กาญจนบุรี - อธิบดีกรมปศุสัตว์ หนุนเกษตรชาวกาญจนบุรีปลูกต้นหม่อน พืชอินทรีย์ สร้างรายได้เสริมพร้อมผลักดันเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะที่ได้รับการคัดเลือกเข้าทำกินตามนโยบายรัฐบาลแปลงนำร่องที่ 14 คำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 ให้เป็นนิคมแพะอินทรีย์ขนาดใหญ่ แห่งแรกของประเทศ
จากกรณีนายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมคณะ เดินทางมาสำรวจพื้นที่ที่ดินแปลงที่ 14 เนื้อที่จำนวน 1,263 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนสาย 323 กาญจนบุรี-ไทรโยค หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ที่ ส.ป.ก.ยึดคืนจากผู้ครอบครองที่ดินมากกว่า 500 ไร่ขึ้นไป ตามคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 ก.ค.2559 เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ดินแปลงดังกล่าว พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือก มีอาชีพลี้ยงแพะเป็นหลัก
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยขณะเดินทางมาสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีร่างกายทนทาน อาหารที่เหมาะสำหรับแพะจะต้องเป็นพืชยืนต้น เช่น กฐิน และต้นหม่อน หากปลูกเฉพาะหญ้าอย่างเดียวก็คงจะไม่ดีนักเนื่องจากพื้นที่เป็นหิน ทำให้เวลาเกษตรกรมาตัดหญ้าก็จะทำให้เครื่องมือในการตัดหญ้าอาจจะไปโดนหินได้รับความเสียหายได้
สำหรับหม่อน เป็นพืชอาหารตัวใหม่ที่มีคุณค่าอาหารทางด้านโปรตีนสูงมากกว่ากฐิน และมีคุณค่าอื่นอีกมากมาย สิ่งสำคัญหากคือ หากหม่อนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมความสวยงามของต้นหม่อน และถ่ายภาพเก็บเอาไว้ดูเล่นได้เป็นอย่างดี
ซึ่งตรงนี้กรมปศุสัตว์ได้วางแผนเอาไว้หมดแล้ว สำหรับเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ จะได้รับมอบแกะรายละ 50 ตัว ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อแปลงที่ดินที่ได้รับการจัดสรรรายละ 5 ไร่ เชื่อว่าเกษตรกรจะมีรายได้เดือนละประมาณ 1-20,000 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับความขยันของเกษตรกรด้วย
ขอเรียนเพิ่มเติมว่า เกษตรกรที่เลี้ยงแพะจะสามารถนำขี้แพะไปขายสร้างรายได้เสริมได้เลยทันที ซึ่งภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถนำใบหม่อนที่ปลูกเอาไว้ และเหลือจากการให้แพะกินไปขายได้เลย
เนื่องจากมีเกษตรกรที่เลี้ยงไหมต้องการใบหม่อนอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีของเกษตรกร และของประเทศ อนาคตพื้นที่บริเวณนี้กรมปศุสัตว์อยากจะให้เกิดเป็นนิคมแพะ เมื่อเกิดเป็นนิคมแพะขนาดใหญ่ เครื่องจักรกลขนาดต่างๆ ก็สามารถนำเข้ามาได้ จะเป็นการลดต้นทุนให้แก่เกษตรกรอีกด้วย ซึ่งตรงนี้สามารถยืนยันได้
ซึ่งนักธุรกิจซื้อขายแพะก็พร้อมที่จะเข้ามาเซ็น MOU เพื่อจองซื้อแพะกับเรา แต่ได้แจ้งไปว่าอย่าเพิ่งให้รอสักระยะหนึ่งก่อน จึงถือว่าเป็นความโชคดีของเกษตรกรเป็นอย่างมาก พื้นที่บริเวณนี้หากเป็นนิคมแพะตามที่วางแผนเอาไว้ จะถือได้ว่าเป็นนิคมแพะแห่งแรกของประเทศ
การเดินหน้าของประเทศต้องเดินเดินหน้าเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ โดยเฉพาะปศุสัตว์ที่จะต้องเข้ามารวมกันทั้งหมด เพราะถ้าหากไม่เข้ามารวมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะตามมา เพราะพื้นที่รอบข้างอาจจะมาโวยวายได้ แต่เมื่อเป็นนิคมขนาดใหญ่แล้วก็จะกลายเป็นเรื่องที่ดี
ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรที่เลี้ยงไก่เนื้อ ปัจจุบันกลายเป็นนิคมขนาดใหญ่ไปแล้ว อีกทั้งไก่เนื้อมีต้นทุนที่ถูกจึงทำให้สู้กับต่างประเทศได้อย่างสบาย ซึ่งอนาคตสัตว์เศรษฐกิจ เช่น โค กระบือ แพะ หรือแกะ จะเป็นรูปแบบนิคมทั้งหมด
แต่การเดินหน้าเข้าสู่รูปแบบนิคม กรมปศุสัตว์จะเน้นให้เกษตรกรรายย่อยมารวมกัน และเมื่อรวมกันเป็นนิคมแพะขนาดใหญ่ได้แล้ว จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่โดยรอบที่มีที่ดินเป็นของตนเอง สามารถปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น กฐิน หรือใบหม่อนเข้ามาขายให้แก่นิคมได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
โดยกรมปศุสัตว์ จะส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกต้นใบหม่อนให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ใบหม่อนมีไว้สำหรับเป็นอาหารของตัวไหม แต่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญได้มีการวิจัยออกมาแล้วว่า ใบหม่อนนั้นมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก จึงมีการปลูกใบหม่อนเพื่อนำไปผลิตเป็นชาใบหม่อน ซึ่งขณะนี้ประชาชนก็เริมนิยมดื่มชาใบหม่อนเป็นจำนวนมาก
ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีโรงงานผลิตชาใบหม่อนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และโรงงานดังกล่าวพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งการเปิดตลาดก็ได้รับความช่วยเหลือจากกรมหม่อนไหม สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ดังนั้น จึงสมควรที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกต้นใบหม่อนเป็นอย่างยิ่ง กอปรกับใบหม่อนเป็นอาหารอินทรีย์ แมลงไม่กิน จึงไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี เพราะฉะนั้น พื้นที่บริเวณนี้จะกลายเป็นนิคมแพะอินทรีย์อีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน นายพรชัย ค้ำชู อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 174/1 หมู่ 3 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ตน ภรรยา และลูกยังไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ซึ่งปัจจุบันยังคงอาศัยอยู่กับพ่อ ที่มีที่ดินทำกินเพียง 1 ไร่เท่านั้น เมื่อทราบว่า ส.ป.ก.ได้ยึดคืนที่ดินจากคนรวยมาจัดสรรให้แก่คนจน ตนจึงรีบไปลงทะเบียนจองที่ดินเอาไว้ ซึ่งตน และครอบครับต้องขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายดังกล่าวออกมา
โดยหากตนได้รับการจัดสรรที่ดินก็จะถือได้ว่าเป็นที่ดินผืนแรกที่ตนได้มา และตนจะไม่มีวันขายที่ดินที่ได้มาโดยไม่ต้องซื้ออย่างแน่นอน ตน และครอบครัวจะได้เริ่มเรียนรู้วิธีการเลี้ยงแพะ ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิตเชื่อว่าจะสามารถเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
ด้าน นายวินัย ศรีเกษม และนายไพโรจน์ ทองเปรม เกษตรกรในพื้นที่ผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงแพะ ร่วมกันเปิดเผยว่า พวกตนมีอาชีพเลี้ยงมามานานกว่า 7 ปี แต่เป็นคนที่ยังไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ซึ่งการที่ทางกรมปศุสัตว์ ได้คัดเลือกให้พวกตนเข้ามาอยู่ในแปลงสาธิตการเลี้ยงแพะ พวกตนก็รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่จะได้มีที่ดินเป็นของตนเอง และความรู้ที่มีอยู่พวกตนจะถ่ายทอดให้แก่เพื่อนเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามามีอาชีพเกษตรกรด้านการเลี้ยงแพะให้ดีที่สุด การได้มาของที่ดิน พวกตนต้องขอขอบคุณ พล.อ.ฉัตร สาริกัลป์ยะ รมว.เกษตรฯ และโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ทำให้คนยากจนอย่างพวกตนได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และจะรักษา และหวงแหนที่ดินเอาไว้จนชั่วลูกชั่วหลานให้มีที่ดินทำกินต่อไป