ประธาน กรธ.ระบุหากเกิดปัญหาไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 สามารถออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาได้ ขึ้นอยู่กับว่าเหมาะสมหรือไม่ เชื่อที่สุดไม่จำเป็นต้องใช้ ม.5 เพราะพรรคการเมืองคงจะคุยกันจนจบได้
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงถึงกรณีที่จะต้องมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรหากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ว่า การยุบสภาเป็นกลไกทางการเมืองที่มีเอาไว้ในรัฐธรรมนูญสำหรับรัฐบาลที่เห็นว่ามีปัญหาจนต้องกลับไปหาประชาชนก็สามารถยุบสภาได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ถือเป็นกรณีปกติ
“ตามปกติรัฐบาลที่รอการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลรักษาการชั่วคราวที่มีอำนาจจำกัด และไม่สามารถยุบสภาได้ เพราะประชาชนเลือกมาแล้ว แต่ในกรณีนี้จะแตกต่างไปจากปกติเพราะรัฐบาลที่เป็นอยู่ในวันนี้ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญเลย ดังนั้นอำนาจใดที่รัฐบาลตามปกติมีอยู่รัฐบาลนี้ก็จะมีอำนาจนั้น”
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ารัฐบาลชุดนี้จะใช้มาตรา 44 ทำอะไรก็ได้ใช้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ก็ทำได้ แต่การใช้มาตรา 44 ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่าถ้าเกิดกรณีที่เลือกนายกฯ ไม่ได้จะสามารถยุบสภาได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ไม่ต้องใช้มาตรา 44 แต่สามารถตราเป็นพระราชกฤษฎีกาได้
“ที่ถามมาอยู่นี้ว่าตามรัฐธรรมนูญทำได้แค่ไหน ก็ตอบว่าทำได้ แต่ถ้าไม่ยุบก็ไม่ยุบก็ไปหาวิธีอื่น เราอย่าไปปนกันระหว่างอำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญกับความควรใช้หรือไม่ควรใช้หรือจะใช้เมื่อไหร่ อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
ส่วนในอนาคตจะสามารถเลือกนายกฯ ได้หรือไม่นั้น นายมีชัยกล่าวว่า มาตั้งสมมติฐานตั้งแต่วันนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้าแบบนี้มันอาจจะผิด หรืออาจไม่เกิดขึ้น หรืออาจเกิดด้วยเหตุอย่างอื่น การคาดการณ์แบบนั้นจะเป็นการสร้างความสับสนมากกว่า
“มันยังไม่รู้เลยว่าคุณจะเจอเจ้าสาวเมื่อไหร่ แต่คุณมานั่งเถียงกันว่าจะจัดงานแต่งงานแบบไหน เขาจะชอบหรือไม่ชอบ มันสับสน เบื้องต้นมันต้องหาเจ้าสาวก่อนถึงจะรู้ว่าปัญหาจะเกิดอะไรขึ้น หรือมันอาจจะไม่เกิดเลยก็ได้ ดังนั้น ถ้าถามกันไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนกับการวางแผนล่วงหน้าเอาไว้นาน ทั้งที่เหลือเวลาอีกปีกว่าเกือบสองปี”
ต่อข้อถารมว่า การจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตหลังจากการเลือกตั้งจะเป็นอำนาจของใคร นายมีชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องของรัฐสภาเพราะรัฐบาลที่อยู่วันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
“นี่ไงพวกคุณสรุปกันเอาเองว่ารัฐบาลจะตราพระราชกฤษฎีกา คุณมาถามผมว่ารัฐบาลมีอำนาจตราหรือไม่ คำตอบคือมี และผมก็บอกว่าแต่ ควรหรือไม่ควร เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เข้าใจไหม เหมือนถามว่าคุณจะโดดหน้าต่างลงไปได้หรือไม่ ก็บอกว่าได้ แต่ควรโดดหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
ส่วนจะมีทางออกสำหรับกรณีที่เลือกนายกฯ ไม่ได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า คุณสมมติในสิ่งที่ตนเองนึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการไว้เป็นขั้นตอนแล้ว
เมื่อถามว่า มีโอกาสถึงขั้นที่จะต้องใช้กลไกการวินิจฉัยประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 5 หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ไม่มี บางทีพอเริ่มต้นเขาอาจจะโหวตกันเรียบร้อยก็ได้ แต่ถ้าโหวตกันไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่มาทำหน้าที่่
ต่อข้อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญเป็นการบีบให้สองพรรคการเมืองใหญ่จับมือกันเป็นรัฐบาลหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า “ไม่ได้บีบ เอาอย่างนี้ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนคนที่จะมาตั้งรัฐบาลก็ต้องมีเสียงข้างมาก เขาจะหากันด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือคุณจะไปคิดว่ามีเสียงสองเสียงก็จะไปตั้งรัฐบาล มันตั้งไม่ได้ สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มี 18 เสียง ท่านก็ต้องไปคุยกับพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วยจนกระทั่งรวมกันได้เสียงเกินครึ่งท่านก็ตั้งรัฐบาล คุณไม่ต้องห่วงหรอก พรรคการเมืองเขาก็ต้องคุยกันจนได้”
ส่วนความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จับมือกันนั้น นายมีชัยกล่าวว่า “ไม่รู้ อันนี้พวกคุณพูดนะ ผมไม่ตอบคำถามนี้ เพราะถ้าตอบไป คุณก็เอาผมเข้าไปเกี่ยวด้วย ช่วยกันจำนะว่าผมไม่ตอบคำถามนี้”