xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงศรราม” หนึ่งในผู้ที่เคยถวายงานใกล้ชิด “พ่อหลวง ร.๙” เผยภาคภูมิใจต่อโครงการชั่งหัวมัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี - “ลุงศรราม ต๋องาม” ชาวเมืองเพชรบุรี หนึ่งในผู้ที่เคยถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เผยภาคภูมิใจที่พระองค์ท่านได้มาสร้างความเขียวขจีให้พื้นที่แห้งแล้งแก่โครงการ “ชั่งหัวมัน” และทรงให้อนุรักษ์สำเนียงการพูดของเพชรบุรีเอาไว้

วันนี้ (18 ต.ค.) บรรยากาศในไร่ชั่งหัวมันตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หมู่ 5 บ้านหนองคอกไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ประชาชนยังทยอยเดินทางมาชมความรู้ด้านการเกษตรที่หลากหลายในพื้นที่โครงการอย่างไม่ขาดสาย และได้ถ่ายภาพบ้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปลูกไว้อย่างเรียบร้อย เก็บไว้เป็นที่ระลึก

ลุงศรราม ต๋องาม อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 88 หมู่ 8 ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง หนึ่งในผู้ที่เคยถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ เผยด้วยน้ำตาว่า หลังชาวบ้านทราบว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มาซื้อที่ดินอันเป็นที่ตั้งโครงการไร่ชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ปัจจุบัน ต่างพากันดีใจ เพราะเดิมพื้นที่ดินบริเวณดังกล่าวแม้จะทำการเกษตรได้ แต่ก็ขาดแคลนน้ำ ชาวบ้านปลูกพืชผักแบบเชิงเดี่ยว มีน้ำก็ได้ทำ ไม่มีก็ไม่ได้ทำ หน้าแล้งก็ออกไปรับจ้างทั่วไป

แต่ทว่าในอดีตสภาพพื้นที่ค่อนข้างสมบูรณ์เพราะยังมีป่าไม้ แต่ภายหลังได้มีการตัดไม้ทำลายป่า จนเกิดความแห้งแล้งขึ้น และช่วงที่พื้นที่เกิดความแห้งแล้งนี่เอง ชาวบ้านทราบข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะมาซื้อที่ดินในพื้นที่ต่างรู้สึกดีใจ ซึ่งแปลงแรกที่พระองค์ท่านทรงซื้อมีจำนวน 130 ไร่ และซื้อจากชาวบ้านเพิ่มเติมภายหลังอีก 120 ไร่ รวมทั้งหมด 250 ไร่ ซึ่งสภาพพื้นที่ในเวลานั้นแห้งแล้ง ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่เดิมทำกินกันแบบตามมีตามได้ พอฝนมาก็ได้ทำ หมดฝนก็เลิกกันไปรับจ้างตามโรงงาน และบริษัททั่วไป

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมาซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งผู้ที่ขายที่ดินให้ด้วยต่างๆ ปลาบปลื้มใจ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหมือนเทวดามาโปรด ไม่ใช่เทวดาธรรมดา แต่เป็นเทวดาที่พูดได้

ลุงศรราม เผยต่อว่า เมื่อพระองค์ท่านซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้ว พระองค์ท่านดำเนินการแบบประชาชนทั่วไป พระองค์ท่านไปจดขึ้นทะเบียนเกษตร ทรงปลูกสร้างบ้านพักธรรมดา เสียค่าน้ำค่าไฟ และเริ่มปลูกพืชผักในพื้นที่ โดยชาวบ้านทั้งในพื้นที่ และในจังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งเจ้าของที่เดิมที่ขายที่ให้พระองค์ท่านต่างพากันเข้าไปช่วยพระองค์ท่านปลูกพืชผัก ตามความรู้แบบชาวบ้าน ใครมีพืชผักอะไรก็นำไปปลูก เช่น กล้วย สับปะรด มะนาว ตลอดจนพืชผักสวนครัวอื่นๆ

ส่วนตนเองมีความรู้เรื่องการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ก็นำหน่อไม้ฝรั่งไปปลูก พร้อมแนะนำชาวบ้านที่ไปร่วมทำกัน สิ่งที่ภาคภูมใจมากที่สุดคือ การทำนาข้าว เริ่มแรกทำแบบข้าวหยอด หรือข้าวไร่ แต่ผลที่ได้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องด้วยสภาพพื้นที่แห้งแล้ง จึงเปลี่ยนมาทำนาดำแบบใช้น้ำ ชาวบ้านมาช่วยกันทำกระทงนา ช่วยกันไถนาช่วยกันปักดำ ดูแล ไปจนถึงเก็บเกี่ยวข้าวด้วยการใช้เคียวเกี่ยวแบบชาวนาในอดีต เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก

กระทั่งมาปลาบปลื้มใจอีกครั้งในวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จมาเปิดป้ายโครงการไร่ชั่งหัวมันด้านหน้าทางเข้าไร่ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2552 ซึ่งตนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน พร้อมด้วยนายก อบต.ทั้ง 2 ตำบล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

พระองค์ท่านทรงตรัสถามว่า เอาน้ำที่ไหนใช้ ซึ่งพระองค์ท่านจะเป็นห่วงประชาชนตลอด มีการพูดคุยสนทนาแบบไม่ได้ใช้คำราชาศัพท์ พระองค์ท่านไต่ถามถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ตนเห็นพระองค์ท่านทรงยิ้มอย่างมีความสุข ที่สำคัญในวันดังกล่าวตนได้ใช้สำเนียงเพชรบุรีในการพูดคุย และขอพระองค์ท่านลูบคลำคุณทองแดง ที่ติดตามพระองค์ท่านมาด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้บอกให้อนุรักษ์เสียงพูดของชาวเพชรบุรีเอาไว้

ลุงศรราม กล่าวว่า ตลอดการทำงานอยู่ในไร่ชั่งหัวมัน ได้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนชาวบ้านในทุกอำเภอของจังหวัดเพชรบุรี ได้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันสร้างไร่ชั่งหัวมันให้เขียวขจีในทุกวันนี้ มีการสร้างพัฒนาแหล่งเก็บน้ำหนองเสือ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในพื้นที่ โดยนำน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยผาก มากักเก็บไว้ใช้ในโครงการ และให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ใช้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ไร่ชั่งหัวมันต่างก็พากันทำการเกษตรโดยเดินตามรอยพระองค์ท่าน ประชาชนทุกคนต่างภาคภูมิใจที่ได้ทำงานรับใช้พระองค์ท่านในไร่ชั่งหัวมัน

“ส่วนตัวสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตคือ พระองค์ท่านได้ตั้งชื่อให้แก่ตนใหม่ เป็นนายศรราม ซึ่งชื่อเดิมชื่อนายราม เฉยๆ นอกจากนั้น ยังได้เงินพระราชทานจากพระองค์ท่านเดือนละ 3,000 บาท และพระองค์ท่านยังให้อนุรักษ์สำเนียงการพูดของคนเพชรบุรีเอาไว้ ซึ่งปัจจุบันผมได้เกษียณอายุการทำงานแล้ว ได้มาทำงานอยู่ที่บ้าน ซึ่งก็จะทำตามคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ที่เป็นพ่อของแผ่นดินตลอดไป” ลุงศรราม กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น