xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมใช้งบกว่า 800 ล้านบาท ปรับภูมิทัศน์แหลมบาลีฮาย รับกิจกรรมสวนสนามทางเรือนานาชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเชาวลิตร  แสงอุทัย รองผู้ว่าราช การจังหวัดชลบุรี เป็นประธานการประชุม
ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะกรรมการจัดระเบียบท่าเรือท่องเที่ยวพัทยาใต้ แจงต้องใช้งบกว่า 800 ล้านบาท ปรับภูมิทัศน์ สร้างท่าเรือใหม่ และอาคารเพื่อรองรับการกิจกรรมสวนสนามทางเรือนานาชาติ บริเวณแหลมบาลีฮาย

จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการนำของมณฑลทหารบกที่ 14 มีนโยบายให้ดำเนินการจัดระเบียบท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยาใต้ แหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ขึ้นใหม่ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว และทวงคืนพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังเป็นแผนการปรับภูมิทัศน์เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมสวนสนามทางเรือนานาชาติ ในช่วงปลายปี 2560

โดยมีมติให้ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวจำนวนกว่า 700 ลำ ทำการย้ายเรือ และอุปกรณ์ออกจากบริเวณลานสาธารณะขนาดพื้นที่กว่า 10 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น ซึ่งต่อมา ได้มีหนังสือคำสั่งจังหวัดชลบุรี ที่ 6358/2559 ให้ทำการแต่งตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงานจัดระเบียบท่าเทียบเรือพัทยาใต้ขึ้น โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ทั้งหมด เพื่อร่วมพิจารณาในการจัดระเบียบพื้นที่ดังกล่าวใหม่ ทั้งการพัฒนา การจัดการจราจร ความปลอดภัย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคต

ล่าสุด วันนี้ (17 พ.ย.) ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายเชาวลิตร แสงอุทัย รองผู้ว่าราช การจังหวัดชลบุรี เป็นประธานการประชุมร่วมคณะกรรมการและคณะทำงานเป็นครั้งแรกหลังได้รับการแต่งตั้ง โดยได้มีการชี้แจงถึงผลการปฏิบัติ รวมทั้งแผนในการพัฒนาและปรับปรุง และการแก้ไขปัญหาจากการจัดระเบียบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา

นายเชาวลิตร กล่าวว่า หลังการดำเนินการจัดระเบียบในการทวงคืนพื้นที่สาธารณะแล้ว ก็พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือด้วยดี และไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้นโยบายเดินไปอย่างรอบคอบ และมีผลปฏิบัติที่เกิดประโยชน์สูงสุดจึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลใน 4 ด้านหลัก ได้แก่

1.ส่วนกำหนดนโยบายและอำนวยการ 2.ส่วนทำงานด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม 3.ด้านความปลอดภัยและการจราจรทางบก และ 4.ด้านความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ ซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมทำงาน ซึ่งจะมีการจัดประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิบัติชัดเจน ก่อนสรุปเสนอต่อคณะของ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่จะเดินทางมาตรวจเยี่ยมในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้

สำหรับนโยบายที่มอบหมายให้ไปนั้น ทั้งการเรื่องโยกย้ายพื้นที่จอดเรือไปยังพื้นที่ส่วนบุคคลซึ่งมีปริมาณเรือกว่า 1,000 ลำ ทำให้พื้นที่การจอดกระจัดกระจายไปตามส่วนต่างๆ จึงอาจมีปัญหาในเรื่องของการลากจูง รวมทั้งระยะเวลาที่กำหนดเกี่ยวกับการนำเรือขึ้นลงจากน้ำ ซึ่งกำหนดเวลาไว้ในช่วง 20.00-05.00 น.

อีกทั้งที่ผ่านมา ทางผู้ประกอบการเองก็ยังได้ร้องขอให้ทำการปรับเปลี่ยนเวลาใหม่เป็น 04.00-09.00 น. สำหรับนำเรือลง และ 15.00 น.เป็นต้นไป สำหรับการนำเรือขึ้นบก ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมการต้องเร่งหารือว่าจะสามารถแก้ไข หรือผ่อนปรนได้หรือไม่ เนื่องจากอาจมีปัญหาเรื่องของสภาพการจราจร ด้วยท่าขึ้นลงแห่งใหม่ที่จัดไว้อยู่บริเวณชายหาดจอมเทียน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ขณะที่กรณีของการปรับเปลี่ยนจุดขึ้นลงเรือจากบริเวณชายหาดนั้น ได้มอบหมายให้เมืองพัทยาเร่งพิจารณาแก้ไขเร่งด่วน เพื่อลดปัญหาภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว ปัญหาการจราจรบริเวณถนนสายชายหาด และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วย

ด้าน นายวุฒิพล เจริญผล หัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยาเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับพฤติกรรมในการรับส่งนักท่องเที่ยวของผู้ประกอบการเรือบริเวณชายหาดพัทยานั้น จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลา 06.00 น.ของทุกวัน ในปริมาณนักท่องเที่ยวกว่า 10,000 คนต่อวัน แต่ด้วยสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ตกต่ำจึงทำให้เหลือเพียง 3,000 คนต่อวันเท่านั้น โดยมีผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวรวม 26 ราย ซึ่งปัจจุบันการจะโยกย้ายพื้นที่มาใช้บริเวณท่าเรือหลักนั้นพบว่า จุดรับส่งมีเพียง 2 ท่าซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันขณะนี้มีการนำเสนอขอจัดสรรงบประมาณต่อสภาเมืองพัทยาเพื่อทำการจัดสร้างท่าเทียบเรือเพิ่มเติมอีก จำนวน 2 จุด จากนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติอีกครั้ง โดยช่วงนี้คงต้องอยู่ในภาวะผ่อนปรนไปสักระยะหนึ่งก่อน

ขณะที่โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้นั้น เมืองพัทยาได้จัดทำแผนโครงการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่มีการพิจาณางบประมาณของเมืองพัทยา ได้แก่ การปรับปรุงสะพานท่าเทียบเรือเดิม ในพื้นที่ 5,560 ตารางเมตร ในงบประมาณ 30 ล้านบาท และปรับปรุงอาคารท่าเทียบเรือพื้นที่ 550 ตารางเมตร งบประมาณ 25 ล้านบาท การจัดทำระบบกล้องวงจรปิดหรือ CCTV จำนวน 96 จุด งบประมาณ 40 ล้านบาท ท่าเทียบเรือเร็ว จำนวน 2 ท่า งบประมาณ 15 ล้านบาท และปรับภูมิทัศน์โดยรอบพื้นที่ 10 ไร่ งบประมาณ 97 ล้านบาท

ส่วนที่ 2 ได้แก่งบประมาณที่จะขอจัดสรรจากภาครัฐ ได้แก่ การก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือใหม่ ขนาด 12x380 เมตร พื้นที่ 4,560 ตารางเมตร พร้อมท่าเรือ 10 จุด มูลค่า 575 ล้านบาท และอาคารรับรองการจัดกิจกรรมสวนสนามทางเรือนานาชาติ จำนวน 27 ล้านบาท โดยงบทั้ง 2 ส่วนนั้นกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งจะได้มีการพิจารณาร่วมเพื่อนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
หลายหน่วยงานร่วมประชุม เพื่อวางรูปแบบในครั้งนี้
มณฑลทหารบกที่ 14  เข้ามารับผิดชอบ เพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น