เพชรบูรณ์ - เจ้าหน้าที่บุกตรวจ “โคกหญ้าเฮี้ยน” กลางป่าน้ำหนาว เจอไม้ชิงชันแปรรูปกองเต็ม เชื่อคนมีสีหนุนมอดไม้เมืองเลย ร่วมกับมอดไม้น้ำหนาว ลอบตัดส่งขายนายทุน ขณะที่ นอภ.หล่มเก่า-ป่าไม้ เดินหน้าขอคืนเขาหัวโล้นฟื้นสภาพป่าก่อนเป็นทะเลทราย รับดอยเพชรบูรณ์-เลย โล้นแล้ว 5 หมื่นไร่
วันนี้ (12 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ปกครอง ตำรวจ และชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้านดงคล้อ สนธิกำลังเข้าตรวจสอบการตัดไม้ทำลายป่าบริเวณโคกหญ้าเฮี้ยน หมู่ 6 บ้านดงคล้อ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ วานนี้
พบไม้ชิงชันแปรรูปเป็นเสาเหลี่ยมเรียบร้อยแล้ว จำนวน 12 ท่อน และรถเสือภูเขาอีก 2 คัน ถูกทิ้งอยู่ในจุดเกิดเหตุ ขณะเดียวกัน ยังมีท่อนไม้ถูกตัดโค่นกองทิ้งไว้เพื่อรอการแปรรูปอีกหลายท่อน โดยไม่พบผู้กระทำผิดแต่อย่างใด จึงตรวจยึดไม่ทั้งหมดไว้เป็นของกลาง และส่งมอบให้พนักงานสอบสวน สภ.เขาค้อ ทำการสอบสวนติดตามหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป
นายซินเฮง โพธิ์ศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านดงคล้อ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า มอดไม้ยังมีอยู่ และพร้อมจะทำทุกเมื่อหากเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย รถเสือภูเขาที่ยึดเป็นของกลาง 2 คัน ชี้ให้เห็นว่า ขบวนการมอดไม้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการชักลากไม้ กลับมาใช้รถเสือภูเขาแบบเดิมไม่ติดตั้งเครื่องยนต์ แต่จะใช้แรงคนชักลากแทน
เพราะนอกจากจะไม่มีเสียงเครื่องยนต์ให้ได้ยินแล้ว ยังหลบเลี่ยงการจับกุมได้ง่าย หากถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าจับกุมสามารถทิ้งรถหลบหนีได้ทันที โดยไม่ต้อวกังวลเรื่องรถเสือภูเขาที่ใช้ชักลาก เพราะต้นทุนคงเพียงไม่กี่ร้อยบาท แตกต่างจากรถเสือภูเขาที่เราเคยยึดได้ก่อนหน้านี้ ที่มีการติดตั้งเครื่องการเกษตรทำให้ราคาสูง หากถูกจับ และถูกยึดเกิดความสูญเสียมาก
“กลุ่มมอดไม้ส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ โดยเฉพาะคนเมืองเลย ร่วมกับคนพื้นที่ ทำกันเป็นขบวนการ เนื่องจากไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ และไม้มะค่า เป็นที่ต้องการของตลาดมาก มีออเดอร์ตลอด ได้ค่าตอบแทนสูงคุ้มค่าเสี่ยง ขณะที่พืชผลการเกษตรทำกินราคาตกต่ำ ทำให้คนกลุ่มนี้เกิดแรงจูงใจ และเชื่อว่าเบื้องหลังมีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจ และสั่งการ”
ส่วนเส้นทางชักลากไม้หลบหนีนั้น เนื่องจากพื้นที่ป่าดังกล่าวอยู่ในเขตติดต่อระหว่าง อ.น้ำหนาว และ อ.ภูหลวง จึงทำให้มีเส้นทางชักลากไม้ออกได้หลายทาง หากขนย้ายไปถึงบริเวณพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำแม่น้ำเลย และเคลื่อนย้ายลงเรือสำเร็จก็ยิ่งจะออกไปได้หลายทาง
“ป่าผืนนี้ซึ่งมีจำนวนราว 1.4 หมื่นไร่ และยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ และเป็นแหล่งที่มีต้นไม้ที่มีค่า เช่น ต้นชิงชัน ต้นประดู่ ต้นมะค่าค่อนข้างมาก หากไม่เร่งปกป้องไว้ก็คงเหลือแต่ตอให้ดู”
วันเดียวกัน นายสมลักษณ์ ยกน้อยวงษ์ นายอำเภอหล่มเก่า และนายชิต อินทรนก ป่าไม้จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรววจสภาพเขาหัวโล้น เขตพื้นที่บ้านสักง่า หมู่ที่ 2 ต.ศิลา หลังสื่อโซเชียลมีเดียแห่แชร์ภาพ พร้อมระบุหากยังไม่เร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกข้าวโพด เขาหัวโล้นบริเวณนี้จะกลายเป็นทะเลทราย จากนั้นยังไปพบปะชี้แจงขอความร่วมมือจากชาวบ้านในการฟื้นฟูป่าบนเขาหัวโล้น ซึ่งชาวบ้านสักง่า ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ต้นน้ำแม่น้ำป่าสัก
นายสมลักษณ์ ได้ชี้แจงถึงสภาพเขาหัวโล้นปัจจุบันกินพื้นที่กว้างราว 50,000 ไร่ ครอบคลุมเขตเพชรบูรณ์-เลย จากนั้นยังชี้แจงถึงแนวทางการฟื้นฟูป่าและรักษาต้นน้ำป่าสักไว้ให้ได้ โดยการใช้ศาสตร์พระราชา ปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง รวมทั้งรับปากจะช่วยจัดหาพืช หรือพันธุ์ไม้ยืนต้นมาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก และช่วยด้านการตลาด โดยเริ่มขอคืนพื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ข้างละ 10 เมตรก่อน เพื่อจะส่งเสริมให้ปลูกต้นไผ่ และปลูกหญ้าแฝกริมตลิ่ง พร้อมตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะฟื้นคืนป่ากลับมาได้ 50%
ซึ่งปรากฏว่า ชาวบ้านสักง่า ราว 50 คนที่ร่วมหารือต่างยินดีให้ความร่วมมือ เพียงแต่ขอให้ทางราชการช่วยเป็นพี่เลี้ยง และสนับสนุนพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ รวมทั้งช่วยเหลือทางด้านการตลาด
นายศิลา ม่วงงาม ประธานเครือข่ายรักษ์ต้นน้ำป่าสัก บ้านหินโง่น หมู่ที่ 5 ต.ศิลา กล่าวว่า เห็นดีด้วยที่ทางอำเภอ และป่าไม้จะเข้าไปช่วยฟื้นฟูป่าเขาหัวโล้นบ้านสักง่า เพราะแกนนำที่บ้านสักง่า ยังค่อนข้างขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ ส่วนที่บ้านหินโง่น นั้น ชาวบ้านที่เริ่มเข้าถึงศาสตร์พระราชา และปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริในหลวงมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเวลานี้เริ่มได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ยินดีจะช่วยเป็นพี่เลี้ยงหากทางอำเภอ และบ้านสักง่า ต้องการ