xs
xsm
sm
md
lg

มทร.ล้านนาพร้อมใจแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช-แปรอักษรเลข ๙ ในหัวใจสีขาวขนาด 50 ม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมพิธีแสดงความอาลัยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมร่วมใจยืนแปรอักษรเลข ๙ ในหัวใจสีขาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร

วันนี้ (19 ต.ค. 59) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษากว่า 1,000 คน ร่วมกันจัดพิธีแสดงความอาลัยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และร่วมกันกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณจะประพฤติปฏิบัติตน เป็นคนดี และน้อมนำพระบรมราโชวาทมาเป็นหลักในการดำรงชีวิต พร้อมทั้งร่วมใจกันยืนแปรอักษรเป็นรูปตัวเลขเก้าไทยสีดำภายในรูปหัวใจสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 50 เมตร เบื้องพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ ๙

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเปิดเผยว่า กิจกรรมวันนี้ทุกคนทั้งคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาต่างรวมใจกันเป็นหนึ่งเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

ขณะนี้จะเห็นได้ว่าทุกคนต่างตั้งใจที่จะทำความดีต่อประเทศชาติ ต่อตนเอง และต่อสังคม ซึ่งเป็นความหมายสื่อให้เห็นว่า การที่พระองค์ท่านได้ทรงอุทิศเวลาและพระวรกายบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นระยะเวลานานกว่า 70 ปี เพื่อให้ชาวไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น วันนี้ได้เกิดเป็นมรรคผลสำเร็จอย่างยิ่งต่อคนไทย ในอนาคตข้างหน้าหลังจากนี้เราอาจจะต้องเผชิญปัญหาอีกมาก

หากเราไม่มีความเข้มแข็งในการทำความดีเพียงพอ เราจะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จในหน้าที่การงานได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านทรงสอนและแสดงให้เห็น ทุกคนต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงหาที่เปรียบมิได้ และน้อมนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 70 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ถวายงานในโครงการหลวงและโครงการพระราชดำริ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และหน่วยงานวิชาการต่างๆ สนับสนุนงานวิชาการและเทคโนโลยีด้านระบบวิศวกรรม งานและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาระบบเกษตร (Engineering Energy and Environmental for Agriculture, 3E for A) ในพื้นที่โครงการหลวง

โดยมีกลยุทธ์การทำงานเพื่อสร้างความสามารถของบุคลากรและเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและสถานีโครงการหลวงให้มีความรู้และทักษะด้านช่าง วิศวกรรม ระบบพลังงานและสิ่งแวดล้อม การสร้างความสามารถในการซ่อมบำรุงเครื่องมือและเครื่องจักร รวมไปถึงการวางแผนป้องกัน (Preventive Maintenance) และการวางแผนการจัดการอย่างมีส่วนร่วม (TPM) ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ชาวราชมงคลล้านนาได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาสู่การปฏิบัติเพื่อเป็นเวทีแห่งการฝึกฝน วิจัย พัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้เพื่อถ่ายทอดลงสู่ชุมชน เพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพแก่ประชาชนในท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืนสืบไป



กำลังโหลดความคิดเห็น