ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - จนท.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยสุดภาคภูมิใจได้ดูแล “ต้นมะม่วง” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูกตั้ง พ.ศ. 2527 โดยเป็นต้นไม้ต้นแรกที่ทรงปลูกและเป็นหนึ่งในจุดเริ่มการพลิกฟื้นห้วยฮ่องไคร้ตามแนวพระราชดำริ จากป่าเสื่อมโทรมสู่ป่าอุดมสมบูรณ์
ต้นมะม่วงพิมเสนมัน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูกบริเวณใกล้อ่างเก็บน้ำที่ 1 ในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2527 เมื่อครั้งทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงงานในพื้นที่ในช่วงแรกเริ่มของการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นต้นไม้ต้นแรกที่พระองค์ทรงปลูกในพื้นที่ของศูนย์และยังคงได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่มาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ด้วยความภาคภูมิใจที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงงานในพื้นที่ที่ยากลำบากทุรกันดารด้วยพระองค์เอง และทรงพิสูจน์ให้เห็นว่าแนวพระราชดำริในการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าไม้ได้ผลจริงในการพลิกฟื้นพื้นที่ห้วยฮ่องไคร้จากที่เคยเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แห้งแล้ง ที่เต็มไปด้วยดินลูกรัง และกรวด เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างเช่นในปัจจุบัน
นายศรีวรรณ ต้นนาค เจ้าหน้าที่การเกษตร กลุ่มงานศึกษาและพัฒนาป่าไม้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบำรุงดูแลต้นมะม่วงพิมเสนมันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูก มาตลอดระยะเวลา 32 ปีที่ผ่านมา เปิดเผยว่า โดยส่วนตัวมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างที่สุดในชีวิตที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลต้นมะม่วงพิมเสนมันต้นนี้มาตลอดนับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูก ซึ่งหลังจากที่ทรงปลูกประมาณ 5-6 ปี ต้นมะม่วงได้เริ่มให้ผลผลิตและได้นำทูลเกล้าฯ ถวายรวม 2 ครั้ง
ขณะที่ผลผลิตในช่วงต่อมาได้แจกจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ พนักงานและลูกจ้างของศูนย์ฯ แทน พร้อมทั้งมีการเพาะขยายพันธุ์จากผลสุกและนำต้นพันธุ์ที่ได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรนำไปปลูกด้วย โดยปัจจุบันต้นมะม่วงต้นนี้มีความสูงประมาณ 14 เมตร ทรงพุ่มกว้างประมาณ 8-9 เมตร และขนาดรอบลำต้นประมาณ 1 เมตร ได้รับการดูแลอย่างดี ทั้งการตัดแต่งกิ่ง การบำรุงต้น การให้น้ำให้ปุ๋ย และการป้องกันโรคและแมลง ซึ่งจะใช้สารอินทรีย์ทั้งหมดในการดูแล ส่วนผลผลิตในปัจจุบันอยู่ที่ปีละประมาณ 30 กิโลกรัม
ขณะเดียวกัน นายศรีวรรณ บอกด้วยว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูกต้นมะม่วงพิมเสนมันนั้น บริเวณโดยรอบพื้นที่ทรงปลูกมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม แทบจะไม่มีต้นไม้ แต่ปัจจุบันพบว่ามีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมากและมีความอุดมสมบูรณ์ พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวพระราชดำริในการฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้ผลจริงในทางปฏิบัติ
โดยการฟื้นฟูป่าไม่จำเป็นที่จะต้องปลูกเฉพาะป่าไม้อย่างเดียว แต่การปลูกไม้ผลก็ให้ช่วยฟื้นฟูสภาพป่าได้ด้วย ในเชิงระบบนิเวศ จากการเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์นานาชนิด และทำให้สภาพป่ากลับคืนมามีความอุดมสมบูรณ์ในที่สุด เห็นได้ชัดเจนจากการที่ปัจจุบันป่าในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีความหนาแน่นของต้นไม้ใหญ่อยู่ที่กว่า 400 ต้น/ไร่ ขณะที่เมื่อปี 2527 มีความหนาแน่นของต้นไม้ใหญ่ไม่ถึง 100 ต้น/ไร่
นอกจากนี้ นายศรีวรรณเปิดเผยว่า ตลอดช่วงที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เคยได้เฝ้าฯ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เสด็จทรงงานในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 2 ครั้ง เมื่อปี 2527 และปี 2530 ส่วนตัวไม่ได้เพียงรู้สึกปลาบปลื้มเท่านั้น แต่ซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นด้วย จากการได้เห็นด้วยตาและรับรู้ด้วยตัวเองถึงความวิริยะอุตสาหะในการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของราษฎร
โดยพระองค์ท่านทรงพระราชดำเนินเพื่อทรงงานท่ามกลางสภาพพื้นที่ที่ยากลำบากทุรกันดาร โดยที่ไม่ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่งที่มีการจัดเตรียมไว้ถวายเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่างรับรู้และภาคภูมิใจเป็นอย่างที่สุดที่ได้ทำงานสนองเบื้องพระยุคลบาท