ซึ่งสภาฯ ส่งไปแล้วร่วม 7 ปี สกอ.ยังไม่ดำเนินการ ด้วยเหตุผลว่ามีผู้ร้องเรียน มีความเห็นในข้อกฎหมายที่แตกต่างกันซึ่งสิ้นสุดที่ศาลปกครองแล้ว
เรื่องที่ 2 การสอบวินัยร้ายแรง หลังคณะกรรมการมีการสอบมีผลออกมาแล้วว่าไม่ได้ผิดวินัยร้ายแรงซึ่งเป็นที่ยุติแล้ว และเรื่องการฟ้องร้องนายสุเมธ แย้มนุ่น อดีตเลขาธิการ สกอ. ในข้อหาละเว้น ตามมาตรา 157 จนศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งจำคุก นายสุเมธ แย้มนุ่น 1 ปี (รอลงอาญา) ไปแล้ว
เมื่อมีคำสั่ง ตาม ม.44 ออกมา คณะผู้บริหารเองคงต้องทำหน้าที่ดูแลมหาวิทยาลัยจนถึงที่สุดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย นักศึกษา บุคคลากร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ให้ดีที่สุด การใช้อำนาจเป็นส่วนของผู้มีอำนาจที่จะใช้ ต่อจากนี้ไปจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสภาฯ และผู้บริหารชุดใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อตั้งแล้วต้องแสดงให้เห็นว่าทำดี และรับผิดชอบในสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วย ตนพร้อมปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่ออกมา หวังว่าการทำหน้าที่ของผู้มีอำนาจทุกส่วนจะทำให้ปัญหาที่ผ่านมาคลี่คลายลง นำไปสู่ทางออกที่ดี เพื่อประโยชน์ของนักศึกษา มหาวิทยาลัย และสังคมไทยต่อไป
แหล่งข่าวรายหนึ่งในแวดวงการศึกษา จ.สุรินทร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ คสช.ใช้ ม.44 เพื่อคลี่คลายปัญหาที่แก้ไม่ได้มานาน แต่คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารชุดใหม่ คสช.และ กกอ.ไม่ควรนำบุคคลที่เป็นคู่ขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมามาทำหน้าที่ ควรเป็นคนกลางอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นปัญหาจะไม่จบ เสมือนว่าฝ่ายหนึ่งล้มอีกฝ่ายเพื่ออยากเข้ามามีอำนาจเสียเอง คสช.ต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก เพราะอาจถูกมองจากสังคมว่าใช้อำนาจเพื่อเปิดทางเอื้อให้คู่ขัดแย้ง จะกลายเป็นการไม่ยุติธรรมเสียเอง