xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจงใช้พระนาม “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” อย่างเดียวได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรีไม่ตำหนิชาวบ้านใช้ศัพท์ปกติไว้อาลัย แต่แนะใช้คำให้ถูก ชมสำนักพระราชวังชี้แจง ระบุใช้แค่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ก็ได้ เพราะยังไม่มีพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ อย่าติติงไม่แต่งดำขาว ส่วนจุดเทียนวางดอกไม้เป็นธรรมเนียมฝรั่ง ขอบคุณประชาชนตากแดดฝนรอ

วันนี้ (17 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการใช้คำราชาศัพท์ที่เกี่ยวกับพระบรมศพว่า ตนเห็นด้วยในกรณีที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต รมว.วัฒนธรรม บอกว่าภาวะนี้เป็นภาวะที่ประชาชนทุกข์โศกและจงรักภักดี ใจคิดอย่างไรก็ให้พูดออกมา อยากใช้คำอะไรก็ใช้แต่ต้องระวัง อย่าให้เป็นการลดทอนพระบรมเดชานุภาพ แต่ถ้าทำได้ถูกตามระเบียบแบบแผนจะเป็นการดี เพราะถือว่าเป็นการสืบความรู้ต่อไป เช่น คำว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” คำนี้เป็นคำโบราณที่ผู้ใหญ่รุ่นเก่าใช้เรียก แปลว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จสวรรคตแล้ว ไม่ว่าจะทรงสถิตอยู่ในพระบรมโกศหรือไม่ โดยบางครั้งเรียกไปนานจนกระทั่งบางทีถวายพระเพลิงไปแล้วก็ยังเรียกเนื่องจากธรรมเนียมสมัยก่อนไม่นิยมออกชื่อคน

“คำว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ มีอยู่ในกฎหมาย เขียนอยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เสด็จสวรรคตก็เป็นเรื่องที่จะต้องดูว่าทรงตั้งรัชทายาทไว้หรือไม่ แล้วจึงอัญเชิญขึ้นทรงราชย์ สนองพระองค์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศโดยทันที ซึ่งยังใช้อยู่จนปัจจุบันนี้” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อสำนักพระราชวังได้ออกคำชี้แจงมาถือว่าถูกต้องและเป็นการดี เพราะวันนี้สื่อโทรทัศน์ใช้คำว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” บ่อยเกินไป บางครั้งใช้โดยที่ไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นบางทีอาจจะเรียกว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ก็ได้ เพราะเรายังไม่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ส่วนคำแนะนำของสำนักพระราชวังที่ถูกต้องตามแบบแผนอาจจะทำให้คนที่อ่านเกิดความรู้สึกตะกุกตะกัก แต่ใครสะดวกที่จะใช้แบบไหนก็สามารถใช้ได้ไม่ผิด

รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับคำอื่นๆ เวลาที่จะอาลัย เราไม่เคยพูดคำว่า “ให้อาลัย” แต่จะบอกเพียงว่า “ไว้อาลัย” ดังนั้น ความอาลัยไม่ได้มีไว้ให้ผู้ตาย แต่เป็นสิ่งที่จะต้องเก็บไว้ในใจของเรา จึงใช้คำว่า “ถวายอาลัย” ไม่ได้ เพราะคำว่า “ถวาย” แปลว่า “ให้” จึงใช้แค่คำว่า “ไว้อาลัย” หรือ “แสดงความไว้อาลัย” ส่วนอีกคำที่มีการออกมาแนะนำจากสำนักพระราชวัง และสำนักนายกรัฐมนตรี คือ เวลาไปกราบพระบรมศพ ถ้าไปงานศพอื่นใช้คำว่า “ไหว้ศพ” แต่กรณีพระบรมศพควรใช้คำว่า “ถวายสักการะพระบรมศพ” หรือ “ถวายบังคมพระบรมศพ”

“แต่วันนี้ขออย่ามาตำหนิว่าใครใช้คำศัพท์ผิด ใครอยากใช้อะไรก็ใช้ไป แล้วอย่ามาตำหนิเรื่องการแต่งดำหรือแต่งขาว บางคนหาผ้าไม่ทันก็ให้นำโบสีดำมาติด เรารู้ว่าใจเขาคิดอย่างไร เขาไม่ได้คิดต่างจากที่เราคิด ถ้าเราโศกเขาก็เศร้า ของอย่างนี้อย่ามาตำหนิกัน ส่วนเรื่องการวางดอกไม้จุดเทียนรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง มันเป็นธรรมเนียมแบบฝรั่ง ผมจะแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้หาสถานที่ทำแบบธรรมเนียมฝรั่ง หาที่จุดเทียนให้ห่างไกลจากสิ่งก่อสร้างและผู้คน รัฐบาลต้องขอขอบคุณประชาชนที่เข้าแถวตากแดดตากฝนเป็นเวลายาวนาน เมื่อคืนผมน้ำตาคลออีกหนหนึ่งที่มีการไปสัมภาษณ์ประชาชนที่บอกว่า “เรารู้ว่าถึงอย่างไรก็ไม่ได้เข้าไป เรารู้ว่าฝนก็จะตก หนูก็รู้ว่าเขายังไม่เปิดโอกาสให้เข้าไป แต่อยู่บ้านไม่ได้ ต้องมา เพราะว่าอยากอยู่ใกล้ที่สุดเท่าที่จะใกล้ได้ วันนี้เขาให้ใกล้แค่นี้ก็อยู่แค่นี้ วันหน้าให้ใกล้กว่านี้ก็จะขยับไปใกล้กว่านี้ มาแค่นี้ก็ชื่นใจ” ผมว่าเป็นคำสัมภาษณ์ที่ไพเราะเหลือเกิน” นายวิษณุกล่าว

ทั้งนี้มีรายงานว่า คำที่สามารถใช้เรียกพระนาม ประกอบด้วย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และ รัชกาลที่ ๙


กำลังโหลดความคิดเห็น