กาฬสินธุ์ - ประธานสมาพันธ์ SME ไทย จ.กาฬสินธุ์ แนะผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อข้าวจากชาวนา ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เชื่อชาวนาได้รับประโยชน์โดยตรง เน้นข้าวปลอดสารพิษ ข้าวอินทรีย์คุณภาพ พร้อมเปิดหน้าร้านให้ชาวบ้านวางจำหน่ายสินค้าแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายค่าเช่า
วันนี้ (11 พ.ย.) ที่ศูนย์จำหน่าย คิวช็อป ฟาร์มเอาต์เล็ต นางมัณฑนา เล็กสมบูรณ์ ประธานสมาพันธ์ SME ไทย จ.กาฬสินธุ์ที่ปรึกษาหอการค้า จ.กาฬสินธุ์ และประธาน 1 ไร่ 1 แสน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวถึงสถานการณ์ข้าวในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ว่าในส่วนของราคานั้นชาวนาได้รับผลกระทบแน่นอน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพ ความเป็นเกษตรกรต้องมีหนี้ จำเป็นต้องแบ่งข้าวออกเป็น 2 ส่วน 65% คือ ข้าวที่ขายใช้หนี้ส่วนที่เหลือ 35% เก็บไว้กินในครัวเรือน เอาไว้จัดงานบุญและทยอยสีขายหากจำเป็น
ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยผลผลิตข้าวต่อไร่ของเกษตรกรในพื้นที่ยังไม่สูงมากนัก เฉลี่ยที่ 300 กก.ต่อไร่ ขณะที่นาข้าวอินทรีย์ซึ่งเป็นนาข้าวคุณภาพในส่วนของเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรพอเพียง และกลุ่ม 1 ไร่ 1 แสนฯ จะมีผลผลิตอัตราสูงกว่าเฉลี่ยที่ 400-500 กก.ต่อไร่ และมีการสีข้าวแบบขายปลีกที่มีคุณภาพสูงข้าวมีความหอมนุ่ม อร่อย โดยเฉพาะข้าวสุขภาพประเภทข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวกล้อง ข้าวหอมนิล และข้าวหอมมะลิ
นอกจากนี้ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังมีข้าวคุณภาพอย่างข้าวเขาวง ทั้งข้าวเหนียวที่เป็นข้าว GI และข้าวเจ้าหอมมะลิ
นางมัณฑนากล่าวต่อว่า ขณะนี้หากเลือกซื้อข้าวคุณภาพซึ่งเป็นข้าวของเกษตรกรเครือข่ายอินทรีย์ ผู้บริโภคก็ได้บริโภคข้าวปลอดภัย 100% เพราะข้าวอินทรีย์ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพจะทยอยสีข้าวออกจำหน่าย นั่นหมายถึงข้าวสารจะไม่มีการรมยา สารป้องกันมอด หรือเคมีอื่นๆ ข้าวหมดจึงจะสีมาขายครั้งละเล็กละน้อย แต่ข้าวที่ได้จะมีความหอมนุ่มและอร่อยในทุกประเภทข้าว
“หากให้แนะนำจริงๆ ขอให้เลือกซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง หรือเลือกซื้อกับคนทำนาที่เรารู้จัก สีโรงสีเล็กๆ ราคาอาจจะถูกกว่าที่เราซื้อข้าวโรงสีใหญ่ก็ได้ แต่เรื่องคุณภาพนั้นรับประกันว่าปลอดภัยแน่นอน” นางมัณฑนากล่าว และว่า หากเป็นไปได้ถ้าใครพอมีพื้นที่ก็ลองหันมาปลูกข้าวกินเองซึ่งต้องลองทำดู ไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะศาสตร์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ท่านทรงถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องข้าวเอาไว้มากมาย เป็นความรู้ที่นำมาปฏิบัติได้ แต่ถ้ายังไม่สะดวกก็เลือกซื้อข้าวตามแหล่งซื้อข้าวคุณภาพก็มีอยู่มาก ทั้งกลุ่มเครือข่ายอินทรีย์ หรือที่คิวช็อป ร้านฟาร์มเอาต์เล็ตต่างๆ ทั่วประเทศ
นายมัณฑนากล่าวอีกว่า ผลพวงจากการกดราคาข้าวทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนนั้น ในส่วนของคิวช็อป ฟาร์มเอาต์เล็ต พร้อมที่จะช่วยเหลือชาวนาอย่างเต็มที่ นำข้าวปลอดสารเคมี นาข้าวอินทรีย์มาขายที่เราได้ ทางเราจะรับซื้อในราคาที่เหมาะสม รวมถึงเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำข้าวมาจำหน่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพราะต้องการช่วยเหลือกัน แม้จะเป็นนักธุรกิจแต่ตอนนี้ตนก็ได้หันมาปลูกข้าวกินในครัวเรือนเอง ไม่ใช่เรื่องประหยัด แต่เป็นความสุขทางใจที่ได้กินข้าวที่ตัวเองปลูกเอง มั่นใจว่าเป็นข้าวคุณภาพปลอดภัยจากสารเคมี
“ในส่วนธุรกิจก็เลือกที่จะช่วยเหลือชาวนาด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มนาข้าวอินทรีย์ นาข้าวปลอดสารเคมีที่ขายข้าวกัน กก.ละ 70-80 บาท อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกรได้หันมาทำนาแบบใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวให้สูงขึ้นด้วย”