xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจริง ‘เชื่อม ศิริสนธิ’ อดีตผู้ว่าฯ สุโขทัย ใช้แขนซ้ายวันทยหัตถ์ในหลวง ร.๙(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุโขทัย - เป็นความจริง “เชื่อม ศิริสนธิ - อดีตผู้ว่าฯ สุโขทัย” ใช้แขนซ้ายวันทยหัตถ์พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ หลังแขนขวาขาดตั้งแต่สมัยเป็นนายอำเภอบางพลี ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสื่อสมัยนั้นวิจารณ์ “ตกประหม่า” เผยพระองค์สนพระทัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาก ปี 07 เสด็จฯ “โซกพระร่วงลองพระขรรค์” ด้วย



นายไพศาล ศิริสนธิ อดีตพัฒนาการจังหวัดสุโขทัย และนางสาวอัญชลี ศิริสนธิ อดีตข้าราชการครูโรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม และผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุโขทัย บุตรของนายเชื่อม ศิริสนธิ อดีตผู้ว่าฯ สุโขทัย เปิดเผยว่า เมื่อครั้งที่นายเชื่อมเป็นผู้ว่าฯ สุโขทัย และใช้แขนซ้ายทำวันทยหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการรับเสด็จเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2501

สื่อหลายสำนักเสนอข่าวเชิงตำหนิผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยตกประหม่าจึงกระทำเช่นนั้น ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องเขียนบทความแถลงข้อเท็จจริงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

นายไพศาล นางสาวอัญชลี เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า เหตุที่นายเชื่อมใช้แขนซ้ายทำวันทยหัตถ์ก็เพราะว่าแขนข้างขวาขาด เมื่อครั้งนายเชื่อมยังเป็นนายอำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำกำลังเข้าตรวจค้นเรือที่ลักลอบขนอาวุธ และได้เกิดระเบิดขึ้นขณะตรวจค้น ทำให้แขนขวาขาดต้องใส่แขนเทียม

ต่อมานายเชื่อมได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ซึ่งงานสำคัญของรัฐบาลสมัยนั้นคือ การบูรณะโบราณสถานต่างๆ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ กระทรวงมหาดไทยได้เบิกตัวนายเชื่อมเข้าเฝ้าฯ จุดแรก บริเวณจุดต่อแดนพิษณุโลกกับสุโขทัย ในช่วงสายของวันที่ 1 มีนาคม 2501 นายเชื่อมได้ใช้แขนจริงข้างซ้ายทำวันทยาหัตถ์

“ภาพในวันนั้นทำให้ประชาชนต่างเข้าใจกันว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยตกประหม่า”

และในค่ำคืนนั้นนายเชื่อมได้ร่วมโต๊ะเสวยบนศาลากลางจังหวัด จึงได้เข้าเฝ้าฯ และทูลถามว่าจะโปรดให้ใช้แขนปลอมหรือแขนจริงในการทำวันทยหัตถ์แสดงความเคารพ ซึ่งนายเชื่อมเล่าให้ฟังว่า พระองค์ได้มีพระราชดำรัสตอบ “ให้ใช้แขนจริงข้างซ้ายในฐานะลูกเสือ” สร้างความปลาบปลื้มใจแก่นายเชื่อม และครอบครัวมิลืมเลือน

สำหรับการจัดงานรับเสด็จในครั้งนั้นสร้างความพอพระทัยอย่างมาก และพระองค์ยังสนพระทัยเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะนิทานพระร่วงที่นายเชื่อมได้เล่าเรื่องถวายที่แก่งหลวง รวมทั้งประวัติศาสตร์โบราณคดี การบูรณะโบราณสถาน เพื่อให้เป็นโครงการอุทยานประวัติศาสตร์

และเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2507 พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง และเสด็จพระดำเนินทอดพระเนตรโซกพระร่วงลองพระขรรค์ ได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับความสามารถของคนสุโขทัยโบราณที่มีสมเด็จพระร่วงเจ้าเป็นประมุข และความสำคัญของเขื่อนสรีดภงส์ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยสมัยนั้นด้วย

นายไพศาล นางสาวอัญชลี กล่าวอีกว่า ถึงแม้นายเชื่อมจะเกษียณอายุราชการในปี 2508 แล้วก็ตาม แต่เมื่อพระองค์เสด็จฯ มาสุโขทัยอีกในปี 2509 และปี 2515 เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน ก็ให้เบิกตัวนายเชื่อมเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานความคืบหน้าโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ แสดงถึงพระองค์ใส่พระทัยกับโบราณสถานอันเป็นเกียรติภูมิของชาติเป็นอย่างยิ่ง

และเมื่อนายเชื่อมเสียชีวิตเมื่อ 30 มิถุนายน 2528 ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้นำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระราชทานโกศโถ ฉัตรเบญจาประดับเกียรติยศ ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และพระราชทานพวงมาลา อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ครอบครัวนายเชื่อม ศิริสนธิ อย่างหาที่สุดมิได้




กำลังโหลดความคิดเห็น