xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาธาตุพนมไม่หวั่นข้าวเปลือกราคาตก ตำข้าวเม่าขายรายได้ดีกว่าขายให้โรงสี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายร่วมมิตร กุมลา อายุ 50 ปี และนางพิศสมัย กุมลา อายุ 50 ปี สองสามีภรรยา เจ้าของโรงงานทำข้าวเม่า
นครพนม - ชาวนาบ้านนาโปร่ง ไม่หวั่นข้าวเปลือกนาปีราคาตกต่ำ นำผลผลิตข้าวเปลือกอ่อนทำข้าวเม่าขายส่ง ให้ลูกค้าที่มีออเดอร์เพียบ ขณะที่รายได้ชาวบ้านขายวัตถุดิบข้าวเปลือกได้มากกว่าตันละหมื่นกว่าบาท ทั้งจ้างงานคนในพื้นที่วันละ 300 บาท

แม้ราคาข้าวเปลือกจะตกต่ำ แต่ชาวนาหมู่บ้านโปร่ง ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ยังสามารถขายข้าวเปลือกส่งโรงงานในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด โดยข้าวเปลือกจากแหล่งผลิตบ้านโปร่งไปแปรรูปผลิตข้าวเม่าตามภูมิปัญญาแต่โบราณที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งข้าวเม่าจะหารับประทานได้เพียงแค่ปีละครั้งเท่านั้น กลุ่มชาวนาที่นี่จึงไม่มีปัญหากับราคาข้าวเปลือกตกต่ำแต่ประการใด

จากการสอบถามนายร่วมมิตร กุมลา อายุ 50 ปี และนางพิศสมัย กุมลา อายุ 50 ปี สองสามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 116/1 หมู่ที่ 7 บ้านโปร่ง ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เจ้าของโรงงานแปรรูปข้าวเม่าท้องถิ่น ซึ่งกันเนื้อที่ส่วนหนึ่งสร้างเป็นโรงงานผลิตข้าวเม่า มีคนงานกำลังขะมักเขม้นช่วยกันผลิตข้าวเม่า โดยแบ่งหน้าที่และโซนการผลิตเป็นสัดส่วนอย่างลงตัว มีเสียงเครื่องจักรดังกระหึ่มตลอดเวลา

นายร่วมมิตรเปิดเผยว่า ก่อนจะมาตั้งโรงงานแห่งนี้อดีตเคยเป็นพนักงานโรงงานผลิตพลาสติก อยู่ย่านบางพลี จ.สมุทรปราการ แต่สู้ค่าครองชีพที่ดีดตัวสูงไม่ไหว ลูกๆอยู่ในวัยเรียนมีค่าใช้จ่ายสูง จึงชักชวนภรรยากลับบ้านเกิดจังหวัดนครพนม ยึดอาชีพชาวนาหาเลี้ยงครอบครัว ว่างจากการทำเกษตรก็จะไปรับจ้างเป็นคนงานในโรงงานแปรรูปข้าวเม่าซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้าน เห็นรายได้ดีมีคนมารับถึงที่จึงลองทำดูบ้าง เริ่มต้นจากวันละ 50 กิโลกรัม ใช้มือตำใส่ครกไม้สองคนกับภรรยา ปรากฏว่าขายดีมาก จึงพัฒนาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเป็นระบบไฟฟ้า ดัดแปลงสิ่งของใกล้ตัวมาประกอบเป็นเครื่องทุ่นแรงดังที่เห็นในปัจจุบัน ทุกวันนี้เร่งผลิตให้ลูกค้าวันหนึ่งไม่ต่ำ 300 กิโลกรัม ขายส่งกิโลกรัมละ 80 บาท แม่ค้านำไปขายต่อกิโลกรัมละ 100 บาท คนงานก็เป็นญาติที่มาช่วย จ่ายค่าแรงวันละ 300 บาท

ด้านนางพิศสมัย ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าวเปลือกที่นำมาทำข้าวเม่าต้องเป็นข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 เท่านั้น และต้องเป็นข้าวอ่อนก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 10-15 วัน ซึ่งกำลังเป็นข้าวน้ำนม การผลิตจะต้องทำวันต่อวัน เพื่อรักษาคุณภาพความใหม่ สด หอม น่ารับประทาน เริ่มผลิตข้าวเม่าปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ประมาณตีสองจะพาคนงานไปเกี่ยวข้าวสดๆ ในนาของเกษตรกร หากเกี่ยวทิ้งค้างคืนข้าวเม่าจะไม่หอม

จากนั้นจะนำเมล็ดข้าวมาล้างทำความสะอาด ก่อนจะนำไปต้มในกระทะใบใหญ่ ขั้นตอนสำคัญเหมือนหัวใจการผลิตข้าวเม่าอยู่หลังจากต้มจนสุก คือคั่วให้ข้าวแห้ง หากคั่วข้าวแห้งเกินไป ข้าวจะแข็งไม่น่ารับประทาน ต่อจากนั้นนำไปสีกระเทาะเปลือกออก และใส่ครกไม้ตำให้นิ่ม แล้วเอาไปสีร่อนเปลือกให้สะอาดอีกครั้ง ก่อนจะนำออกขายส่งแก่ลูกค้า รายได้การผลิตข้าวเม่าจะดีกว่านำข้าวเปลือกขายกับนายทุนมาก ครอบครัวอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะทำข้าวเม่า อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

ขณะที่นางติ๋ม ตะวังทัน อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 113 หมู่ 16 บ้านดอนข้าวหลาม ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม เป็นคนหนึ่งที่มารับข้าวเม่าไปขายต่อ เปิดเผยว่าจะต้องมาเอาข้าวเม่าวันละ 100 กิโลกรัม นำไปส่งลูกค้าที่มีทั้งชาวไทยและลาว ยอมรับว่าขายดีมาก มีออเดอร์สั่งเข้ามามากมาย ส่วนมากจะนำไปผสมกับมะพร้าวอ่อนและน้ำตาลคลุก กินเป็นของว่าง หนึ่งปีหากินได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

ที่สำคัญเป็นการช่วยเหลือชาวนาทางอ้อม เพราะทางโรงงานจะซื้อข้าวเปลือกแพงกว่านายทุนหลายเท่า ถัวเฉลี่ยตกตันละหมื่นกว่าบาท มีความสุขทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ นอกจากนี้ยังสร้างรายได้ให้ชุมชน ด้วยการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่ มาทำข้าวเม่าช่วยตั้งแต่เกี่ยวข้าว ล้าง คั่ว สี และตำ แต่ละคนมีรายได้วันหนึ่งกว่า 300 บาท หากเปรียบเทียบข้าวเปลือกแปรรูปเป็นข้าวเม่า จะมีรายได้มากกว่านำข้าวเปลือกไปขายหรือจำนำข้าวหลายเท่า





กำลังโหลดความคิดเห็น