xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านร่มเกล้าชมเจริญ” อ.ปากชม หนึ่งในหมู่บ้านแนวกันชนคอมมิวนิสต์ ตามพระราชดำริพ่อหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลย - พาไปเยือน “บ้านร่มเกล้าชมเจริญ” อ.ปากชม หมู่บ้านแนวกันชนต่อสู้กับระบอบคอมมิวนิสต์ ตามพระราชดำริในหลวง ร.๙ เผยในหลวงพระราชทานที่ดิน สทก.ให้ราษฎรได้ทำกินครอบครัวละกว่า 10 ไร่ พร้อมอ่างเก็บน้ำอีก 3 อ่าง

“บ้านร่มเกล้าชมเจริญ” อ.ปากชม จ.เลย หนึ่งในหมู่บ้านที่จัดสร้างขึ้นในท้องถิ่นทุรกันดาร อันเป็นเป้าหมายเข้าครอบงำของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน หลังจัดสร้างชุมชนเสร็จได้มีการสร้างโรงเรียนร่มเกล้าบ้านชมเจริญขึ้นเป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2524

โรงเรียนร่มเกล้า ก่อตั้งขึ้นภายใต้นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ของหน่วยผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 1718 (พตท.1718) ที่ได้อพยพราษฎรเข้ามาตั้งเป็นหมู่บ้านและจัดสรรที่ทำกินให้ ตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงบริเวณห้วยปลาดุก หมู่บ้านนี้ได้รับการตั้งชื่อว่าบ้านชมเจริญ จึงได้ชื่อโรงเรียนให้พ้องกันว่าโรงเรียนบ้านชมเจริญ

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงบริเวณห้วยปลาดุก ณ โรงเรียนบ้านชมเจริญแห่งนี้

นายเจิมศักดิ์ มูลถวิล อายุ 70 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านชมเจริญ เล่าว่าในขณะนั้น พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เป็นผู้บัญชาการหน่วยผสมพลเรือนตำรวจ ทหาร 1718 จ.เลย มีแนวความคิดที่จะต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ซึ่งมีฐานกำลังใหญ่อยู่บนภูซาง เรียกว่ากองกำลังจังหวัดอุดรธานี หรือ บก.073 ตั้งอยู่ตรงรอยต่อจังหวัดเลย อุดรธานี และหนองคาย บริเวณภูซางใหญ่ เป็นเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่ย้อยต่ำมาเชื่อมกับภูเขาภูพาน ตรงกลางเป็นดงที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์

ขบวนการกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ซึ่งเคลื่อนไหวจากทางเหนือมาสู่อีสาน โดยพยายามจะแทรกซึมจากนอกประเทศ ผ่านข้ามมายังจังหวัดเลย ไปสู่ภูซางใหญ่ ฉะนั้น ภูมิประเทศบริเวณนี้จึงมีความสำคัญ หากได้สร้างหมู่บ้านขึ้นเป็นแนวป้องกันที่มั่นคงตรงกลาง ระหว่าง บก.073 หรือกองกำลังจังหวัดอุดรธานี ของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กับจังหวัดเลย จะทำให้จังหวัดเลยปลอดภัยจากการคุกคามของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

ดังนั้น เมื่อมีแนวความคิดจัดตั้งหมู่บ้านเกิดขึ้นก็ได้พิจารณาทำเลบริเวณป่าเสื่อมโทรม ในลุ่มห้วยปลาดุก-ห้วยชม ซึ่งมีสภาพเป็นเนินเขาเล็กๆ พอที่จะเป็นที่อยู่อาศัยและทำกินของราษฎรได้ จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัย และทรงมีพระราชดำริว่าน่าจะก่อตั้งเป็นหมู่บ้านได้ โดยใช้แนวคิดหมู่บ้านสหกรณ์บวกผสมกับหมู่บ้านของอิสราเอล ซึ่งพร้อมที่จะสร้างเป็นหมู่บ้านต่อสู้ และทำการเกษตรแบบผสมผสาน จึงได้เพียรพยายามเสนอของบประมาณขึ้นเป็นผลสำเร็จ ได้รับการจัดตั้งหมู่บ้านจำนวน 2 หมู่บ้าน คือ ในปี 2524 จำนวน 1 หมู่บ้าน และปี 2525 จำนวน 1 หมู่บ้าน จำนวนราษฎรหมู่บ้านละ 200 ครอบครัว ตั้งชื่อโครงการว่า โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงบริเวณห้วยปลาดุก ท้องที่อำเภอปากชม และกิ่งอำเภอนาด้วง จังหวัดเลย มีคณะทำงานประกอบด้วย ส่วนราชการต่าง ๆ เข้าดำเนินการพัฒนาในพื้นที่ ก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ส่งเสริมอาชีพ และสร้างอาชีพให้กับราษฎร

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2524 ในหลวงได้ทรงพระราชทาน เอกสาร สทก.ให้แก่ราษฎรหมู่บ้านละ 200 ครอบครัว โดยพระราชทานเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และที่ทำกินอีกคนละ 12 ไร่ และทรงให้สร้าง อ่างเก็บน้ำ 3 อ่างให้ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ อ่างเก็บน้ำห้วยชม อ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง ไว้ให้ราษฎรใช้ประโยชน์ด้วย

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงบริเวณห้วยปลาดุก เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2524 ได้ทรงปลูกต้นนนทรี จำนวน 4 ต้น ไว้เป็นอนุสรณ์และมิ่งขวัญแก่โรงเรียนร่มเกล้าบ้านชมเจริญแห่งนี้ด้วย

นางรัชดา สืบผาง ผู้อำนวยการโรงเรียนร่มเกล้าบ้านชมเจริญ กล่าวว่า ปัจจุบันต้นนนทรีทั้ง 4 ต้นได้เจริญงอกงามใหญ่โตเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่โรงเรียนและพสกนิกรชาวจังหวัดเลย และแปลกที่ในช่วงนี้ต้นนนทรีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูกนั้นได้ออกดอกสีเหลืองอร่าม ขณะที่ต้นอื่นๆ อีก 3 ต้นยังไม่มีดอก

“ทางโรงเรียนได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโรงเรียน และได้ปลูกต้นไม้ภายในโรงเรียนให้เขียว ร่มรื่น ตามปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตั้งพระราชหฤทัยไว้” นางรัชดากล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น