สระแก้ว - เจ้าแขวงจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ลงพื้นที่ศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ตามโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ชมการบริหารจัดการกลุ่มของสหกรณ์การเกษตร ผู้ผลิตผักปลอดสารพิษในระบบอินทรีย์ ที่บ้านเขามะกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกล้าณรงค์ พงษ์เจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสระแก้ว ได้ให้การต้อนรับ Mr.Bounthong Dyvixay เจ้าแขวงจำปาสัก (บุนถอง ดีวิไซ) Mr.Santiphab Phomvihane เจ้าแขวงสะหวันนะเขต (สันติพาบ พมวิหาน) ในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานตามโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเจ้าแขวงจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ค.ศ.2016 (ครั้งที่ 8) ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2559 และในโอกาสนี้ ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาเศรฐกิจและสังคม ก่อนที่ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน
จากนั้นคณะได้ลงพื้นที่รับฟังการบรรยายการบริหารจัดการกลุ่มของสหกรณ์การเกษตร ผู้ผลิตผักปลอดสารพิษในระบบอินทรีย์ ที่บ้านเขามะกา อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว โดยมีนายไพรัตน์ ฉิมมากรู ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 บ้านเขามะกา ต.ศาลาลำดวน จ.สระแก้ว พร้อมกับชาวบ้านให้การต้อนรับที่มาศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการรวมกลุ่มการปลูกผักปลอดสารอินทรีย์ เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้วจึงได้รวมกลุ่มกันปลุกผัก ซึ่งใช้พื้นที่กลางจากนิคมสหกรณ์สระแก้ว ในเนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ มีสมาชิก จำนวน 46 ครัวเรือน โดยการปลูกผักในระบบอินทรีย์ เพื่อลดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้ปลิต และผู้บริโภคผัก โดยมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาให้คำแนะนำ
นายไพรัตน์ ฉิมมากรู ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า เนื่องจากการประกอบอาชีพของเกษตรกรในปัจจุบัน เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีทางการเกษตรมากทำให้สภาพดินเสื่อมโทรม สุขภาพร่างกายของเกษตรกรผู้ผลิตเสื่อมโทรม และผลผลิตทางการเกษตรเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ปัจจุบันเกษตรกรบ้านเขามะกา หมู่ 10 ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ทำการปลูกผักต่างๆ ได้แก่ มะระ พริก ถั่วฝักยาว ฟัก แฟง ฟักทองเพื่อจำหน่ายโดยมีพ่อค้ามารับซื้ออยู่แล้ว แต่การผลิตผักดังกล่าวมีการลงทุนสูง ดังนั้น จึงรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตผักปลอดสารพิษขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และลดสารเคมีทางการเกษตร
ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน ได้ผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความปลอดภัย จากนั้นคณะก็ได้เดินเยี่ยมชมผักปลอดสารพิษ ก่อนที่จะเดินทางศึกษาดูงานต่อที่สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ต่อไป