อ่างทอง - ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 5 ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก ร่วมกับทหารเร่งเสริมกระสอบทรายบนคันดินป้องกันน้ำล้นเข้าท่วมหมู่บ้านหลังเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาท ปล่อยน้ำเพิ่ม ด้านผู้เลี้ยงปลากระชังครวญน้ำแรงลูกปลาทับทิมตายเกลื่อน
วันนี้ (9 ต.ค.) สถานการณ์น้ำไหลผ่านจังหวัดอ่างทองได้เพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 2,350 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อวินาที ส่งผลให้น้ำเพิ่มระสูงขึ้นจากเมื่อวานนี้ 12 เซนติเมตร เอ่อล้นไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนจำนวนหลายหลัง
นอกจากนี้ ระดับน้ำที่เพิ่มระสูงขึ้นยังส่งผลให้น้ำในคลองโผงเผงเอ่อล้นไหลข้ามคันดินกันน้ำในบริเวณพื้นที่หมู่ 5 ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเพิ่มขึ้นอีก
ขณะเดียวกัน มีชาวบ้าน พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยทหาร สังกัดกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 11 รักษาพระองค์ จังหวัดลพบุรี ได้ช่วยกันเสริมคันดินพร้อมกรอกกระสอบทรายนำมาวางเสริมคันดินกันน้ำเป็นระยะทางยาวกว่า 700 เมตร ขนานไปกับคลองโผงเผง เพื่อป้องกันน้ำล้นไหลท่วมบ้านเรือน จำนวน 48 ครัวเรือน ที่อยู่ในแนวกันน้ำ
นางประนอม ภู่จิ๋ว อายุ 60 ปี ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระชัง บริเวณคลองโผงเผง หมู่ 5 ตำบลโผงเผง กล่าวว่า หลังน้ำได้เพิ่มระดับ และไหลแรงมากขึ้น ทำให้ลูกปลาทับทิมที่ปล่อยลงไปในกระชังกว่า 30,000 ตัว ทยอยตายต่อเนื่อง เหลือไม่ถึง 5,000 ตัวแล้ว เนื่องจากกระแสน้ำแรงทำให้ลูกปลาว่ายน้ำไม่ไหวไปติดกระชังแล้วตัวถูกกับกระชังปลาเก็ดล่อนออก ลำตัวเป็นแผล ว่ายน้ำอ่อนแรงลง กินอาหารไม่ได้ ทำให้ตายลงจำนวนมาก ที่สำคัญจำต้องเร่งใช้เชือกผูกรั้งแพปลาไว้เพื่อป้องกันความเสียหายจากกระแสน้ำเชี่ยวที่ไหลแรง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านเทศบาลเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ได้ระดมลูกจ้าง พนักงาน ครู นักเรียนในสังกัดเทศบาล ร่วมกับพ่อค้าประชาชนในเขเทศบาลเมืองกว่า 400 คน กรอกกระสอบทรายนำไปเสริมกำแพงเขื่อนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตเทศบาลเมืองอ่างทอง เพื่อรับมือน้ำที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ริมตลิ่งให้เก็บของไว้ที่สูงพร้อมเฝ้าระวังน้ำติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สำหรับจังหวัดอ่างทอง ขณะนี้มีผู้ประสบภัยน้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าโมก 2 ตำบล 8 หมู่บ้าน 727 ครัวเรือน อำเภอวิเศษชัยชาญ 5 ตำบล 20 หมู่บ้าน 502 ครัวเรือน อำเภอเมืองอ่างทอง 3 ตำบล 6 หมู่บ้าน 76 ครัวเรือน
ด้านพื้นที่การเกษตรเสียหายจากน้ำล้นตลิ่ง และฝนตกชุกลงขังในพื้นที่การเกษตร ได้รับความเสียหาย จำนวน 6 อำเภอ 14 ตำบล เป็นนาข้าว 3617 ไร่ พืชสวน 130 ไร่ รวมพื้นที่การเกษตรที่เสียหาย 3,747 ไร่