สุรินทร์ - “พล.อ.ดาว์พงษ์” รมว.ศึกษาฯ บุกมอบนโยบายการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาล ม.ราชภัฏสุรินทร์เป็นครั้งแรก หลัง คสช.งัด “ม.44” เชือดสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารเก่ายกชุดพร้อมจี้เอาผิด ระบุตั้งใจมาเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากร เจ้าหน้าที่ และมอบแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งปรึกษาหารือเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาให้ มรภ.สุรินทร์เดินหน้าต่อไปได้
วันนี้ (10 ส.ค.) ที่ตึกคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุรินทร์ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาเข้าหารือร่วมกับคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ก่อนเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแก่คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย จำนวน 500 คน ในการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลใน มรภ.สุรินทร์ที่ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม พร้อมขอให้ไปตรวจสอบประเด็นในข้อกฎหมายอื่นๆ เช่น การจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งเพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อไป และหากสภามหาวิทยาลัยรับรู้ต้องรับผิดชอบเช่นกัน
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวภายหลังหารือร่วมกับคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ว่า วันนี้ตั้งใจมาเยี่ยม และมาให้กำลังใจแก่บุคลากร เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบ และแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา
“การมาเยี่ยมในครั้งนี้ตั้งใจมามอบแนวทางการดำเนินงาน และปรึกษาร่วมกัน เพื่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเรื่องต่างๆ ที่มันเคยเกิดขึ้นมาเราจะร่วมมือกันช่วยกันแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์เป็น 1 ใน 2 แห่งจากทั่วประเทศที่ถูกใช้ ม.44 กรณีดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจาก คสช.มีคำสั่งที่ 39/2559 มีผลบังคับใช้กับมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงอื่นๆ โดยให้อำนาจคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) สามารถเข้าไปตรวจสอบมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องธรรมาภิบาล การแต่งตั้งของสภามหาวิทยาลัย นายกสภา กรรมการสภา และอธิการบดี ตลอดจนมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาเปิดหลักสูตรเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ หรือการจัดการเรียนการสอนที่ไม่มีคุณภาพได้ โดยไม่ติดขัดในข้อกฎหมาย
ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สกอ. และ กกอ. ไม่มีอำนาจเข้าไปดูแลมหาวิทยาลัยรัฐ และไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยรัฐ เพราะติดขัดในข้อกฎหมายที่ให้อำนาจในการบริหารจัดการเป็นของสภามหาวิทยาลัยรัฐแต่ละแห่ง เมื่อ คสช.บังคับใช้ ม.44 กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิที่มีความขัดแย้งมายาวนาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลในการบริหาร และการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะในข้อ 12 คำสั่งที่ 39/2559 ให้มีผลบังคับโดยทันที
ทั้งนี้ สาเหตุที่นำไปสู่การใช้ ม.44 กับ มรภ.สุรินทร์นั้นมีปัญหามาจากทั้งการปฏิเสธไม่นำเสนอโปรดเกล้าฯ อธิการบดีมหาลัยราชภัฏสุรินทร์ (นางอัจฉรา ภานุรัตน์) ยืดเยื้อยาวนานมาถึง 8 ปี การถูกชี้มูลความผิดทุจริตโดย สตง. การมีส่วนร่วมลงมติแก้ไขข้อบังคับของมหาวิทยาลัย โดยยกเลิกลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี เพื่อให้ตนเองสามารถเข้ารับการสรรหาได้ (เนื่องจากขณะนั้นอยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง) การรักษาราชการแทนอธิการบดีเกิน 180 วันหลายครั้ง ขัดต่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและขัดต่อ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ และการไม่ปฏิบัติตามบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเคยสั่งการมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วย