xs
xsm
sm
md
lg

ตัวอย่าง ลูกจ้างบริษัทเอกชนเปิดเว็บเพจ ช่วยพ่อแม่ขายข้าว แค่ 2 สัปดาห์ทำยอดเกือบตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - ไม่ง้อคนกลางอีกต่อไป กรณีตัวอย่าง ลูกชาวนาทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนเปิด เว็บเพจประกาศขายข้าวช่วยพ่อ-แม่ ฝ่าวิกฤตข้าวราคาตกต่ำ เผยตอนแรกพ่อแม่ไม่ค่อยเชื่อจะช่วยเหลือได้ แต่ผ่านไปแค่ 2 สัปดาห์ทำยอดขายได้เกือบตัน

กระแสร่วมด้วยช่วยกันช่วยพี่น้องชาวนาขายข้าวเพื่อฝ่าวิกฤตข้าวราคาตกต่ำในขณะนี้ ทำให้เห็นปรากฏการณ์ความเอื้ออาทรที่คนไทยทุกสาขาอาชีพไม่เคยทิ้งกันในยามยาก ในส่วนของชาวนาเอง หลังผ่านสถานการณ์ปัญหาครั้งนี้ไปได้ ต้องหันมาทบทวนวิธีการทำเกษตรกรรมกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้อาชีพที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษมีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องเป็นเบี้ยล่างกลุ่มนายทุน พ่อค้าคนกลางอีกต่อไป

โดยเฉพาะครอบครัวเกษตรกรหรือครัวเรือนใดที่ลูกหลานเรียนจบแล้วมีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารร่วมสมัย ก็ให้ลูกหลานใช้ช่องทางการสื่อสารเหล่านั้นเป็นเครื่องมือแสวงหาตลาดช่วยพ่อ-แม่ขายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพ่อค้านายทุน

นี่...คืออีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของลูกหลานชาวนาไทยที่ใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีการสื่อสารในสังคมออนไลน์ช่วยครอบครัวขายข้าวโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง

นางสาวรัชนก เนืองทอง อายุ 37 ปี พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี เล่าว่า แม้ตัวเธอจะทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน แต่พื้นฐานครอบครัวทำเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลัก เกิดและเติบโตมาจากท้องไร่ท้องนา ครอบครัวตั้งแต่ปู่ย่า ตายาย พ่อ แม่ ก็ทำนาสืบทอดต่อกันมา ตัวเธอเองก็ทำนาเป็นเช่นกัน ตั้งแต่จำความได้ทุกๆ ปีหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต พ่อแม่ก็จะขนขายข้าวเปลือกไปขายให้กับโรงสีหรือไม่ก็พ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น

“พ่อกับแม่ก็มักบ่นว่าขายข้าวแต่ละครั้งไม่ได้กำไร แต่ก็ต้องทำ เพราะต้องหาเงินส่งลูกเรียนหนังสือ จนเรียนจบปริญญาตรี จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบแล้วก็เข้าทำงานบริษัทเอกชนเป็นมนุษย์เงินเดือนเต็มตัว” นางสาวรัชนกกล่าวและเล่าต่อว่า

ราคารับซื้อข้าวเปลือกทุกชนิด ตามลานรับซื้อและโรงสีใหญ่ในพื้นที่ ปีนี้อยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ทั้งข้าวเหนียว ข้าวเจ้า อยู่ที่กิโลกรัมละ 5-6 บาท พ่อ-แม่ ก็บอกว่าได้ราคาต่ำมาก ตนเลยบอกไปว่า จะช่วยขายข้าวอีกทางหนึ่ง จึงเกิดแนวคิดที่จะลองประกาศขายข้าวผ่านสังคมใน Face book จึงตัดสินใจเปิดเว็ปเพจขึ้นมา แล้วประกาศขายข้าวผ่านทางเพจ

ข้าวที่นำมาประกาศขายเป็นข้าว ดอ ทั้งข้าวเหนียว ดอ และ ข้าวเจ้า ดอ (กข 15) ขายในราคา 25 บาทต่อกิโลกรัม (ข้าวเหนียว ดอ) ส่วนข้าวเจ้าดอ กข 15 ก็ขายในราคา 25 บาทต่อกิโลกรัมเช่นกัน ซึ่งลูกค้าที่สั่งซื้อเข้ามาปริมาณ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ตนจะจัดส่งให้ฟรี ในเขตอำเภอเมืองอุดรธานี หากสั่งไม่ถึง 10 กิโลฯ ขอคิดค่าน้ำมัน 20 บาท ซึ่งประกาศขายในเว็บเพจแค่เพียง 2 สัปดาห์ มียอดสั่งซื้อข้าวไปแล้วกว่า 800 กิโลกรัม และตอนนี้มีแนวคิดว่าจะขายข้าวกล้องเพิ่มอีก

นางสาวรัชนกบอกว่า ครอบครัวตนปลูกข้าวอยู่ในพื้นที่ ต.นาโพธิ์ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร มีนาข้าวอยู่ 15 ไร่ ปลูกข้าวเหนียว กข 15 และข้าวเจ้าหอมมะลิ ปีนี้ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้วได้ไม่มากนัก ในแต่ละปีจะแบ่งขายครึ่งหนึ่งและเก็บไว้กินกันเองในครอบครัวอีกครึ่งหนึ่ง

“ตอนแรกๆ พ่อกับแม่มีความกังวลเหมือนกันว่าจะขายได้หรือเปล่า ลูกจะเสียเวลาในการทำงานหรือไม่ แต่พอฉันนำเงินที่ได้มาจากขายข้าวหมื่นกว่าไปให้ พ่อกับแม่ก็ดีใจและแปลกใจว่าทำไมลูกทำได้ ก็รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ช่วยพ่อแม่”

นางสาวรัชนกยังบอกอีกว่า ตอนนี้ตนมีความคิดว่าอยากจะกลับไปพัฒนาการทำการเกษตรที่บ้านเกิดตัวเอง เพราะมองว่าการทำอาชีพเกษตรหากมีการวางแผนล่วงหน้า และทำการเกษตรแบบผสมผสานไม่พึ่งผลผลิตอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถอยู่รอดได้อย่างมั่นคง เก็บผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปี ก็ให้รู้จักเก็บออมเอา เงินเก็บเงินก้อนก็ตามมาเอง

“สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการช่วยพ่อแม่ขายข้าวไปก่อน จริงๆ แล้วภาคเอกชนกับภาคเกษตรกรสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้และพึ่งพาอาศัยกันได้ ขอแค่ไม่เอาเปรียบกันเองเท่านั้นแหละ” นางสาวรัชนกกล่าว

   นางสาวรัชนก เนืองทอง  พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น