ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “Uber” รุก “เชียงใหม่” ตามคำเรียกร้อง เมืองที่ 2 ในประเทศไทย ชูแนวคิด “การเดินทางร่วม” ทดลองเปิดให้บริการการเดินทาง เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.59 เป็นต้นมา พบเพียง 2 สัปดาห์ผลตอบรับดีเยี่ยม วางตัวทางเลือกในการเดินทางให้ผู้คน และช่วยส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นมากกว่าที่จะเป็นคู่แข่ง ย้ำจุดยืนเป็นผู้บริการแอปพลิเคชันและเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ต้องการเดินทาง ไม่ใช่รถรับจ้างสารสาธารณะ
วันนี้ (15 พ.ย.) ที่จังหวัดเชียงใหม่ นางเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรเเละนโยบาย เอเชียแปซิฟิก Uber (อูเบอร์) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.59 เป็นต้นมา Uber ได้เริ่มทดลองเปิดให้บริการการเดินทางให้แก่ชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว โดยเบื้องต้นให้บริการครอบคลุมพื้นที่ในตัวเมืองเชียงใหม่ และถนนวงแหวนรอบ 3 อัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 20 บาท คิดเพิ่มกิโลเมตรละ 2 บาท หรือกรณีการจราจรติดขัดคิดเพิ่มนาทีละ 2 บาท
ขณะเดียวกัน ยังมีค่าโดยสารราคาเหมาสำหรับการรับจากสนามบิน หรือไปส่งที่สนามบิน 150 บาท และสำหรับรับจากดอยสุเทพ หรือไปส่งที่ดอยสุเทพ 250 บาท โดยสามารถชำระค่าบริการได้ทั้งเงินสด และบัตรเครดิต ซึ่งตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในส่วนของผู้ร่วมขับ และผู้โดยสารที่ใช้บริการ รวมทั้งยังมีแนวโน้มที่ดี และขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
ทั้งนี้ การเปิดให้บริการที่เชียงใหม่ของ Uber นั้น นับเป็นเมืองที่ 2 ในประเทศไทยต่อจากกรุงเทพฯ โดยที่ปัจจุบัน Uber บริการอยู่ใน 18 เมืองทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมืองต่างๆ ทั่วโลกรวมแล้วกว่า 450 เมือง ใน 72 ประเทศ ซึ่งการตัดสินใจเริ่มทดลองเปิดให้บริการในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งเป็นผลจากการที่ในปีที่ผ่านมา มีการแสดงความคิดเห็นและเสียงเรียกร้องจากผู้คนทั้งที่เคยใช้บริการของ Uber และไม่เคยใช้บริการรวมกว่า 100,000 คน ที่ต้องการให้มีการเปิดบริการของ Uber ในเชียงใหม่ โดยในจำนวนผู้ที่แสดงความคิดเห็นและเรียกร้องนั้นแบ่งเป็นคนไทยจากต่างถิ่นที่เข้ามาท่องเที่ยว 28% ชาวต่างชาติ 61% และคนเชียงใหม่ 11%
สำหรับการเริ่มเข้ามาให้บริการของ Uber ในเชียงใหม่นั้น นางเอมี่ ระบุว่า เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางให้ผู้คน และเป็นการเข้ามาช่วยส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นมากกว่าที่จะเป็นคู่แข่งกัน ตลอดจนเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวบนท้องถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ ด้วยการนำแนวคิด “การเดินทางร่วม” มาใช้ในการให้บริการ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ปัจจุบันมีจำนวนรถยนต์ที่สัญจรไปมาบนถนนทั้งสิ้นกว่า 250,000 คัน และส่วนใหญ่เป็นการเดินทาง 1 คนต่อ 1 คัน
ทั้งนี้ ด้วยแนวคิดดังกล่าวของ Uber ที่นำมาใช้ให้บริการหากเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพเชื่อว่าน่าจะสามารถช่วยลดปริมาณรถยนต์ที่สัญจรไปมาบนถนนลงได้ถึง 45%
ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรเเละนโยบาย เอเชียแปซิฟิก Uber ย้ำว่า สินค้าและบริการของ Uber ไม่ใช่บริการรถรับจ้างสารสาธารณะ แต่เป็นแอปพลิเคชัน และเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ต้องการเดินทาง ด้วยการจับคู่กับเจ้าของรถยนต์ที่เป็นผู้ร่วมขับของ Uber ผ่านระบบ และแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้บริการโหลด และใช้งานได้ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยที่ทั้งผู้โดยสารที่เดินทาง และผู้ร่วมขับจะทราบข้อมูลรายละเอียดของทั้งสองฝ่าย
รวมทั้งระหว่างการเดินทางจะมีการเก็บข้อมูลการเดินทางด้วยระบบ GPS ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงปลายทางด้วย เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และความปลอดภัยให้แก่ทั้งสองฝ่ายอีกเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการยังสามารถให้คะแนนความพึงพอใจหลังการเดินทางได้ด้วย เพื่อให้ Uber ใช้เป็นข้อมูลให้การพัฒนาการให้บริการ
ส่วนกรณีที่ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ มีการระบุว่า การให้บริการของ Uber มีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ จากการนำรถยนต์ส่วนตัวไปใช้รับส่งผู้โดยสารนั้น นางเอมี่ ชี้แจงว่า แนวคิด “การเดินทางร่วม” อาจจะยังเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย และยังไม่มีกฎหมายใดๆ บังคับใช้ครอบคลุมในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทาง Uber ได้มีการประสานการทำงานร่วมกับทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการบังคับใช้กฎหมายมาอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้มีการออกกฎหมายที่ครอบคลุมในเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
พร้อมทั้งยืนยันว่า การให้บริการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และเน้นย้ำว่าสินค้าและบริการของ Uber คือ แอปพลิเคชัน และเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ต้องการเดินทางเท่านั้น ไม่ใช่บริการรถโดยสารสาธารณะ